กรมวิทย์ฯ เผยผลทดสอบ "ปลูกฝี" ป้องกันฝีดาษลิงไม่ได้

สังคม
5 ก.ย. 65
15:13
338
Logo Thai PBS
กรมวิทย์ฯ เผยผลทดสอบ "ปลูกฝี" ป้องกันฝีดาษลิงไม่ได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมวิทย์ฯ เผยผลทดสอบภูมิคุ้มกัน คนที่เคยปลูกฝีในอดีตต่อเชื้อฝีดาษลิง พบส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันในระดับที่ป้องกันโรคได้ ชี้ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันทุกคน

วันนี้ (5 ก.ย.2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดผลทดสอบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ในคนที่เคยรับวัคซีนฝีดาษมานานกว่า 40 ปี หรือคนที่เคยปลูกฝีด้วยการตรวจเลือด ผลออกมาเป็นค่าไตเตอร์ ซึ่งค่าที่ป้องกันฝีดาษลิงได้ ต้องเท่ากับหรือมากกว่า 32

 

จากการทดสอบในอาสามัครจำนวน 30 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน ต่อสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ทั้งสายพันธุ์ย่อย B.1 และ A.2 พบว่า กลุ่มอายุ 45-54 ปี ไม่มีภูมิคุ้มกันป้องกันได้ ทั้งหมดมีค่าไตเตอร์ต่ำกว่า 32 กลุ่มอายุ 55-64 ปี มี 2 คน มีภูมิคุ้มกันป้องกันได้ ส่วนอีก 8 คนไม่มีภูมิคุ้มกัน กลุ่มอายุ 65-74 ปี ไม่มีภูมิคุ้มกันป้องกันได้

สรุปคืออาสาสมัคร 30 คน มี 28 คน ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษลิง มี 1 คน มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ A.2 และอีก 1 คนมีภูมิคุ้มกันต่อทั้งสายพันธุ์ B.1 และ A.2

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ผลทดสอบที่ออกมาสรุปค่อนข้างชัดเจนว่าการปลูกฝีมากว่า 40 ปี ส่วนใหญ่ 28 คน ป้องกันฝีดาษลิงไม่ได้ มีภูมิขึ้นแค่เล็กน้อย มีเพียง 2 คน ที่ป้องกันได้แบบปริ่ม ๆ ดังนั้นหากนำวัคซีนฝีดาษที่เก็บโดยองค์การเภสัชกรรม ที่เป็นวัคซีนรุ่นหนึ่งนำมาใช้ คงต้องชั่งน้ำหนักดูว่าคุ้มหรือไม่ และวันนี้ไม่มีเชื้อฝีดาษคนแล้ว มีแต่ฝีดาษวานรที่มีความเสี่ยงต่ำ ที่สัมผัสใกล้ชิดกันเท่านั้นถึงติดได้

วัคซีนฝีดาษลิงยังไม่จำเป็นต้องฉีดในคนทั่วไป เพราะการติดเชื้อไม่ได้รวดเร็ว ผ่านมาหลายเดือนมีผู้ป่วย 7 คน มีเหตุที่มาที่ไปชัดเจน สัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดแบบโควิด โอกาสแพร่กว้างขวางไม่มี

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วัคซีนฝีดาษลิงโดยตรงยังไม่มีใครทำ วัคซีนที่นำมาใช้คือวัคซีนฝีดาษคน แต่ฉีดแล้วข้ามไปกันฝีดาษลิงได้ เพราะเป็นตระกูลใกล้เคียงกัน ได้ผลประมาณ 85% ขณะนี้แบบปลูกฝีไม่มีแล้วเพราะเสี่ยง ขณะนี้มีวัคซีนรุ่น 3 ของ JYNNEOS ซึ่งสหรัฐฯ และยุโรป อนุมัติให้ใช้ได้ วิธีฉีดมี 2 แบบ คือ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ใช้วัคซีนแค่ 0.1 มิลลิลิตร และอีกวิธีฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ทะลุหนังลงไปอยู่ในชั้นไขมัน ใช้วัคซีน 0.5 มิลลิลิตร โดยไทยซื้อมา 1,000 โดส ฉีด 2 ครั้งได้ 500 คน ส่วนจะฉีดใครอยู่ที่คณะกรรมการวิชาการตั้งหลักเกณฑ์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง