กรมชลฯ-กทม. ถก "เสรี" วางแผนแก้น้ำท่วม-ระบายน้ำกรุงเทพฯ

ภัยพิบัติ
17 ก.ย. 65
16:28
366
Logo Thai PBS
กรมชลฯ-กทม. ถก "เสรี" วางแผนแก้น้ำท่วม-ระบายน้ำกรุงเทพฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมชลฯ หารือผู้ว่าฯ กทม. วางแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม วางแผนระบายออกสู่เจ้าพระยา-ท่าจีน ด้านเสรีระบุ เพราะสภาอากาศเปลี่ยน เพิ่มปริมาณฝน แนะแผนบริหารจัดการน้ำ น้ำออกจาก กทม.และจังหวัดโดยรอบ พร้อมดึงชุมชนเข้าช่วย

วันนี้ (17 ก.ย.2565) นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา พร้อมด้วย นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายสุชาติ อินทร์ทุ่ง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล ร่วมหารือแนวทางป้องกันและลดผลกระทบน้ำท่วม บริเวณแนวคลองมหาสวัสดิ์ และคลองบางกอกน้อย ร่วมกับ กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร นายเสรี ศุภราทิตย์ รองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และเครือข่ายคลองมหาสวัสดิ์ ที่ห้องประชุมโรงเรียนกุศลศึกษาวัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า กรมชลประทาน บูรณาการกับสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เพื่อบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอยต่อระหว่าง กทม. และกรมชลประทาน

กรมชลฯ แนะระบายน้ำออกเจ้าพระยา-ท่าจีน

โดยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง กรมชลประทาน จะใช้คลองในแนวตะวันออกและตะวันตก ในการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน คลองบางกอกน้อย และคลองแนวรอยต่อพื้นที่ กทม.

โดยด้านที่เชื่อมต่อแม่น้ำท่าจีน จะใช้สถานีสูบน้ำคลองมหาสวัสดิ์ ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน ส่วนทางด้านที่เชื่อมต่อคลองบางกอกน้อย จะใช้ประตูระบายน้ำฉิมพลี ช่วยในการควบคุมระดับน้ำ

ต่อมาเวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา

“เสรี” ระบุสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ทำให้ฝนตกมากขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ประชุมหารือร่วมกับอาจารย์เสรี ซึ่งได้เชิญ กทม. กรมชลประทาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชนด้วย มาร่วมพูดคุยกัน ซึ่งท่านได้สรุปให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว สภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงมีความชัดเจนขึ้น ฝนที่เพิ่มขึ้นก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน

สอดคล้องกับที่เราเห็นว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาที่ฝนตกที่เพิ่มขึ้น 150 % ในช่วงแรกของเดือนกันยายน ทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งแผนการรองรับต้องคุยกันในรายละเอียดให้ยาวขึ้นว่าจะปรับยุทธศาสตร์อย่างไร จะวางแผนโครงการอย่างไร ซึ่งอาจารย์เสรีก็ได้ให้คำแนะนำในการวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว

แนะดึงชุมชนแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม.

ในระยะสั้นต้องมีการบัญชาการจากกทม. จัดให้ผอ.เขตเป็นผู้บัญชาการส่วนหน้า ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว โดยมีสำนักการระบายน้ำเป็นตัวกำกับ จะเห็นภาพรวมของน้ำทั้งหมด การจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งปลัด รองปลัด และสำนักการระบายน้ำ โดยมีผอ.เขตเป็นหน่วยส่วนหน้า

ที่อาจารย์เสรีพูดมาเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ การเอาชุมชนและประชาชนเข้ามาเป็นส่วนร่วม อย่าให้เขารอให้เราเข้าไปแก้ปัญหาให้ ให้เอาเขามาเป็นส่วนร่วมในการชี้ปัญหาและเป็นคำตอบให้เราด้วย จริง ๆ แล้วเรามีแนวร่วมอีกเป็นแสนเป็นล้านคนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เราแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

 

ผู้ว่า ฯกทม. ยกตัวอย่างว่า เมื่อวานนี้เราไปลงพื้นที่ในหมู่บ้านหนึ่ง เขามีจุดที่น้ำรั่วเข้ามา ประชาชนเขาอยู่ในพื้นที่เขาชี้จุดได้เลย ไม่ต้องรอให้น้ำเข้ามาก่อน การลงพื้นที่ในหลายๆ แห่ง ประชาชนจะเป็นคนพาไปชี้เลยว่า ตรงไหนจุดอ่อน เราอาจจะทำเป็นแนวร่วม หรือหน่วยอาสากู้น้ำท่วมในชุมชน

กทม.อาจจะให้ทรัพยากรไปช่วย เช่น กระสอบทราย เมื่อถึงเวลาเขาก็อาจจะมาช่วยอุดช่วยอะไรได้ โดยที่เรายังไม่ทันเข้าไป โดยดำเนินการบรรเทาไปก่อน เป็นการยับยั้งวิกฤตไปก่อน รวมถึงการให้ข้อมูลน้ำข้อมูลปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องไปพัฒนากันต่อ

ปรับแผนระยะยาวต้องดูภาพรวมทั้งในและรอบ กทม.

ส่วนในระยะยาวที่อาจารย์เสรีพูดถึงจะเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กรมชลประทาน จังหวัดต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าดูจากแผนการระบายน้ำของกทม.ที่ผ่านมา เราจะระบายน้ำไปในพื้นที่ของเราเอง จากแสนแสบมาที่ประตูระบายน้ำพระโขนง ลาดพร้าวมาออกบางซื่อ ก็อยู่ในพื้นที่กทม.ทั้งหมด

ลาดกระบังมาออกประเวศ ทำให้ทุกอย่างมันไหลมาอยู่ที่ตรงกลางทั้งหมด แต่ในอนาคตไม่ได้แล้ว ยิ่งน้ำทางตอนเหนือที่อาจารย์เสรีพูด ต้องผ่านทางจังหวัดอื่นต้องดูน้ำในภาพรวม

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า จริง ๆ แล้ว แต่ละจังหวัดต้องพูดคุยกัน โดยมีกรมชลประทานเป็นตัวเชื่อมประสาน ถ้าแต่ละจังหวัดระบายน้ำเองไม่ได้แน่ ต้องมีการหารือกันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

กทม.ต้องเป็นเจ้าภาพในการหารือร่วมกับปริมณฑล ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำอย่างเดียว เรื่องฝุ่น PM2.5 ก็คล้ายๆ กัน ฝุ่นก็ลอยข้ามไปข้ามมา เรื่องมลพิษ เรื่องการจราจร เรื่องที่อยู่อาศัยต่าง ๆ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นแนวทางที่จะต้องร่วมมือกันมากขึ้นในอนาคต

ด้านนายเสรี ได้กล่าวขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. ที่มาร่วมพูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชุมชนตลิ่งชัน รวมถึงจังหวัดรอยต่อที่มาร่วมคุยกัน ซึ่งก็พร้อมรับน้ำ แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ผู้ว่าฯ ก็มีนโยบายและแผนการที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลางถึงระยะยาว ซึ่งมีความตั้งใจเกินร้อย

“จริง ๆ แล้ว แผนบริหารจัดน้ำก็มีการวางรากฐานมานาน ผู้ว่าฯ หลายท่านที่ผ่านมาก็ได้วางสิ่งดี ๆ เอาไว้ ก็นำมาปรับปรุงบ้าง หรือว่าเพิ่มเติมเข้าไป เป็นสิ่งที่ทำกันมานาน โครงสร้างพื้นฐานไม่ได้เพิ่งทำนะ ทำมาหลายผู้ว่าฯ แล้ว ทำต่อเนื่องกันมา อุโมงค์ระบายน้ำก็เป็นผลงานของหลายผู้ว่า ฯ ถือว่าเป็นเนื้อเดียวกัน เอาแผนมาปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว

คนท่าจีนเสนอ "ชัชชาติ" ดูทุกมิติก่อนระบายน้ำ

ด้าน นายประเชิญ คนเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิลุ่มน้ำท่าจีนนครปฐม กล่าวว่า ทิศทางการระบายน้ำ แม่น้ำท่าจีน เป็นหนึ่งทางเลือกที่ กทม. มองไว้ ตนได้แจ้ง ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ว่า การระบายน้ำมาที่ท่าจีน บนความเปราะบางและความเสี่ยงบางของพื้นที่ ในขณะที่เวลานี้น้ำทุ่ง น้ำฝน ระบายลงท่าจีนอยู่ประมาณ 300 ลบ.ม./วินาที ทำให้พื้นที่ อ.นครชัยศรี อ.สามพราน และตอนบน อ.บางเลน ก็ได้รับผลกระทบแล้ว

ดังนั้น การวางแผนระบายน้ำควรพิจารณา ระบบการระบายน้ำฝั่งตะวันตกของเจ้าพระยา ที่มีระบบเครือข่าย คลองส่งน้ำหากเชื่อมโยงน้ำให้ต่อกันได้สามารถส่งน้ำไปถึงแก้มลิงสุทรสาคร และดันออกทะเลได้ จะช่วยผ่อนภาระของ กทม. ได้มาก

หากระบายใส่ท่าจีน ผ่านคลองมหาสวัสดิ์น้ำจะลงไปที่สะพานเสาวภา ไหลไปออที่สะพานรวมเมฆ ผ่านคลองลัดงิ้วราย-ไทยาวาส น้ำจะไปออที่หัวเกาะวัดหอมเกร็ด ไหลลงกะเพาะหมูสวนส้มโอ เกาะทรงคะนอง

และถ้าส่งน้ำต่อจากคลองมหาสวัสดิ์ ผ่านคลอง สามบาท คลองวัฒนาคลองบางเตย คลองสุคต น้ำจะลงไปท่วม ตลาดน้ำดอนหวาย และไหลบ่าเข้าท่วมสวนส้มโอ ที่เพิ่งฟื้นตัวจากมหาอุทกภัย 2554 ได้ 3-4 ปี ถือเป็นหายนะ

การระบายน้ำลงมาทางท่าจีน ต้องพิจารณาอย่ารอบคอบ ให้สัมพันธ์กับระบบน้ำขึ้นน้ำลง และศักยภาพที่ระบบรองรับได้ “การเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” ต้องสมดุล อย่าเฉลี่ยแต่ทุกข์ แต่สุขไม่เคยเฉลี่ยมา

ระบบการบริหารจัดการของกรมชลประทานจึงต้องมีความละเอียดอ่อนมาก สถานการณ์ปัจจุบัน เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ถูกเคลื่อน มาในระบบแม่น้ำท่าจีนนครปฐม เต็มกำลังวันที่ 28 ก.ย.นี้ น้ำจากเจ้าพระยาจะเปิด ปตร.ทุ่งรับน้ำ12 ทุ่ง “ป้องออก พักตก ระบายลงใต้” กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว ชาวท่าจีน สุพรรณบุรี และนครปฐม ต้องเตรียมแผนรับ น้ำระบายเชิงนโยบาย

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง