ครม.เคาะส่วนลดค่าไฟ-ต่อลดภาษีดีเซล 13 ก.ย.

เศรษฐกิจ
12 ก.ย. 65
17:51
407
Logo Thai PBS
  ครม.เคาะส่วนลดค่าไฟ-ต่อลดภาษีดีเซล 13 ก.ย.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จับตา ครม.เคาะมาตรการส่วนลดค่าไฟ และลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อ 13 ก.ย.นี้ ขณะที่ กกพ.ชี้ไทยจะไม่เห็นค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยแล้ว

วันนี้ (12 ก.ย.2565) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษ การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยต่อวิกฤตพลังงานโลก ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2022 ว่า กระทรวงฯได้ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด จากปัญหารัสเซียและยูเครน และที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือค่าพลังงานแล้วราว 200,0000 ล้านบาท ผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนติดลบ 1.2 แสนล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ติดลบ 80,000 ล้านบาท เพื่อจะประคับประคองไม่ให้กระทบครัวเรือนและผู้ประกอบการจนปรับตัวไม่ทัน

ในการประชุม ครม.พรุ่งนี้ (13 ก.ย) จะเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้า โดยให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปร 92.04 สตางค์ต่อหน่วย งวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2565 แบบขั้นบันไดร้อยละ 15-75 สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301 - 500 หน่วยต่อเดือน

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบฯ 8,000 ล้านบาท แม้จะมีสถานการณ์น้ำท่วมแต่จะไม่กระทบงบฯ ที่จะมาใช้ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า เพราะรัฐบาลได้กันงบฯ เป็นงบกลางปี 2565 และ 2566 ไว้แล้ว จึงไม่อยากให้กังวล ยืนยันว่า หากไม่ทันในรอบบิลค่าไฟฟ้าทั้ง 3 การไฟฟ้าหาแนวทาง โดยอาจจะจ่ายย้อนหลังให้ครัวเรือน

 

 

ขณะที่มาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอที่ประชุม ครม. ลดอัตราภาษี เช่นกัน

นายสุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่า สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือ ราคาก๊าซธรรมชาติ ที่โอกาสจะสูงขึ้นมากช่วงปลายปีนี้ และสหภาพยุโรป ประกาศว่า ในปีนี้ยุโรปจะหนาวมากกว่าทุก ๆ ปี หลายประเทศต้องสำรองปริมาณก๊าซฯ ซึ่งจะส่งถึงราคาค่าไฟฟ้า

กกพ. ชี้ ไทยจะไม่เห็นค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4 บาท/หน่วย

ด้าน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากนี้คงจะไม่เห็นอัตราค่าไฟต่ำกว่า 4 หน่วยอีกแล้ว เพราะสัดส่วนการผลิตเชื้อเพลิงเปลี่ยนไป ต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจาก๊าซฯ แอลเอ็นจี สูงขึ้นร้อยละ 20-30 จากเดิมร้อยละ 18 ในปี 2563 มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 10 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ หากเทียบกับต้นทุนการผลิตจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มีต้นทุนการผลิตอยู่ราว 2-3 บาทต่อหน่วย และน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลอยู่ที่ 6 บาทต่อหน่วย แต่ปัจจุบันปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยไม่เพียงพอ และแม้จะหันมาใช้น้ำมันดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าก็ยังลดต้นทุนการผลิตได้มาก เนื่องราคาน้ำมันยังผันผวน

 

ขณะที่ราคาก๊าซฯ ที่สูงขึ้น ทำให้การขายก๊าซฯ LNG ในตลาดจรลดลงด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ไทยทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ในตลาดจร จึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย ขณะที่ปริมาณในอ่าวไทย ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านเอกชนที่เข้าพื้นที่จากการประมูลระบบสัมปทานรายใหม่ และยังมีปัญหาจากปริมาณก๊าซในเมียนมาลดลงซึ่งกระทบมาถึงค่าไฟของไทย

ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าในสิ้นปีจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการบริหารก๊าซในอ่าวไทยจากการเข้าในพื้นที่ของ ปตท.สผ. ว่า จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซได้มากน้อยแค่ไหนรวมถึงราคา LNG ในตลาดโลกก็จะมีส่วนสำคัญต่อภาพรวมการผลิตไฟฟ้าในประเทศ

สำหรับแนวทางการรับมือที่จะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน กระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า จัดอยู่ในแผนพลังงานชาติ หรือ พีดีพี 2022 คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ก.ย. - ต.ค. 2565 รวมถึงการส่งเสริมให้ครัวเรือนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปภาครัวเรือน ล่าสุด ได้เรียกทั้ง 3 การไฟฟ้า และ กกพ. เร่งกระบวนการอนุมัติใบอนุญาตขอติดตั้งโซลาร์รูฟให้เร็วขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นต่อเนื่อง และยังเดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงาน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง