ตร.ปฏิเสธไม่ได้ใช้ สปายแวร์ “เพกาซัส” สอดแนมกลุ่มเห็นต่างรัฐบาล

การเมือง
19 ก.ค. 65
11:04
411
Logo Thai PBS
ตร.ปฏิเสธไม่ได้ใช้ สปายแวร์ “เพกาซัส” สอดแนมกลุ่มเห็นต่างรัฐบาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตร.ปฏิเสธไม่ได้ใช้สปายแวร์ หลังถูก iLaw แฉ พบแอบฝังในโทรศัพท์มือถือของกลุ่มเคลื่อนไหวเห็นต่างทางการเมืองในประเทศไทยหลายคน ขณะที่ “แอมเนสตี้” เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

วันนี้ (19 ก.ค.2565) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ประเทศไทยต้องสอบสวนอย่างรอบด้านต่อการใช้สปายแวร์เพกาซัส ที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว เนื่องจากพบว่ามีสปายแวร์รูปแบบนี้ ถูกติดตั้งอยู่ในโทรศัพท์ของนักกิจกรรมหลายสิบคน หลังจากมีการรายงานชิ้นใหม่พบว่า บุคคล 30 คน ตกเป็นเป้าหมาย หรือได้รับผลกระทบจากซอฟต์แวร์ที่อันตรายนี้ ถือว่าเป็นการยืนยันครั้งแรกว่า มีการใช้สปายแวร์นี้ในประเทศ

iLAW แฉใช้สปายแวร์มาตั้งแต่ปี 2563

จากการวิเคราะห์ในเชิงเทคนิค รายงานที่จัดทำร่วมกันระหว่างโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) Digital Reach และ Citizen Lab ได้พบการใช้สปายแวร์นี้ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2564 และส่งผลกระทบต่อแกนนำคนสำคัญ ของการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งนักวิชาการ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างเปิดเผย

การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากบริษัทแอปเปิล ได้ส่งข้อความเตือนนักกิจกรรมชาวไทยจำนวนมากว่า พวกเขาตกเป็นเป้าหมายของสปายแวร์ เมื่อเดือน พ.ย.2564 โดยแผนก Security Lab ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สามารถยืนยันอย่างเป็นอิสระในรายงานนี้ได้ว่า จากการวิเคราะห์ทางนิติเวช มีการพบสปายแวร์นี้ใน 5 กรณี

เอเทียน เมเนียร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ปัจจุบันเราได้เพิ่มประเทศไทยเข้าไปในรายชื่อประเทศที่มีการสอดแนมประชาชน ซึ่งจำนวนรายชื่อของประเทศต่าง ๆ ยังคงมีการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การที่ประชาชนออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโดยสงบ แสดงความเห็น และวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล อาจส่งผลให้เกิดการสอดแนมที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพด้านการแสดงออก ความเป็นส่วนตัว และความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของบุคคล

เราควรระลึกด้วยว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อค้นพบเบื้องต้น แต่ขอบเขตความพยายามสอดแนมข้อมูลอาจกว้างขวางและส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่านี้

พบในมือถือแกนนำชุมนุมเกือบทุกคน

ตามข้อมูลในรายงาน มีการตรวจพบสปายแวร์เพกาซัสในโทรศัพท์ของแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงในไทย รวมไปถึงอานนท์ นำภา เบนจา อะปัญ และ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งตกเป็นเป้าหมายการดำเนินคดีอาญา ที่ไม่เหมาะสมในหลายข้อหา อันเป็นผลมาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

แทนที่จะรับฟังและร่วมมือกับผู้ชุมนุมประท้วง นักวิชาการ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ พวกเขากลับใช้การสอดแนมที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวเพื่อคุกคาม ข่มขู่ โจมตี และเพื่อทำลายขวัญกำลังใจ รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศที่น่าหวาดกลัวในสังคม ข้อค้นพบใหม่ครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่น่าตกใจว่า ทางการสามารถใช้วิธีการอันมิชอบมากเพียงใด เพื่อควบคุมการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ

บริษัท NSO Group จากประเทศอิสราเอล บริษัทที่อยู่เบื้องหลังเพกาซัส อ้างว่า พวกเขาขายสินค้าให้กับหน่วยข่าวกรอง และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลเท่านั้น

รัฐต่าง ๆ มีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่เพียงต้องเคารพสิทธิมนุษยชน หากยังต้องคุ้มครองให้ปลอดพ้นจากการปฏิบัติมิชอบของบุคคลที่สาม รวมทั้งบริษัทเอกชน

"แอมเนสตี้" จี้หยุดใช้ละเมิดสิทธิ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงเรียกร้องให้มีข้อตกลงระดับโลกเพื่อยุติการขาย ส่งมอบ และใช้สปายแวร์ จนกว่าจะมีการกำหนดมาตรการควบคุมและคุ้มครองสิทธิ เพื่อกำกับดูแลการใช้งานของสปายแวร์อย่างเหมาะสม

ทางการไทยต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ อย่างทันที รอบด้าน และมีประสิทธิภาพ ต่อการใช้สปายแวร์เพกาซัส และใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมือง

มาตรการเช่นนี้ต้องครอบคลุมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่สนับสนุนการสอดแนมของรัฐ รวมทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และพ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว และสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

ตำรวจอ้างมีอำนาจดูแลความเรียบร้อยตามกฎหมาย

ด้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาชี้แจงจากกรณีดังกล่าว โดย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และภารกิจความมั่นคงของราชอาณาจักรรวมถึงการปฏิบัติการอื่นใด ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ปฏิเสธไม่ได้ใช้ “สปายแวร์”

โดยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้ให้กรอบในการดำเนินการไว้ และในส่วนของภารกิจที่เกี่ยวกับความมั่นคงไม่ได้มีการใช้สปายแวร์ เพื่อสอดแนมหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใด แต่อย่างใด

ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง จะดำเนินการพร้อมประสานงานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ทั้งหน่วยงานภายในและหน่วยงานต่างประเทศมาโดยตลอด

ยืนยันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้มีการใช้สปายแวร์ เพื่อไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใด ตามที่มีการนำไปเสนอข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ และในการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายที่ได้ให้อำนาจหน้าที่เอาไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง