"รัฐสภา" ตีตกร่างแก้ไข รธน. 4 ฉบับ - ส.ว.ยังโหวตเลือกนายกฯ ได้

การเมือง
8 ก.ย. 65
06:48
626
Logo Thai PBS
"รัฐสภา" ตีตกร่างแก้ไข รธน. 4 ฉบับ - ส.ว.ยังโหวตเลือกนายกฯ ได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ ทั้ง 4 ฉบับ โดยการเสนอให้แก้ไข ม.272 ให้ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ แม้จะมีสมาชิกวุฒิสภาบางคนเห็นด้วย แต่ไม่ผ่านวาระแรกเช่นกัน

เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 หลังจากใช้เวลาอภิปราย 2 วัน ล่าสุด ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้งหมด 4 ฉบับที่ฝ่ายค้านเสนอ โดยประเด็นที่สมาชิกส่วนใหญ่หยิบยกขึ้นอภิปราย คือ การแก้ไขมาตรา 272 ให้ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เป็นผู้เสนอ

นอกจาก ส.ส.ฝ่ายค้านที่สนับสนุนแล้ว ส.ส.ฝั่งรัฐบาลอย่างนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา ก็อภิปรายแสดงความเห็นด้วย เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะคงอำนาจนี้ไว้ มีแต่จะสร้างความเสียหายและเพื่อเลี่ยงข้อครหาสืบทอดอำนาจ

เช่นเดียวกับ ส.ว.หลายคนที่เห็นด้วยและยอมตัดอำนาจตัวเองในส่วนนี้ ขณะเดียวกันก็มี ส.ว.อีกหลายคนที่เห็นต่าง และอภิปรายคัดค้าน โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมา ส.ว.ส่วนใหญ่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน และเลือกนายกรัฐมนตรีโดยคำนึงถึงเหตุและผล ก่อนจะย้ำว่า หาก ส.ส.เลือกตั้งมีความเข้มแข็งรวมกันได้ แม้ ส.ว.จะมีอำนาจเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ได้ ก็ไม่มีความหมาย

ทั้งนี้ บางช่วงของการอภิปราย เกิดการปะทะคารมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. โดยเฉพาะนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ที่อภิปรายพาดพิงถึงการใช้งบประมาณในโครงการรับจำนำข้าว ทำให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต้องลุกขึ้นประท้วง

ส่วนนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ถูก ส.ส.พรรคก้าวไกล ประท้วง และท้าให้ลงแข่งในสนามเลือกตั้ง หลังโต้กลับ ส.ส.ฝ่ายค้านที่อภิปรายเรื่องที่มาและคุณสมบัติของ ส.ว.ชุดปัจจุบัน

สำหรับร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 272 ที่ประชุมมีมติรับหลักการ 356 เสียง ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 364 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมไม่รับหลักการร่างฉบับนี้ ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 ที่เสนอให้เพิ่มสิทธิ เสรีภาพของบุคคลและชุมชน ที่ประชุมมีมติรับหลักการเกินกึ่งหนึ่ง (382) แต่มีเสียงของสมาชิกวุฒิสภา ไม่ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ 84 เสียง ร่างฉบับนี้จึงถูกตีตกไปเช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง