จับจองถนนริมคลองมหาราช 4 กม.หนีน้ำท่วมเจ้าพระยา

ภัยพิบัติ
1 ก.ย. 65
16:04
352
Logo Thai PBS
จับจองถนนริมคลองมหาราช 4 กม.หนีน้ำท่วมเจ้าพระยา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมชลประทาน เตือน 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา รับมือน้ำระลอกใหม่ หลังทยอยปรับแผนระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา 1,800-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เริ่ม 4 ก.ย.นี้ คาดน้ำสูง 0.40-0.50 เมตร ขณะที่ชาวบ้านต.ชีน้ำร้าย จับจองถนนริมคลอง 4 กม.หนีน้ำ

วันนี้ (1 ก.ย.2565) นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่น ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา โดยปรับเพิ่มการระบายน้ำไม่เกิน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที แบบขั้นบันได ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.นี้ ในอัตรา 1,800-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน 0.40–0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 5-6 ก.ย.นี้

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำกรมชลประทานได้แจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการและ กรุงเทพมหานคร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ชาวบ้าน ต.ชีน้ำร้าย จองถนนหนีน้ำท่วม

ขณะที่ชาวบ้านใน ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เริ่มออกมาจองพื้นที่บริเวณริมถนนคลองส่งน้ำชัยนาท-อยุธยา หรือคลองมหาราช  ตลอดระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร ตั้งแต่หมู่ที่ 1 ถึงหมู่ที่ 6 บางคนนำเชือกไปขึงจอง บางคนก็เริ่มปลูกเพิงพัก บ้างก็ถากถางต้นไม้ เตรียมพื้นที่สำหรับทำเป็นที่พักทั้งของคน และสัตว์เลี้ยง

นายสุชินชัย พิพัฒน์ บอกว่า ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านจะรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อมีการระบายน้ำถึง 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ตลอดริมถนนสายนี้จะมีชาวบ้านออกมาจอง และสร้างเพิงพักตลอดเส้นทาง

น้ำท่วมเป็นเรื่องปกติ เจอเหตุการณ์แบบนี้เป็นประจำจนชินกัน มีระยะเวลาที่น้ำท่วมขัง 1-3 เดือน ถ้าจับจองไม่ทัน ก็ต้องอาศัยวัดใกล้บ้าน หรือต้องอยู่บนบ้านที่ถูกน้ำท่วม ตอนนี้น้ำขยับขึ้นมา 30 ซม.

ขณะที่เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร 50 นายช่วยกันยกพนังกั้นน้ำ เพื่อเตรียมป้องกันน้ำเข้าเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยาที่บริเวณหน้าเจดีย์พระศรีสุริโยทัย โดยพนังกั้นน้ำสูง 1.50 เมตร ตลอดความยาว 315 เมตร

เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อรักษาพื้นที่เกาะเมือง ไม่ให้น้ำล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจ และโบราณสถานสำคัญ 650 เมตร 

โดยส่วนที่ไม่สามารถยกพนังกั้นน้ำ ได้ทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาจะดำเนินการปั่นคันดินสูง 1.30 เมตร เพื่อให้สามารถป้องกันน้ำได้ครบ 650 เมตร

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง