เตือนเล่นฟิลเตอร์ "ผีหลอก" กระทบจิตใจเด็ก เสี่ยง "ซึมเศร้า - กลัวที่แคบ-PTSD "

สังคม
16 ส.ค. 65
12:40
1,002
Logo Thai PBS
เตือนเล่นฟิลเตอร์ "ผีหลอก" กระทบจิตใจเด็ก เสี่ยง "ซึมเศร้า - กลัวที่แคบ-PTSD "
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โฆษกกรมสุขภาพจิต เตือนใช้ฟิลเตอร์ "ผีหลอกเด็ก" สร้างปมในจิตใจทำเด็กเครียดรุนแรง เสี่ยงป่วยซึมเศร้า PTSD โตขึ้นอาจเป็นผู้ใหญ่ที่มองโลกในแง่ลบ ขอใช้แอปฯอย่างสร้างสรรค์

วันนี้ (16 ส.ค.2565) นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ปกครองเล่นฟิลเตอร์ "ผีหลอกเด็ก" ในแอปพลิเคชัน Tiktok พร้อมนำคลิปภาพมาเผยแพร่โดย คลิปดังกล่าวจะเป็นลักษณะของพ่อแม่ ผู้ปกครองเปิดหน้าจอโทรศัพท์ให้เด็กดู จากนั้นจะใช้ฟิลเตอร์รูปผีปรากฏตัวขึ้นภายในห้อง จากนั้นพ่อแม่จะวิ่งหนีออกจากห้องพร้อมกับล็อกห้องโดยทิ้งเด็กไว้ภายในห้องเพียงลำพัง

จากนั้นเด็กจะตกใจ ร้องไห้ พร้อมกับร้องขอความช่วยเหลือ และเมื่อวิ่งหนีก็จะไม่สามารถออกจากห้องได้ เนื่องจากห้องถูกล็อกและต้องอยู่ภายในห้องเผชิญความกลัวเพียงลำพัง

นพ.วรตม์ กล่าวว่า โดยปกติเด็กจะกลัวความมืด ที่แคบ สัตว์ร้าย กลัวผี หรือ สัตว์ประหลาด ซึ่งการขู่ให้กลัวนี้จะสร้างผลกระทบต่อเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือ คนใกล้ชิด ขู่ หรือ ปล่อยให้เด็กต้องเผชิญความหวาดกลัวเพียงลำพัง โดยที่ไม่ได้ปลอบใจ หรือช่วยประคับประคองจิตใจ จะนำเด็กไปสู่ภาวะ The fight or flight คือ การสู้ หรือ ตื่นกลัว

การที่พ่อแม่ได้ล็อกห้องและปล่อยให้ลูกต้องเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าวเพียงลำพังจะส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง เกิดภาวะเครียดอย่างรุนแรง กลัวอย่างรุนแรง หรือ เกิดภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียด หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder)

เด็กอาจเกิดอาการฝังใจ กลัวความมืด กลัวที่แคบ อาจเกิดเป็นโรควิตกกังวล  ซึมเศร้า หรือ PTSD ได้ การขู่ให้กลัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือเช่นกรณีที่ผ่านมามักจะพบ การขู่ให้กลัวหมอฉีดยา เด็กก็จะกลัวการฉีดยา  

นพ.วรตม์ ยังกล่าวว่า สิ่งสำคัญก็คือเมื่อถูกล็อกห้องไม่มีคนช่วยเหลือเด็กจะรู้สึกสิ้นหวัง (Helplessness) ซึ่งพ่อแม่ควรเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือเขาแต่ไม่ได้ให้การช่วยเหลือ ก็จะทำให้เขารู้สึกสิ้นหวังในชีวิต เมื่อโตขึ้นไปในอนาคตก็จะกลายเป็นผู้ที่มองโลกในแง่ลบ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างมีปัญหาได้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ผู้ปกครองควรตระหนักก็คือ ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของเด็กในโลกดิจิทัล หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งการถ่ายรูป หรือ คลิป ที่อาจทำให้เด็กไม่พอใจ หรือ อับอาย ซึ่งสิ่งนี้เป็น Digital Footprint ที่จะอยู่ในอินเทอร์เน็ตไปอีกยาวนาน ซึ่งผลกระทบจะมีอย่างมากในอนาคต เมื่อเด็กโตขึ้นและรู้เรื่องก็อาจจะโกรธพ่อแม่ และเกิดเป็นปัญหาของครอบครัว

ฟิลเตอร์ต่าง ๆ สร้างขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนมีความสุข หรือ สนุก ร่วมกัน ความขบขันไม่ควรเกิดจากการเจ็บปวดของคนอื่น ๆ ความขำขันควรเกิดจากทุกคนมีความสุขร่วมกัน

ดังนั้น แอปพลิเคชัน หรือ ฟิลเตอร์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาล้วนมีจุดประสงค์ในแง่ที่ทำให้ทุกคนมีความสุข ควรใช้อย่างถูกต้อง โดยแอปฯ บางแอปฯ เช่น ติ๊กต๊อกก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์และให้ความรู้อยางมาก จึงควรใช้แอปฯอย่างสร้างสรรค์  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง