เปิดใช้เกือบ 1 ปี "รถไฟจีน-ลาว" เชื่อมโอกาสทางเศรษฐกิจ

ภูมิภาค
17 ก.ย. 65
10:12
1,169
Logo Thai PBS
เปิดใช้เกือบ 1 ปี "รถไฟจีน-ลาว" เชื่อมโอกาสทางเศรษฐกิจ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เกือบ 1 ปีที่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดบริการ เริ่มเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในลาว ซึ่งจีนต้องการเชื่อมต่อประเทศในเอเชีย แอฟริกาและยุโรป ขณะที่ลาวต้องการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก ส่วนไทยก็หวังใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟสายนี้

เส้นทางรถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2564 หลังจากใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 5 ปี รถไฟสายนี้เชื่อมต่อระหว่างนครหลวงเวียงจันทร์ ประเทศลาว และเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ระยะทาง 1,035 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่อยู่ในลาว 414 กิโลเมตร ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร

มูลค่าโครงการกว่า 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 200,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างจีนและลาว โดยจีนถือหุ้นร้อยละ 70 ส่วนลาวถือหุ้นร้อยละ 30 ชาวลาวเรียกว่า “รถไฟความไวสูง” การขนส่งผู้โดยสารทำความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว

ทางสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative - BRI) ชื่อเดิมคือ One Belt One Road หรือ เส้นทางสายไหมใหม่ ที่สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ริเริ่มขึ้นในปี 2013 เพื่อเชื่อมโยงด้านคมนาคมโลจิสติกส์ เชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการสร้างความมั่นคงในเส้นทางการค้า ทั้งทางบกและทางทะเลของจีนกับประเทศต่างๆ บนเส้นทางนี้

ด้านหน้าสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ มีพ่อค้าแม่ค้าชาวลาวมาตั้งแผงขายสินค้าอย่างคึกคัก แม่ค้าคนหนึ่งเปิดเผยว่า ตั้งแต่มีรถไฟลาว-จีน ทำให้ขายของดีขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด ที่มีนักท่องเที่ยวนิยมมานั่งรถไฟท่องเที่ยวในเมืองสำคัญ ทั้งนครหลวงเวียงจันทน์ วังเวียง หลวงพระบาง

ขณะที่ผู้โดยสารรถไฟ กล่าวว่า ตั้งแต่มีรถไฟลาว-จีน ก็ทำให้การเดินทางระหว่างเมืองรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ช่วยเศรษฐกิจในพื้นที่เติบโต เช่น โรงแรม ร้านอาหาร

"ลาว" มั่นใจชำระหนี้คืนจีนได้

แม้จะถูกมองว่าเส้นทางสายนี้แลกมาด้วยการก่อหนี้ของลาว แต่ผู้บริหารบริษัทรถไฟลาว-จีน ระบุว่า หลังเปิดเส้นทางสายนี้สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศในการขนส่งสินค้า และผู้โดยสารที่เติบโตขึ้น ส่วนการลงทุน จีนคือผู้ลงทุนหลักและทั้ง 2 ประเทศได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

สมศักดิ์ ยานชนะ อดีตรองอธิบดีกรมรถไฟลาว ระบุว่า เส้นทางนี้มีการศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เป็นประโยชน์ต่อประเทศลาว จีน รวมไปถึงไทยที่จะมีโอกาสใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้ พร้อมระบุว่าลาวมีความสามารถในการชำระหนี้ให้กับจีน

ขณะที่ เจษฎา กตเวทิน เอกอัครราชทูต ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ระบุว่า เส้นทางรถไฟลาว-จีน ทำให้เศรษฐกิจของลาวดีอย่างมีนัยสำคัญ

โอกาสของ "ไทย" จากรถไฟจีน-ลาว

สำหรับไทย มีพรมแดนติดนครหลวงเวียงจันทน์ ไม่เกิน 30 กิโลเมตร มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากเส้นทางสายนี้ ทั้งเรื่องการขนส่งสินค้าและท่องเที่ยว แต่การใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวยังทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากระบบการขนส่งที่ยังไม่เชื่อมต่อกัน

หากไทยต้องการได้ประโยชน์จากรถไฟลาว-จีน ต้องเร่งรัดแก้ปัญหาคอขวด โดยเร่งเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟให้เชื่อมต่อกับลาว การสร้างพื้นที่ขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ ตลอดจนสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ที่ขนานกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรก

รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า รถไฟลาว-จีน ช่วยส่งเสริมทางการค้า การท่องเที่ยวและการลงทุน ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ลดเวลาจากคุนหมิงมาถึง จ.หนองคาย ใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง เร็วกว่าทางถนนที่ใช้เวลา 2 วันถึง จ.เชียงราย และต้นทุนถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า แต่ไทยต้องเตรียมรับมือกับสินค้านำเข้าจากจีน ที่จะมาแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดลาวมากขึ้น

อ่านข่าวอื่นๆ

เตรียมสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ไทย-ลาว-จีน รองรับขนส่งทางราง

คึกคัก! ท่องเที่ยว "ไทย-ลาว" เพิ่มโบกี้-เที่ยวรถไฟรับผู้โดยสาร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง