กรมสุขภาพจิตห่วงคนไทย หลังสถิติปี 64 พบ "ฆ่าตัวตาย" 5,000 คน

สังคม
9 ก.ย. 65
12:13
1,281
Logo Thai PBS
กรมสุขภาพจิตห่วงคนไทย หลังสถิติปี 64 พบ "ฆ่าตัวตาย" 5,000 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปี 64 พบคนไทย ฆ่าตัวตาย ถึง 5,000 คน กว่าครึ่งเกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ สสส.-สธ.-มสช. ดึง พลังชุมชนท้องถิ่น ร่วมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต หวังลดอัตราฆ่าตัวตาย คาด 10 ปี สูญเสียแซงโรคไม่ติดต่อ

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดเสวนาออนไลน์ “พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย” เพื่อกระตุกสังคมไทยให้ความสำคัญและร่วมแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายโดยเริ่มจากตัวเอง เนื่องในวัน “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” 10 กันยายน

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทยในปัจจุบันว่า สถานการณ์การฆ่าตัวตายทั่วโลกมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตมีปริมาณมากขึ้น และคาดการณ์ว่า 10 ปีข้างหน้า สุขภาพจิตจะกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดการสูญเสียเป็นอันดับ 1 ของโรคไม่ติดต่อทั้งหมด

ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 500-1,000 คนต่อปี ในปี 2564 มีคนฆ่าตัวตายถึง 5,000 คน และพบว่า อันดับ 1 หรือร้อยละ 50 ที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย คือ ปัญหาด้านความสัมพันธ์

ปัญหาในเรื่องสุขภาพกายมาเป็นอันดับ 2 หรือร้อยละ 20-30 อันดับ 3 คือปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันดับ 4 คือปัญหาด้านเศรษฐกิจ

ซึ่งอันดับ 3 และ 4 จะสลับกันขึ้นลง ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้คนฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่ร้อยละ 90 มี 2 สาเหตุร่วม โดยมีปัญหาด้านความสัมพันธ์เป็นปัจจัยหลักเสมอ

ปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มมากขึ้น แต่บุคลากรด้านสุขภาพจิตกลับเป็นสาขาที่มีจำนวนจำกัด จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในประเทศไทยมีไม่ถึง 200 คน จิตแพทย์กว่า 1,000 คน นักจิตวิทยาอีกกว่า 1,000 คน ซึ่งการจะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี

 

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การทำงานแบบดั้งเดิมที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลอาจไม่ตอบโจทย์ ปัญหาสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องของทุกคน กรมสุขภาพจิต สธ. จึงหันมาร่วมมือกับองค์กรภายนอก เช่น ทำงานสุขภาพจิตร่วมกับ อสม.ที่มีอยู่ 1 ล้านคนทั่วประเทศ ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ

ฝึกให้ทุกคนในชุมชนเป็นบุคลากรด้านสุขภาพจิต และเริ่มทำงานตั้งแต่ระดับครอบครัวให้สามารถสังเกตอาการโรคพื้นฐาน เช่น โรคซึมเศร้า สัญญาณการฆ่าตัวตาย มีทักษะการรับฟัง การให้กำลังเชิงบวก

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โครงการ HOPE Task Force หรือทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย ที่กรมสุขภาพจิตร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ช่วยชีวิตผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายให้รอดชีวิตได้กว่า 400 คน

นับเป็นครั้งแรกของโลก ที่มีการวัดการช่วยเหลือให้คนไม่ฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตายที่ยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ การส่งเสริมและป้องกันเป็นหน้าที่ทุกคน ดังนั้นการสร้างความร่วมมือในระดับชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน

ดึงพลังชุมชน ร่วมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย

นางจันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจิตเวชใน ต.ผักไหม จะมีไม่มากประมาณ 20 กว่าคน ต่อประชากร 7,160 คน โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่แพทย์วินิจฉัยและญาติเห็นด้วย 7-8 คน และที่แพทย์วินิจฉัยแต่ตัวผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยไม่ยอมรับกว่า 10 คน

แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีชาวบ้านฆ่าตัวตาย ในปี 2562 และ 2564 รวม 2 คน ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า ป่วยเป็นโรคจิตเวชแต่ไม่แสดงอาการ เป็นจุดที่ทาง อบต.ผักไหม หันมาให้ความสำคัญและทำงานเชิงรุกมากกว่าเดิม ผ่านการร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนในตำบล

โดยมีเวทีประชาคมตำบลกับคณะกรรมการ สปสช.ระดับตำบล ให้เพิ่มเรื่องจิตเวชเข้าไปแม้จะไม่มีค่าตอบแทนให้ และเรียกทีม Long Term Care อสม. สภาผู้นำชุมชน รพ.สต.ในพื้นที่

กระทั่งเจ้าหน้าที่ อบต.ทุกคนที่ส่วนมากเป็นคนในพื้นที่ เข้ามาสแกน เสริมกำลัง ดูแลคนและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งหมดในแบบรายหมู่บ้าน มีการเก็บฐานข้อมูลที่ละเอียดแม่นยำ

รวมถึงเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เพิ่มเติม ยิ่งได้ มสช. และ สสส. เข้ามาช่วยกระตุ้นเมื่อปี 2564 จนถึงปี 2565 ก็ยิ่งทำให้ชุมชนหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง จากเดิมที่มองเป็นปัญหาธรรมดาก็กลายเป็นเข้าใจสาเหตุ รู้ปัญหา รู้โทษ และใส่ใจปัญหาสุขภาพจิต

 

นางอรพิน วิมลภูษิต เลขาธิการสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ตัวเลขจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ช่วงวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุดร้อยละ 74 คือ วัยแรงงานอายุ 25-59 ปี ขณะที่สถานการณ์โควิดทำให้แรงงานกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้ปานกลางถูกเลิกจ้างถึง 1.4-1.7 ล้านคน หรือร้อยละ 62 ของแรงงานทั้งประเทศ

กลุ่มวัยแรงงานจึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตายขนาดใหญ่ที่รัฐและสังคมควรจับตามองและให้ความสำคัญ และผลักดันเพิ่มองค์ความรู้หรือระบบปฏิบัติการที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพการเงินให้กับกลุ่มแรงงานในประเทศไทย ในรูปแบบนโยบายหรือยุทธศาสตร์ระดับประเทศที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือกัน โดยอาจผนวกไปกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ทุกวันนี้รักษาแค่เพียงสุขภาพกาย

ด้าน นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการฯ มสช. ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤตและตลอดช่วงชีวิต กล่าวว่า ทางโครงการฯ เน้นพัฒนากลไกการเฝ้าระวังและกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อลดและป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยแรงงานในชุมชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้

รวมถึงผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ มุ่งเป้าสร้างแกนนำการส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น เสริมองค์ความรู้ไปปรับประยุกต์เพื่อผลิตเป็นเครื่องมือเสริมการทำงานให้แข็งแกร่ง เข้าถึงได้ง่าย เกิดพื้นที่ต้นแบบนำไปสู่การขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายสาธารณะ เพื่อส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินงานแล้วในหลายพื้นที่ ได้แก่ อบต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย อบต.วังกรด อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พิษโควิดบีบคนไทยเครียด ยอดฆ่าตัวตายพุ่ง ปี 63

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง