“ชัชชาติ” ระบุทำงานสไตล์ตัวเอง เน้นลงพื้นที่เห็นปัญหา-กระตุ้นคนรับผิดชอบแก้ไข

สังคม
9 ก.ย. 65
09:25
1,730
Logo Thai PBS
“ชัชชาติ” ระบุทำงานสไตล์ตัวเอง เน้นลงพื้นที่เห็นปัญหา-กระตุ้นคนรับผิดชอบแก้ไข
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ชัชชาติ" ย้ำ 3 เดือนการทำงานแบบลุยลงพื้นที่ เป็นสไตล์ส่วนตัว หวังเห็นปัญหาจริงหน้างาน แก้ปัญหา- บริหารจัดการงบประมาณได้ตรงจุด ย้ำชัด หากใครไม่ชอบก็รอไปเลือกคนที่ทำอีกแบบหนึ่งได้

วันนี้ (9 ก.ย.2565) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ตอบคำถามไทยพีบีเอสถึง 3 เดือน ของการทำงาน หนึ่งในนั้นการทำงานในรูปแบบ “ชัชชาติสไตล์” ที่มักพบเห็นผู้ว่าฯ กทม. ลงไปอยู่ในเหตุการณ์น้ำท่วม หรือ การลงพื้นที่ต่อเนื่อง ตามจุดต่าง ๆ ในแบบฉบับของนายชัชชาติ

นายชัชชาติ ระบุว่า เราก็ยินดีน้อมรับคำติชม แต่สิ่งที่ทำมันคือการสื่อสารว่า เราให้ความสำคัญกับใคร ถ้าเราให้ความสำคัญของการแก้ปัญหา เราก็ต้องลงไปดูแลพื้นที่ เพราะกลางคืนเราจะมานั่งเรียกประชุมก็ไม่ได้อยู่แล้ว ก็เลยลงไปเอง

เมื่อลงพื้นที่ไปแล้ว จะเห็นว่าทุกคนตื่นตัวนะ ผอ.เขตมา สก.มา เจ้าหน้าที่มีกำลังใจ ซึ่งการเราลงพื้นที่ เราไม่ได้ลงไปสั่งการ ไม่ใช่หน้าที่เราสั่งการ แต่ถ้าสังเกตจะเห็นว่า ผมจะไปถามประชาชนว่า ปัญหาคืออะไร น้ำเข้าบ้านไหม ปัญหาอยู่ที่ไหน อะไรคือ หัวใจของปัญหา ไปฟังข้อมูล ไปฟังปัญหา

เพราะสุดท้ายแล้ว ตอนเรามานั่งคิด โครงการทำงบประมาณให้มันต้องไปแก้ปัญหาพวกนี้แหละ แต่ถ้าเราไม่ได้ลงพื้นที่เราไม่มีทางรู้เลยว่า ปัญหาของคลองลาดพร้าวคืออะไร, เขื่อนตรงไหนที่สร้างและทิ้งงาน, น้ำเข้าบ้านประชาชนอย่างไร การลงพื้นที่ก็ไปเพื่อให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง ไม่ได้เข้าไปแบบสั่งงาน

แล้วที่บอกว่า เฮ้ย เป็นผู้ว่าฯ ทำไมมาเข็นรถ หน้าที่ผมไม่เข็นรถนะ ผมไม่ได้ลงไปเพื่อเข็นรถ แต่รถมันเสียอยู่ เราช่วยได้ก็คือ หนึ่งแรงที่เข้าไปช่วยเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไรเลย

ตอนเราอยู่หน้างาน ทุกคนเท่าเทียมกัน มันไม่มีผู้ว่าฯ ไม่มีรองผู้ว่าฯ ไม่มีพี่กวาดถนน พอเห็นใครปัญหาถ้าช่วยอะไรกันได้ก็ช่วยกัน ก็แค่นั้นเอง

อย่ามาพูดว่า ผมเป็นผู้ว่าฯ แล้วไปเข็นรถทำไม มันคืองานที่เราไปเจอหน้างาน แต่ไม่ใช่ว่าผมลงไปเพื่อไปเข็นรถ แต่ผมลงไปเพื่อเก็บข้อมูล มีปัญหาอะไรทำได้ ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน และสร้างขวัญกำลังใจให้คนด้วย ขนาดผู้ว่าฯ ยังเข็นรถ ทำไมคนอื่นจะมาช่วยกันเข็นรถไม่ได้

ผมว่านี่เป็นวิธีการบริหาร ซึ่งผมว่าสไตล์ใครสไตล์มัน ถ้าไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่ชอบก็รอ ก็อาจจะไปเลือกคนที่ทำอีกแบบหนึ่งก็ได้ แต่นี่คือ สไตล์ผม

เราลงไปสัมผัสหน้างาน เราไปสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ ให้กับประชาชน เพราะประชาชนที่เห็นเราลงไป มีใครด่าเราไหม ไม่มีใครด่า มีความรู้สึกว่า เออ ดีใจที่ผู้ว่าฯ ลงมาเห็นปัญหาเขา ผมว่าอันนี้ ก็สไตล์ใคร สไตล์มัน ผมก็สไตล์นี้แหละ

แล้วก็มีการสื่อสารให้ประชาชนเห็นว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน ผมว่าทุกอย่างถ้าเราโปร่งใสให้เห็นว่า ผมว่าเราไปได้ ซึ่งขอให้เราเข้าใจปัญหาเถอะ จะทำให้เราแก้ปัญหาได้

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า แล้วก็อีกรูปแบบของการที่เราลงพื้นที่ไป ซึ่งการแก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่ใช่แค่การดูดน้ำ มันมีมิติอื่น เช่น เรื่องการขนส่งคน การจราจร เรื่องการประชาสัมพันธ์ เราลงไป เราเห็นปัญหาภาพรวม ทำให้เราเชื่อว่าจะกำหนดนโยบายให้เป็นบูรณาการมากขึ้น

ประสานหน่วยงานทหาร หรืออย่างที่ลงไปบางเขน โทรโข่งยังไม่มีเลย ที่จะแจ้งให้ประชาชนรู้ว่า รถคันนี้ที่ช่วยขนส่งคน จะไปเส้นทางไหน ยังไม่มีโทรโข่งแจ้งบอกประชาชนเลย ประชาชนก็ไม่กล้าขึ้นรถ เพราะไม่รู้ว่ารถคันนี้ไปสายไหน

เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้ เราไป เราจะเห็นปัญหา เรามาพัฒนาบริการให้ดีขึ้น ถามว่า จริง ๆ มันง่ายมากเลย ที่จะนั่งอยู่ที่บ้านแล้วก็สั่งการ แต่การได้ลงไป คือ การได้เห็นปัญหา และทำให้เราตอบสนองได้ดีขึ้น

ขอเรียนว่าน้อมรับทุกคำ แต่ผมเชื่อว่า ทุกคนจะขยันขึ้น ผอ.เขตต้องลงพื้นที่ เราลงพื้นที่เขตนี้ได้ ดังนั้นทุกเขตก็ต้องลง ผมรู้ปัญหาละเอียด ถ้าถามตอบไม่ได้ ก็มีปัญหา เพราะสุดท้ายแล้ว ข้าราชการก็ต้องตื่นตัวให้ทัน

ผมเชื่อว่าข้าราชการกทม.เก่งๆ เยอะมากเลย ขอให้เราให้วิธีคิด ให้ความสำคัญกับเขาให้ถูกต้อง ไม่ต้องมาสนใจผู้ว่าฯ ให้สนใจประชาชน ลงไปแก้ปัญหาให้ประชาชน แล้วไปเจอกันหน้างาน มีอะไรรายงานผมให้ฉะฉาน ให้เข้าใจปัญหา นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง