6 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทะเล "เมืองคอน" ลาออก-สุดทนนโยบาย ทช.

Logo Thai PBS
6 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทะเล "เมืองคอน" ลาออก-สุดทนนโยบาย ทช.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
6 ผู้ทรงคุณวุฒิเดินทาง 800 กม. จากนครศรีธรรมราช-กทม. ยื่นหนังสือลาออก ขอยุติบทบาทผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หลังต่อสู้โดดเดี่ยว ชี้นโยบายรัฐทำลายทรัพยากร ไม่ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ชายฝั่ง
ผมเดินทางเกือบ 800 กิโลเมตร จากนครศรีธรรมราช มาตั้งแต่ตี 5 เพื่อมายื่นหนังสือลาออกที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐมนตรี  

สมชาย ฉลาดแหลม ผู้ทรงคุณวุฒิกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)จาก อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช  1 ใน 6 ผู้ทรงคุณวุฒิที่เดินทางมาทส. บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ 

ส่วนอีก 5 ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน ประกอบด้วย นายวิรชัช เจะเหล็ม ผู้ทรงคุณวุฒิอ.หัวไทร นายไกรศล หมื่นแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิ อ.ปากพนัง นายประยุทธ์ แซ่ลิ่ม ผู้ทรงคุณวุฒิ อ.เมือง นายราเชษฐ์ โต๊ะสาร ผู้ทรงคุณวุฒิ อ.สิชล และนางพิมพาภรณ์ ทองแซม ผู้ทรงคุณวุฒิ อ.ขนอม

เป้าหมายเพื่อลาออก จากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พื้นที่จ.นครศรีธรรมราช หลังได้รับคัดเลือก และแต่งตั้งตามพ.ร.บ.ส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558

ชี้ต่อสู้โดดเดี่ยว-โครงการทำลายทะเล

สมชาย บอกว่า เหตุผลที่ขอลาออก เพราะเห็นว่าแนวทางการทำงานไม่มีนโยบาย และทิศทางการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนชายฝั่ง ในการปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้อย่างแท้จริง จึงมีความเห็นร่วมกันควรจะยุติบทบาทการทำงานลง

ลาออกครั้งนี้ เป็นการเสียสละ เพื่อคาดหวังว่านายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.จะนำปัญหาดังกล่าวไปปรับปรุงนโยบายในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างจริงจัง และยืนเคียงข้างประชาชนที่ต่อสู้ท่ามกลางการรุกรานของโครงการทำลายทะเลใน 24 จังหวัดชายฝั่ง 

สมชาย บอกอีกว่า  เขาไม่อยากเห็นชุมชน ถูกโดดเดี่ยวต่อสู้ กับโครงการพัฒนาที่มาจากหลายกระทรวง ซึ่งหลายครั้งที่รับทราบปัญหาจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ สะท้อนปัญหาร่วมกันมาตลอด แต่หลายจังหวัดไม่มีท่าทีชัดเจน ดังนั้นจึงขยับจาก 6 คนในนครศรีธรรมราช เป็นแห่งแรกที่ขอยุติ

เราทำงานมาหลายปีแล้ว แต่ไม่เห็นอะไรที่ชัดเจน จึงใช้เวลาในช่วง 1 เดือนหารือกับทั้ง 5-6 คนที่ทำงานร่วมกันมาตลอด ประกาศขอลาออกพร้อมกัน และไม่อยากให้สูญเปล่า 

ฝาก 3 ประเด็นขยับแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ 

สำหรับเสียงที่จะส่งถึง ทช.ที่อยากให้ตระหนักใน 3 ประเด็น คือ ต้องการสื่อสารถึงนายวราวุธ และอธิบดี ทช.ว่า ชุมชนชายฝั่งคาดหวังการดูแลทรัพยากรต่างๆ ทั้งหาดทราย ป่าชายเลน และสัตว์น้ำให้รอดพ้นจากภัยคุกคามต่างๆ  แต่นโยบายของ ทช. ที่ผ่านมาสะท้อนผ่านงบประมาณการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ลดน้อยลง โดยให้เหตุผลไม่มีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนการอนุรักษ์

ขณะที่ชุมชนชายฝั่ง ต้องแบกรับภาระร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพียงฝ่ายเดียว และสุดท้ายไม่มีความชัดเจนในการปกป้องทรัพยากรต่างๆ เช่น การฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อน  ทช.ไม่เคยสนับสนุนงบ หรือมีความรู้อย่างจริงจัง ชุมชนต้องคอยหาการสนับสนุนของชุมชนกันเอง

สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับคัดเลือกและแต่งตั้งตามอำนาจพ.ร.บ.ส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ 2558 จะได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของชุมชนชายฝั่งและประชาชน ที่ร่วมกันใช้ประโยชน์ จัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับภาครัฐในการคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล ร่วมกับทช. และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง