The EXIT : จับตาวงจรค้าสัตว์ป่า ไทย - อินเดีย

สังคม
30 ส.ค. 65
15:29
547
Logo Thai PBS
The EXIT : จับตาวงจรค้าสัตว์ป่า ไทย - อินเดีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่เพียง "เต่า" ที่พบการลักลอบค้าข้ามชาติ แต่ในช่วง 4 เดือนมานี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิพบการลักลอบขนย้ายสัตว์ป่า ไทย - อินเดีย อย่างน้อย 6 ครั้ง ขณะนี้ หน่วยงานไทยและอินเดียกำลังผลักดันสืบสวนไปยังต้นตอเครือข่ายค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ

 

การค้าสัตว์แปลกเป็นที่นิยมมากในเอเชีย สัตว์ประจำถิ่นของอินเดียถูกนำไปขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทยแต่ในเวลาเดียวกันสัตว์ต่างถิ่นจากประเทศไทยก็ถูกขนย้ายมาสู่ตลาดในอินเดีย นอกจากนี้ ความต้องการของตลาดสัตว์เลี้ยงทั้งสองประเทศก็เพิ่มขึ้นด้วย

คำพูดของ Kanitha Krishnasamy ผอ.ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่า หรือ TRAFFIC สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วง 4 เดือนที่เกิดขึ้นระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติเจนไน ประเทศอินเดีย กับ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของประเทศไทย

อย่างน้อย 6 ครั้ง นับตั้งแต่ พ.ค. - ส.ค. 2565 คือ สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่พบความพยายามลักลอบนำสัตว์ป่าจากประเทศไทยไปยังประเทศอินเดีย

 

ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565   อีกัวนา มังกรเครา ลิงทาร์เซียร์ และ มาโมเสท รวม 153 ตัว ถูกส่งกลับมาประเทศไทย หลังจากเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติเจนไน ประเทศอินเดีย จับผู้โดยสารชาวอินเดียลักลอบนำเข้าสัตวป่าที่เดินทางมาจากท่าอากาศสุวรรณภูมิของไทย

TRAFFIC ติดตามเส้นทางการค้าสัตว์ป่าตั้งแต่ปี 2554 – 2563 พบการยึดสัตว์ป่าในสนามบินของประเทศอินเดีย 18 แห่ง

ท่าอากาศยานนานาชาติเจนไน รัฐทมิฬนาฑู จับกุมและยึดสัตว์ป่ามากที่สุด รองลงมา คือท่าอากาศยานนานาชาติฉัตรปตี ศิวะจี มหาราช นครมุมไบ และ ท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี ที่เมืองนิวเดลี ตามลำดับ 

มีการดำเนินคดีลักลอบส่งออกสัตว์ป่ากว่า 140 คดี ในจำนวนนี้ เต่าดาวอินเดีย ถูกยึดได้มากที่สุด

ส่วนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทย  TRAFFIC  มีข้อมูลว่า ระหว่างปี 2553 – 2563  เจ้าหน้าที่ตรวจยึดสัตว์มีชีวิตกว่า 14,000 ตัว ในจำนวนนี้ร้อยละ 70 ของสัตว์ป่าที่ถูกลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยคือ “เต่า”

5 ก.ค.2565 ผู้โดยสารชายชาวอินเดีย อายุ 25 ปี เดินทางมาจากสนามบินเชนไน ประเทศอินเดีย ลักลอบนำ เต่าดาวอินเดียจำนวน 81 ตัว มูลค่ารวมกว่า 810,000 บาท

 

“เต่าดาวอินเดีย” เต่าสายพันธุ์พื้นเมืองของอินเดีย ถูกลักลอบนำเข้ามากที่สุด รองลงมาคือ “เต่าดาวรัศมี หรือ เรเดียต้า” ถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศมาดากัสการ์ มูลค่าในตลาดซื้อขายสูงถึงตัวละหลักแสนบาท

ทั้ง 2 ชนิดพันธุ์ เป็นเต่าบกขนาดกลาง อยู่ในบัญชีแนบท้ายที่ 1 ตามอนุสัญญาไซเตส เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักจากความนิยมล่าเป็นสัตว์เลี้ยง

เต่าต่างประเทศที่ได้รับความนิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงเกือบทุกชนิดพันธุ์ มีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในบัญชีของไซเตส ห้ามค้า ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากประเทศนำเข้าก่อน จึงออกใบอนุญาตส่งออกได้ โดยต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ

เต่าดาวอินเดียจัดอยู่ในกลุ่มเต่าที่มีความสวยงาม ทั้งสี และ ลวดลวาย ได้รับความนิยมในกลุ่ม Exotic Pet ทั่วโลก จากถิ่นกำเนิดในอินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา พวกมันถูกล่าและลอบส่งสู่ตลาดค้าสัตว์ในเอเชีย ยุโรป และ สหรัฐอเมริกา ทราฟฟิคพบข้อมูลว่ามีการยึดเต่าของกลางได้บ่อยครั้งที่ท่าอากาศยานในประเทศไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย

 

เมทินีย์ ภัสสราอุดมศักดิ์ นักวิจัยและฝ่ายข้อมูล TRAFFIC บอกว่า ความนิยมเลี้ยงสัตว์แปลกสวนทางกับจำนวนประชากรเต่าดาวในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ สาเหตุเพราะสูญเสียแหล่งอาศัย และถูกล่า ลักลอบค้าเป็นสัตว์เลี้ยง

ทำไมสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติของเขายังลดลงอย่างต่อเนื่อง คือถูกจับออกมาจากป่าธรรมชาติแล้วป้อนเข้าสู่ตลาดการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ไทยเป็นทั้งแหล่งที่ส่งออกไป เป็นทางผ่านที่อินเดียส่งผ่านมาไทย อาจไปมาเลเซีย ฮ่องกง สิงค์โปร หรือจีน หรือแม้แต่เป็นการนำเข้าที่ผิดกฎหมายก็มี 

Kanitha Krishnasamy ผอ.ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ TRAFFIC ให้ข้อมูลว่า สัตว์แปลกได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์แปลก หรือ Exotic Pet ในเอเชีย

 

สัตว์ประจำถิ่นของอินเดีย โดยเฉพาะเต่าดาวอินเดีย ถูกลักลอบส่งออกไปที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกัน สัตว์ต่างถิ่นจากประเทศไทยก็ถูกขนย้ายสู่ตลาดอินเดียจำนวนมากเช่นกัน

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ส.ค. 2564  เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติเจนไนยึดเต่าดาวอินเดียจำนวน 2,400  ตัวซุกซ่อนในกระเป๋าสัมภาระของผู้ต้องหา ขณะกำลังจะเดินทางมายังปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย

เราเห็นมาตลอด 15 ปีว่า มีการลักลอบขนย้ายเต่าไปมาระหว่างอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หน่วยงานจับผู้กระทำความผิดได้จำนวนมากที่มีความเกี่ยวข้องในระดับนานาชาติและท้องถิ่นจากภูมิภาคต่างๆ แต่สัตว์ที่ถูกยึดเป็นเพียงส่วนน้อย ควรสืบสวนบุคคลต่างๆ เหล่านี้อย่างจริงจังเพื่อติดตามเครือข่ายของพวกเขา

ประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา  กรมอุทยานฯ ให้ข้อมูลว่า อยู่ระหว่างประสานพนักงานสอบสวน วิเคราะห์ความเชื่อมโยงจากกรณีผู้โดยสารชาวอินเดียลักลอบซุกซ่อนสัตว์ป่ากับสัมภาระโดยสาร เพื่อหาแหล่งลักลอบเพาะสัตว์ป่า คาดว่า กลุ่มผู้กระทำผิดทำหน้าที่รับจ้างลำเลียงสัตว์เป็นล็อตๆ ตามออเดอร์จากผู้ค้าคนกลางในไทยและอินเดีย ก่อนกระจายสินค้าในตลาดค้าสัตว์ป่า

 

สำนักงานควบคุมอาชญากรรมสัตว์ป่า กระทรวงสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศอินเดีย ส่งหนังสือถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ขอความร่วมมือให้ตรวจสอบ และสืบสวนหาแหล่งที่มาของสัตว์ป่าลักลอบนำเข้าสนามบินนานาชาติเชนไน ประเทศอินเดีย ผ่านเครื่องบินโดยสารระหว่างประเทศ ต้นทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย หลังจากพบของกลางสัตว์ป่าซุกซ่อนในกระเป๋าสัมภาระของผู้ต้องหาที่เดินทางจากประเทศไทยบ่อยครั้ง

ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2565  เจ้าหน้าที่พบการลักลอบนำสัตว์ป่าเข้าประเทศอินเดียผ่านเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพ-เชนไน และ สามารถยึดสัตว์ป่าของกลางได้ทั้งหมด 190 ตัว 

สำนักงานควบคุมอาชญากรรมสัตว์ป่า ประเทศอินเดีย จึงส่งรายละเอียดคดีลักลอบนำเข้าสัตว์ป่า จำนวนชนิดพันธุ์ ข้อมูลผู้ต้องหา และคำให้การในชั้นสอบสวนให้กรมอุทยานฯ ของไทย  เพื่อเป็นข้อมูลติดตามเครือข่ายลักลอบค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ ป้องกันและควบคุมปัญหาลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง