"น้ำยาล้างห้องน้ำ" ฉีดพ่นนาข้าว อันตรายหรือไม่ ?

สังคม
6 ก.ค. 65
10:22
825
Logo Thai PBS
"น้ำยาล้างห้องน้ำ" ฉีดพ่นนาข้าว อันตรายหรือไม่ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการข้าว เตือนชาวนาอย่าใช้ “น้ำยาล้างห้องน้ำ” ฉีดพ่นต้นข้าว ไม่ช่วยป้องกันโรคและกำจัดศัตรูข้าว ส่งผลให้ใบข้าวไหม้ - แห้งตาย

วันนี้ (6 ก.ค.2565) จากกรณีเกษตรกรโพสต์ภาพ และข้อความในการลดต้นทุนปลูกข้าว โดยนำน้ำยาล้างห้องน้ำมาใช้แทนสารกำจัดศัตรูพืช เรื่องดังกล่าวเพจดัง "หมอแล็บแพนด้า" ของ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง นำมาโพสต์ต่อพร้อมระบุข้อความ "วงการทำนาต้องสั่นสะเทือน ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ ผสมฉีดข้าว"

กรณีดังกล่าว นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ออกมาเตือนเกษตรกรว่า ไม่ควรนำน้ำยาล้างห้องน้ำหรือผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อโรคอเนกประสงค์มาใช้เป็นส่วนผสมในการฉีดพ่น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่ได้มีคุณสมบัติในการเป็นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูข้าว และมีความเข้มข้นของสารเคมีสูง หากนำมาฉีดพ่นอาจทำให้ใบข้าวและต้นข้าวเกิดความเป็นพิษจากสารเคมีและส่งผลให้ใบข้าวไหม้และแห้งตายได้

"น้ำยาล้างห้องน้ำ" ฉีดพ่นนาข้าว อันตรายหรือไม่ ?

ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า "ไม่น่าเอาน้ำยาล้างห้องน้ำ ไปฉีดพ่นนาข้าว" จากที่เห็นโพสต์ภาพในเพจของ หมอแล็บฯ งงว่ามีการทำแบบนี้จริงหรือไม่ และทำไปทำไม 

พร้อมอธิบายเรื่ององค์ประกอบของน้ำยาล้างห้องน้ำนั้นจะพบว่ามีหลายสูตรมาก ไม่ว่าจะเป็น

- สูตรกรดเกลือ (Hydrochloric acid ) และสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ชนิดต่างๆ เช่น Ethoxylate Alcohol เป็นต้น

- สูตรกรดเกลือ, กรดมะนาว (Citric acid) และสารลดแรงตึงผิว

- สูตรกรดมะนาว และ สารลดแรงตึงผิว

- สูตรใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic Solvent) กับสารลดแรงตึงผิว

- สูตรสารลดแรงตึงผิว หลายชนิด ผสมกัน

- สูตรโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium hypochlorite) และสารลดแรงตึงผิว

- สูตรสารลดแรงตึงผิว ผสมกับ Trichloroisocyanuric acid (TCCA) และ ผงหินปูน (Calcium carbonate )

ทั้งนี้ หากดูตามรายชื่อของสารเคมี ไม่น่าจะมีตัวไหนที่จะมีประสิทธิภาพดี ในการช่วยเพิ่มผลผลิต หรือช่วยฆ่าเชื้อโรคเชื้อราได้ประสิทธิภาพดีด้วย เมื่อเทียบกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เหมาะสมโดยตรง ไม่ว่าจะเริ่มเพิ่มผลผลิตด้วยปุ๋ยด้วยฮอร์โมน หรือแก้ไขป้องกันเรื่องโรคพืชด้วยยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาฆ่าเชื้อรา ยากำจัดศัตรูพืช ฯลฯ

ถึงน้ำยาล้างห้องน้ำจะเคลมบนขวดว่าฆ่าเชื้อโรคได้ 99.9% แต่ก็ต้องมีความเข้มข้นมากเพียงพอ สำหรับพื้นที่แคบๆ อย่างห้องน้ำ 

รศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า ที่พอจะมองว่าอาจจะช่วยได้ทางอ้อม คือการที่น้ำยาล้างห้องน้ำมีการผสมสารลดแรงตึงผิว (surfactants) ลงไปด้วย อันนี้ก็พอจะกลายเป็นสารเสริมประสิทธิภาพ (Adjuvants) ช่วยให้สารเคมีการเกษตรอื่นๆ ที่ผสมฉีดพ่นไปพร้อมกันนั้น จับกับใบพืชได้ดีขึ้น โดยไปปรับสภาพทางกายภาพของตัวสารออกฤทธิ์ ให้ละลายหรือแผ่กระจายในน้ำ มีผลให้สารเคมีเคลื่อนที่เข้าสู่ปากใบและเนื้อเยื่อหรือเซลพืชได้ง่าย โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืชหรือสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

ในทางกลับกันจะเห็นได้ว่าในน้ำยาล้างห้องน้ำนั้น อาจจะมีส่วนผสมหลายตัวที่เป็นอันตรายต่อใบและต้นพืชได้ โดยเฉพาะพวกกรด และพวกด่าง ที่ใช้กำจัดคราบสกปรกจึงไม่น่าจะนำมาฉีดพ่นพืชที่ปลูกไว้ อย่างที่เชื่อตามกัน

สำหรับหลายคนที่กังวลเรื่องสารเคมีตกค้าง อันตรายมาถึงผู้บริโภคนั้น เข้าใจว่าน่าจะไม่ต้องกังวลนัก เพราะสารส่วนใหญ่ที่เป็นส่วนผสมของน้ำยาล้างห้องน้ำสามารถสลายได้ในธรรมชาติ

ทำไม่ ชาวนานำน้ำยาล้างห้องน้ำมาฉีด 

ขณะที่ เพจ ควายดำทำเกษตร อธิบายเพิ่มเติมจากกรณีดังกล่าว ว่า "ชาวนาบางคน บางกลุ่ม ได้นำน้ำยาล้างห้องน้ำมาฉีดข้าว โดยหลักๆ เลยเพื่อรักษา โรคแบคทีเรีย ใบส้ม โรคที่มาจากความชื้น

เชื่อว่าชาวนาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในน้ำยาล้างห้องน้ำนั้นมีส่วนประกอบของสารอะไร เหมือนที่หนอนข้าวโพดระบาดก็มีชาวไร่ข้าวโพด นำผงซักฟอกไปหยอดตามยอดข้าวโพด

สิ่งสำคัญคือ น้ำยาล้างห้องน้ำไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในทางการเกษตร ต่างจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรจะมีค่าต่าง ๆ ที่วิเคราะห์มาแล้ว เช่น ค่าการสลายตัว ค่าการตกค้างในผลผลิต ซึ่งการใช้จะมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคมากกว่า 

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง