เตือนนักดื่มประเมินตัวเองก่อนงดเหล้าเข้าพรรษา

ภูมิภาค
12 ก.ค. 65
17:36
214
Logo Thai PBS
เตือนนักดื่มประเมินตัวเองก่อนงดเหล้าเข้าพรรษา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จิตแพทย์ รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ เตือนประชาชนประเมินตัวเองก่อนงดเหล้าเข้าพรรษา ย้ำนักดื่มไม่ควรใช้กัญชา เพราะจะทำให้เกิดอาการทางจิตเร็ว และ รุนแรงขึ้น

ช่วงเข้าพรรษา เป็นจุดเริ่มต้นของประชาชนจำนวนหนึ่งที่ต้องการ ลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะติดสุรา การหยุดดื่มแบบกะทันหันอาจเกิดภาวะถอนสุรา ซึ่งเป็นอันตรายกับร่างกายได้

คลินิกเลิกสุรา เป็นหนึ่งบริการด้านสุขภาพของโรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ทั้งผู้ป่วยใน และ ผู้ป่วยนอก เฉลี่ยปีละประมาณ 1,000- 1,200 คน และ มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยชาย วัยทำงาน ช่วงอายุ 21 - 60 ปี

 



แม้ในช่วงการระบาดของ covid 19 จำนวนผู้ป่วยจะลดลง แต่หลังผ่อนคลายมาตรการ จำนวนคนไข้กลับเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึง มิถุนายน มีคนไข้เข้ารับการรักษาแบบนอนโรงพยาบาล ประมาณ 300-400 คน

 

แพทย์หญิงอทิตยาพร แก้ววรรณ จิตแพทย์โรงพยาบาลสวนปรุง

แพทย์หญิงอทิตยาพร แก้ววรรณ จิตแพทย์โรงพยาบาลสวนปรุง มีข้อแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไปในการงดเหล้าเข้าพรรษา ควรได้รับการประเมินเบื้องต้นว่ามีภาวะติดสุราหรือไม่ ผ่าน 4 คำถามง่ายๆ

1 เคยรู้สึกไหมว่า ควรลดแล้ว ถือเป็นคำถามให้ตัวเองตอบอย่างที่ไม่เข้าข้างตัวเอง

2 เคยรู้สึกรำคาญเวลาที่คนอื่นพูดถึงการดื่ม หรือ วิพากษ์วิจารณ์เราเรื่องเกี่ยวกับการดื่มต่างๆ

3 เคยรู้สึกไม่ดี หรือ รู้สึกผิดหรือไม่ เมื่อต้องดื่มแต่ละครั้ง และ ข้อที่ 4 เคยดื่มสุรา ในทันทีที่ตื่นนอนหรือไม่

หากมีคำตอบว่า เคย อย่างน้อย 2 ข้อ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าตัวเองน่าจะมีภาวะติดสุรา ควรเข้ารับคำปรึกษาโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือ โทรศัพท์ปรึกษาเบอร์สายด่วนสุขภาพจิต 1323

 



สำหรับสาเหตุว่าทำไมต้องวางแผน ก่อน ลด ละ เลิก สุรา เพราะในผู้มีภาวะติดสุรา หรือ มีการใช้สุราค่อนข้างมาก เวลาหยุดดื่มแบบกะทันหันจะมีอาการที่เรียกว่าภาวะถอนสุรา ซึ่งมีทั้งแบบไม่รุนแรงสำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดสุรามาก

แต่อีกกลุ่ม คือ มีอาการถอนรุนแรง ซึ่งจะเกิดภาวะที่ค่อนข้างอันตรายกับร่างกาย เริ่มตั้งแต่มีอาการเพ้อ สับสน ชัก มีอาการทางจิต หูแว่ว เกิดภาพหลอน ไปจนถึงขั้นอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

 



ผู้ป่วยที่มีอาการถอนรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะช่วงเข้าพรรษา แต่เข้ามารับการรักษาต่อเนื่อง และ มีจำนวนค่อนข้างมากในแต่ละเดือน โดยเฉพาะอาการชัก อาการเพ้อ สับสน คลุ้มคลั่ง

อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงอทิตยาพร ยังให้กำลังใจในกลุ่มประชาชนที่อยาก ลด ละ เลิก และ ประเมินตัวเองแล้วยังไม่เข้าข่ายติดสุรา หรือ ไม่ได้ดื่มทุกวัน ก็แนะนำให้ทดลอง ลด ละ เลิก แต่ต้องสังเกตตนเองหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการมือสั่น กระสับกระส่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ ก็ขอให้มาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

และ เมื่อเสร็จสิ้นช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน สำหรับผู้ที่งดดื่มได้แล้ว สิ่งที่ดีที่สุด คือ ไม่กลับไปดื่ม แต่หากจะต้องดื่มสังสรรค์ หรือ ดื่มเพื่อเข้าสังคม ก็ควรประเมินตัวเองก่อน หากเป็นกลุ่มที่เคยมีปัญหาเรื่องการถอนสุรา หรือ มีภาวะติดสุรา ไม่แนะนำให้กลับไปดื่มเลย เพราะมีความเสี่ยงมากที่จะกลับไปมีภาวะติดสุราซ้ำ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องระวังการกลับไปดื่มหนัก เพราะอาจประสบปัญหาในการควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วกลับไปสู่วงจรเดิม

 



ส่วนการเปิดเสรีกัญชา จิตแพทย์โรงพยาบาลสวนปรุงระบุว่า ถือเป็นประเด็นที่จิตแพทย์หลายคนทั้งในประเทศไทย และ ทั่วโลกมีความกังวลเพราะเมื่อมีที่ใดเปิดเสรีกัญชา ก็จะมีความเชื่อว่าการใช้กัญชาดีกว่า หรือ ใช้กัญชามาแทนเพื่อช่วยให้ไม่ต้องติดเหล้า

แต่ผลจากการศึกษา กลับพบว่าให้ผลตรงข้าม และ จากประสบการณ์ที่เคยดูแลคนไข้ พบว่ากลุ่มที่มีการใช้กัญชาร่วมด้วย มักจะมีอาการทางจิตเร็วขึ้น เช่น อาจจะมีซึมเศร้าได้เร็วขึ้นกว่าแค่ดื่ม หรือ ที่พบมากคืออาการหูแว่ว ประสาทหลอน เพราะด้วยฤทธิ์ของกัญชาอย่างเดียวก็ทำให้เกิดอาการได้อยู่แล้ว หากเสริมด้วยฤทธิ์จากสุราอีก ก็ยิ่งทำให้เกิดอาการได้ง่าย และ รุนแรงขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง