"อ.สมพงษ์" แนะเลิกใช้รถตู้ ปรับเป็นมินิบัส หยุดโศกนาฏกรรมเด็กติดในรถ

สังคม
1 ก.ย. 65
13:48
494
Logo Thai PBS
"อ.สมพงษ์" แนะเลิกใช้รถตู้ ปรับเป็นมินิบัส หยุดโศกนาฏกรรมเด็กติดในรถ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการด้านการศึกษา แนะ ศธ.ใช้ยาแรง ออกกฎกระทรวงหรือกฎหมายบังคับเลิกใช้รถตู้รับ-ส่งนักเรียน ปรับมาใช้มินิบัสหรือสคูลบัส เบาะเตี้ยสำหรับเด็กเหมือนต่างประเทศ พร้อมเสริมวิชาปลอดภัยศึกษา สอนวิชาชีวิตเอาตัวรอดในยามฉุกเฉิน แก้ปัญหาที่ต้นเหตุลดโศกนาฏกรรม

จากกรณี ด.ญ.วัย 7 ขวบ เสียชีวิต เนื่องจากถูกลืมทิ้งในรถตู้โรงเรียน จ.ชลบุรี พ่อแม่เข้าแจ้งความเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำร่างส่งชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต 

ล่าสุด ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สะท้อนมุมมองในฐานะนักวิชาการด้านการศึกษากับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ปัญหาเด็กติดในรถรับ-ส่งจนเสียชีวิตเป็นเหตุการณ์ที่มีให้เห็นมาโดยตลอดจนถึงวันนี้ ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรมองปัญหาที่ต้นเหตุกันมากกว่าปลายเหตุที่จะมุ่งหาเพียงนำคนผิดมาลงโทษเท่านั้น

หากมองในต่างประเทศ หลายประเทศมีการใช้รถรับ-ส่ง แบบเป็นมินิบัสหรือสคูลบัส สำหรับการรับ-ส่งเด็กนักเรียนโดยเฉพาะ มีระบบ อุปกรณ์ให้เด็กกดขอความช่วยเหลือยามฉุกเฉินได้ มีเบาะนั่งสูงประมาณ 40 เซนติเมตร ช่วยให้ครูหรือคนขับรถมองเห็นเด็กได้อย่างชัดเจน แตกต่างจากในประเทศไทยที่โรงเรียนส่วนใหญ่นิยมใช้รถตู้สำหรับผู้ใหญ่มารับ-ส่งเด็ก และนี่คือต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น

ประเทศเราเคยชินกับการเอารถอะไรก็ได้มารับเด็ก พอมีข่าวลืมเด็กไว้ในรถก็เอาแต่หาคนผิดมาลงโทษ สอนเด็กเอาตัวรอดบ้าง หลังจากนั้นก็เงียบไป แล้วก็เกิดเคสใหม่ซ้ำอีก

ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุอีกว่า ต้องยอมรับว่า เด็กถูกปลุกตั้งแต่เช้าเพื่อไปโรงเรียน ทำให้มีอาการง่วงนอนอยู่แล้ว เมื่อขึ้นมาบนรถจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะนอนหลับ ดังนั้น ความสูงของเบาะรถจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้เด็กได้ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการควรสังคายนาครั้งใหญ่ มีข้อบังคับออกมาเป็นกฎกระทรวงหรือกฎหมาย การใช้รถรับ-ส่งที่ชัดเจน เปลี่ยนจากรถตู้เป็นมินิบัสรับ-ส่ง มีการกำหนดทั้งรูปแบบรถและความเร็ว รวมถึงข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่ผู้ปฏิบัติต้องทำตามอย่างจริงจังเพื่อลดโศกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้น

ลด 8 วิชาบังคับ เพิ่มวิชาชีวิต "ปลอดภัยศึกษา" 

นอกจากการปรับเปลี่ยนรถรับ-ส่งที่ต้องจริงจังแล้ว อีกสิ่งสำคัญคือการสอนนักเรียนอย่างจริงจังและเป็นระบบ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเด็กนั้นมีมากมายหลายอย่างไม่ใช่เฉพาะเด็กติดในรถ แต่รวมไปถึงเด็กจมน้ำ และปัญหาอื่น ๆ ที่พรากชีวิตเยาวชนไทยไปทุกปี ดังนั้น โรงเรียนควรเปิดพื้นที่เพิ่มวิชาปลอดภัยศึกษาเข้าไปในหลักสูตร และลดเวลา 8 วิชาบังคับลงเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต

ประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิชาชีวิต เราควรสอนแบบเป็นระบบ เพิ่มวิชาปลอดภัยศึกษาในทุกโรงเรียน ให้เด็กได้มีทักษะเอาตัวรอด

ศ.ดร.สมพงษ์ ย้ำว่า การเรียนการสอนวิชาชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี เพิ่มทักษะที่ใช้ได้จริง ทั้งการว่ายน้ำ การเอาตัวรอดเมื่อติดอยู่ในรถ หรือการเผชิญเหตุต่าง ๆ ที่เป็นภัยอันตราย โดยออกแบบให้เหมาะสมกับวัย นับเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง และจะช่วยลดข่าวความสูญเสียนี้ให้หายไปจากสังคมไทยได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด.ญ.วัย 7 ขวบ เสียชีวิต ถูกลืมในรถรับ-ส่ง จ.ชลบุรี

ย้อนสถิติ 9 ปี ลืมเด็กในรถ แนะ 3 ข้อต้องทำก่อนขึ้น-ลงรถ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง