"ยุทธพงศ์" อภิปรายฯย้ำปัญหากองทัพจัดซื้อ "เรือดำน้ำ-UAV-เครื่องบินรบ"

การเมือง
22 ก.ค. 65
11:13
700
Logo Thai PBS
"ยุทธพงศ์" อภิปรายฯย้ำปัญหากองทัพจัดซื้อ "เรือดำน้ำ-UAV-เครื่องบินรบ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ยุทธพงศ์" อภิปรายไม่ไว้วางใจปมจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ย้ำ 3 เรื่อง จัดซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ จัดซื้อโดรน UAVไม่มีอาวุธ และ จัดซื้อเครื่องบินรบรุ่นใหม่ไม่เหมาะสมในภาวะที่ประชาชนเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ หนี้สาธารณะสูง

วันนี้ (22 ก.ค.2565) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะ รมว.กลาโหม ถึงประเด็นการใช้งบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทธโปกรณ์ที่ไม่มีความจำเป็นต่อภารกิจของประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจมีปัญหา กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ และ อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ไร้อาวุธ และ เครื่องบินรบทางยุทธศาสตร์ F-35 A โดยไม่มีอาวุธ

 

ชี้รัฐบาลซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ แถม 1 ลำ ไม่จริง

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า กรณีที่กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำจีนโดยระบุว่าเป็นการ ซื้อ 2 ลำแถม 1 ลำนั้นไม่เป็นความจริง พร้อมแสดงหลักฐานสัญญาการซื้อจากกองทัพเรือว่า การจัดซื้อดังกล่าวเป็นการซื้อ 3 ลำ ราคา 6,548 ล้านหยวน ราว 36,000 ล้านบาท หรือลำละ 12,000 ล้านบาท ซึ่งผิดจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ซื้อ 2 ลำ แถม 1 ลำ 

 

ทั้งนี้ เรือลำที่ 1 มูลค่า 12,424 ล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2560 -2566 แต่ยังไม่มีเครื่องยนต์ โดยมีคำชี้แจงจากทูตทหารเยอรมันประจำประเทศไทยว่า ทางการจีนไม่ได้ติดต่อขอซื้อเครื่องยนต์จากเยอรมนี ก่อนที่จะลงนามในสัญญาขายเรือดำน้ำให้กับกองทัพเรือไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจัดซื้อไม่มีความรอบคอบ โดยวันที่ 9 มิ.ย.ตัวแทนฝ่ายจีนแก้ปัญหาโดยเสนอใช้เครื่องยนต์จีนแทน แต่ไทยยืนยันจะใช้เครื่องยนต๋จากเยอรมนี และมีการขีดเส้นตายในวันที่ 9 ส.ค.2565 ขณะที่เรือดำน้ำลำที่ 2 ยังไม่ได้ซื้อ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยคัดค้าน

"พล.อ.ประยุทธ์" ไม่ยอมยกเลิกสัญญาซื้อเรือดำน้ำ

นายยุทธพงศ์ ยังเปิดสัญญาการซื้อเรือดำน้ำเพิ่มเติมโดยระบุว่า ในสัญญาข้อ 5.2 ระบุว่า ถ้าฝ่ายจีนไม่สามารถสร้างเรือดำน้ำให้เสร็จสมบูรณ์ตามสัญญานี้ได้...ทางการไทยมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม ไม่เข้าไปแก้ปัญหาในการยกเลิกสัญญา

 

ทั้งนี้ โครงการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย มูลค่า 44,222 ล้านบาท นั้นมีราคาสูง ซึ่งนอกเหนือจากเรือดำน้ำยังมีโครงการอื่นๆ ด้วย เช่น โครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ (LPD) , โครงการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ และอาคารสนับสนุนท่อเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งมีสัญญาเดินไปแล้วโดยเป็นงบผูกพัน เป็นต้น

 

นายยุทธพงศ์ กล่าววว่า งบประมาณในโครงการดังกล่าว รวมกว่า 44,222 ล้านบาท โดยเรือ LPD ราคา 6,000 ล้าน ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว รวมจ่ายไปแล้วจำนวน 21,722 ล้านบาท รวมเรือดำน้ำลำแรกที่กำลังก่อสร้างและยังไม่มีเครื่องยนต์ โดยลำที่ 2 และลำที่ 3 ยังไม่ได้ซื้อ

พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย มูลค่า 44,222 ล้านบาท และ เรือดำน้ำลำแรก 12,500 ล้านบาทไม่มีเครื่องยนต์ และโครงการอื่น ๆ ที่จ่ายไปแล้ว

จัดซื้อ UAV ไร้อาวุธ 

นายยุทธพงศ์ ยังอภิปรายถึงกรณีที่กองทัพเรือยังจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ (UAV) จำนวน 3 ลำ งบปี 65 วงเงิน 4,100 ล้านบาท 

ทั้งนี้ กระบวนการจัดซื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการเสนอราคาเข้ามาจำนวน 5 บ. บ.ที่ 1 บ.เอลบิท ซิสเต็ม ของประเทศอิสราเอล เสนอ UAV จำนวน 7 ลำ พร้อมอุปกรณ์อื่น ๆ ราคา 4,000 ล้านบาท บ.ที่ 2 บ. ไอเอไอ จากประเทศอิสราเอล เสนอ UAV 3 ลำ ราคา 2,900 ล้านบาท

 

บ.3 บ.ทีเอไอ จากประเทศตุรกี เสนอ UAV จำนวน 3 ลำ ราคา 3,900 ล้านบาท บ.ที่ 4 บ.คาร์ติก จากประเทศจีน เสนอ UAV จำนวน 3 ลำ ราคา 4,100 ล้านบาท และ บ.ที่ 5 บ.เจเนอรัล อโตมิก จากสหรัฐฯเสนอ UAV ซึ่งไม่ได้เปิดซองราคาเนื่องจากผิดเงื่อนไข

 

นายยุทธพงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า มีเพียง บ.เอลบิท ซิสเต็ม บ.เดียวที่เสนอ 7 ลำ แล้วชนะการประมูล แต่ บ.อื่นเสนอUAV จำนวน 3 ลำ แสดงให้เห็นว่า TOR มีปัญหา เพราะเสนอกันคลาดเคลื่อนอย่างมากระหว่าง 3 ลำ กับ 7 ลำ

ต่อมากองทัพเรือจัดซื้อ UAV (Hermes 900) ของ บ.เอลบิท จากประเทศอิสราเอล ซึ่งไม่มีอาวุธ แสดงให้เห็นว่า กองทัพเรือเพียงต้องการใช้งบประมาณไมได้คำนึงถึงประโยชน์และความจำเป็น

 

ขณะที่ประสิทธิภาพ ของ UAV รุ่นนี้ พบว่า เกิดได้เคยเกิดอุบัติเหตุ เช่น เมื่อวันที่ 11 พ.ค.64 ตกที่สวิตเซอร์แลนด์ และ วันที่ 28 พ.ค.2565 ตกที่ประเทศฟิลิปปินส์ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเข้าไปตรวจสอบการจัดซื้อ UAV ถึงความคุ้มค่าและความโปร่งใสในการจัดซื้่อจัดจ้าง 

จัดซื้อเครื่องบินรบไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ

นายยุทธพงศ์ ยังกล่าวถึง การจัดซื้อเครื่องบินรบทางยุทธศาสตร์ F-35 A (5th Generation) ซึ่งแม้ว่าจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมคือ 1.ล่องหนหายตัวได้ 2.บินด้วยท่วงท่าพิสดาร 3.มีกล้องรอบตัวมองเห็นรอบด้าน 4.บินเร็วเหนือเสียงนานมาก 5.ควบคุม UAV ได้

 

จึงตั้งคำถามว่า การจัดซื้อดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ประเทศมีหนี้สาธารณะสูงจนต้องขยายเพดานหนี้ ซึ่งขณะนี้หนี้สาธารณะรวม 10.12 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61 ของ GDP จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงขยายเพดานหนี้จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 แทนที่จะไปช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจของประชาชน

งบประมาณปี 2566 รวมวงเงิน 3,185,000 ล้านบาท โดยรายได้สุุทธิ 2,490,000 ล้านบาท และกู้ชดเชย 695,000 ล้าน ซึ่งเงินซื้อเครื่องบินก็มาจากเงินกู้ชดเชยนี่แหละครับ

ทั้งนี้ ราคาเครื่องบินลำดังกล่าวอยู่ที่ลำละ 2,900 ล้านบาท (เครื่องเปล่า) หากรวมระบบอาวุธจะอยู่ที่ราคาลำละ 4,100 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบินนั้นมีค่าใช้จ่าย 1.30 ล้านบาท/ ชม. รวมถึงปัญหาจากกรณีค่าเงินบาทในช่วงที่ซื้อ จาก 32-36.7 ปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้การซื้อเครื่องบินมีราคาที่สูงขึ้น 

สภาคองเกรส สหรัฐฯใช้เวลาอนุมัติจัดซื้อ 20 เดือน 

นายยุทธพงศ์ ยังกล่าวว่า การอนุมัติขอซื้อเครื่องบินรบ F-35 A ขึ้นอยู่กับสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ซึ่งต้องใช้เวลาอนุมัติอย่างน้อย 20 เดือน โดย ครม.ตั้งงบประมาณ 13,800 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องบินรบ 4 ลำ ซึ่งการอนุมัติขายเครื่องบินขึ้นอยู่กับ F-35 A ขึ้นอยู่กับสภาคองเกรส สหรัฐ ซึ่งมีรายงานข่าวจากสื่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีความแน่น่อนในการจัดซื้อ

รวมถึงในงบประมาณปี 2566 กองทัพอากาศขอจัดซื้อเครื่องบิน จำนวน 2 ลำ มูลค่า 7,400 ล้านบาท และไม่มีอาวุธ

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า กองทัพอากาศไม่มีความสามารถในการบริหารงบผูกพันตั้งแต่ปี 2564 โดยมียอดคงค้าง 1,283 ล้านบาท โดยพบว่ายังมี 5 โครงการที่ยังจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ เช่น โครงการพัฒนาการปฏิบัติการในห้วงอวกาศ 1,400 ล้านบาท เริ่มปี 64 ปัจจุบันยังจัดซื้อจัดจ้างไมได้ เป็นต้น

แสดงให้เห็นว่าเรื่องง่าย ๆ กองทัพอากาศยังทำไม่ได้ ยังจัดซื้อจัดจ้างไมได้ แล้วจะไปซื้อเครื่องบินขับไล่เชิงยุทธศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีหลายขั้นตอนและต้องผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสได้หรือไม่ แล้วจะรีบตั้งงบประมาณไปไหน

นายยุทธพงศ์ ยังกล่าวว่า หากกองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวจะไม่มีงบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นในระยะเวลา 10 ปี โดยงบผูกพันของกองทัพอากาศมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของงบประมาณในแต่ละปี ที่ได้รับจัดสรรปีละ 37,000 ล้านบาท ซึ่งกองทัพอากาศยังต้องจัดหาเรดาร์ และอาวุธสำหรับติดตั้งด้วย ดังนั้นจะต้องตั้งงบประมาณให้ครบ 1 ฝูงบิน จำนวน 8 ลำ ใช้เวลา 10 ปี (โดยไม่มีอาวุธ)

 

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ควรซื้อเครื่องบินรบทางยุทธศาสตร์ เพราะประเทศไทยจะเป็นหนี้และต้องกู้เงินในการซื้อ ราคาเครื่องบินไม่ติดอาวุธ ลำละ 2,900 ล้านบาท มีราคาแพงไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจขั้นตอนการซื้อใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 20 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสั่งให้ ทอ.ถอนเรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน F-35 A ออกจาก พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 เพื่อจะได้ประหยัดงบประมาณและนำเงินไปช่วยเหลือประชาชนที่กำลังอดยากหิวโหยในขณะนี้

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง