เฝ้าระวัง "ไวรัสมาร์เบิร์ก" พบผู้ติดเชื้อในแอฟริกาตะวันตก

ต่างประเทศ
19 ก.ค. 65
18:33
504
Logo Thai PBS
เฝ้าระวัง "ไวรัสมาร์เบิร์ก" พบผู้ติดเชื้อในแอฟริกาตะวันตก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การพบผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก 2 คนแรกในกานา ทำให้องค์การอนามัยโลกสั่งให้ประเทศใกล้เคียงยกระดับเฝ้าระวัง โดยมาร์เบิร์กเป็นเชื้อไวรัสตระกูลเดียวกับอีโบลา มีอัตราการแพร่ระบาดเร็วและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

การพบผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก ในกานา ถือเป็นการกลับมาระบาดของไวรัสชนิดนี้ในแอฟริกาตะวันตก โดยเมื่อปี 2564 พบผู้เสียชีวิตจากไวรัสมาร์เบิร์ก 1 คนในกินี แม้ว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นวงกว้างก็ตาม

เจ้าหน้าที่นำตัวอย่างสารคัดหลั่งของผู้เสียชีวิต 2 คน ที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กมาตรวจเพิ่มเติม โดยผู้เสียชีวิตคนแรกเป็นชาย อายุ 26 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. และเสียชีวิตในวันถัดมา

ส่วนผู้เสียชีวิตคนที่ 2 เป็นชาย อายุ 51 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.และเสียชีวิตในวันเดียวกัน ขณะที่กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิด 98 คน ทั้งคนในชุมชนและบุคลากรทางการแพทย์ ถูกกักตัวเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ชี้ว่า ค้างคาวผลไม้อียิปต์ ลิงเขียวแอฟริกันและหมู เป็นสัตว์พาหะแพร่เชื้อมาร์เบิร์กมาสู่คน

สำหรับการแพร่เชื้อจากคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อและเครื่องนอนที่ปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งสารคัดหลั่งสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีกนานหลายเดือน แม้ว่าผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กจะฟื้นตัวจากอาการป่วยแล้วก็ตาม

 

ไวรัสมาร์เบิร์ก มีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-21 วัน จากนั้นผู้ติดเชื้อจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอกจากนี้อาจมีผื่นขึ้นบนผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง และมีเลือดออกมาจากอวัยวะต่างๆ จนช็อกได้

ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิต ตั้งแต่ร้อยละ 50-88 ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาและสายพันธุ์ย่อยของเชื้อไวรัสชนิดนี้ การดื่มน้ำให้เพียงพอและการดูแลใกล้ชิดจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต เพราะการติดเชื้อมาร์เบิร์กยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

สำหรับไวรัสมาร์เบิร์กพบครั้งแรกในเมืองมาร์เบิร์ก เมืองแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนี และกรุงเบลเกรดของเซอร์เบีย เมื่อปี 1967 หรือเมื่อ 55 ปีที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อ 31 คนและผู้เสียชีวิตอีก 7 คน

การติดเชื้อมีจุดกำเนิดมาจากลิงเขียวแอฟริกาที่ถูกส่งจากยูกันดา เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโปลิโอ ขณะที่การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้น เมื่อปี 2004-2005 ในแองโกลา หลังจากพบผู้ติดเชื้อถึง 374 คนและเสียชีวิต 329 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง