บังคับเก็บ DNA เหลื่อมล้ำยุติธรรม?

สังคม
19 ก.ย. 65
15:20
2,340
Logo Thai PBS
บังคับเก็บ DNA เหลื่อมล้ำยุติธรรม?
คุณจะเลือก “ความปลอดภัย หรือ สิทธิส่วนบุคคล” กลายเป็นคำถามที่ประชาชนต้องตอบ เมื่อฝ่ายความมั่นคงเก็บ DNA ของพวกเขา ทั้งที่ กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า “ทำไม่ได้” 4 ปี ที่ประชาชนในจว.ชายแดนใต้ต้องอยู่กับคำถามนี้ และ ไม่รู้ว่า การถูกบังคับเก็บ DNA จะจบลงเมื่อไร

อยู่อย่างหวาดระแวง หลังถูกบังคับเก็บ DNA

มวนยาสูบ ขวดน้ำ และถุงบรรจุอาหาร ถูกเก็บกลับมาทิ้งที่บ้าน ตกกลางคืน สามีภรรยาคู่นี้ ต่างจมอยู่กับความวิตกกังวล พวกเขานอนไม่หลับจนแพทย์ต้องจ่ายยาคลายเครียดและเพิ่มปริมาณยารักษาโรคความดันสูง ทั้งหมดคือความไม่ปกติที่เกิดขึ้นกับชีวิตของประชาชนจากจังหวัดยะลา หลังจากถูกเจ้าหน้าที่บังคับเก็บสารพันธุกรรม หรือ DNA เมื่อเดือนมีนาคม 2565

 

ทั้งคู่ไม่เคยตอบคำถามตัวเองได้ว่า พวกเขาทำอะไรผิดจึงต้องเผชิญกับความหวาดระแวงและวิตกกังวลไม่เว้นแต่ละวันเช่นนี้ 

หลังถูกเก็บ DNA เจ้าหน้าที่บอกให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่หลังจากนั้น ไม่มีวันไหนเลยที่ชีวิตกลับมาเป็นปกติสุข

คนที่เป็นสามีเล่าย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุ เสียงเรียกให้เปิดบ้านดังขึ้นตอนตีห้า วันนั้นเขาอยู่บ้าน เพราะรู้สึกเหนื่อยจากโรคประจำตัว ส่วนภรรยาออกไปกรีดยางพารา เมื่อเปิดประตูออกไปพบเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือมากกว่า 10 คนล้อมบ้านเขาไว้ และขอเข้าตรวจค้นบ้านเพื่อหาตัวลูกชาย

แม้ไม่มีคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชาย แต่เขาก็พาเจ้าหน้าที่ตรวจค้นบ้าน แม้ไม่สมัครใจ แต่ทำไปด้วยความกลัวและตกใจ เพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ถูกเจ้าหน้าที่ล้อมบ้านพร้อมอาวุธครบมือ 

เมื่อไม่พบตัวลูกชาย เขาถูกเชิญไปที่ค่ายทหารซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด และได้พบกับภรรยาที่ถูกตามกลับมาจากสวนยางพาราที่นั่น

ทั้งสองคนถูกพาตัวเข้าไปในห้องเล็กๆ ที่มีเจ้าหน้าที่อยู่ 3-5 คน การซักถามที่เกิดขึ้นมีเพียงคำถามเดียว คือ ทั้งสองคนชื่ออะไร พร้อมกับขอดูบัตรประชาชน

เขาเล่าว่า เจ้าหน้าที่ยื่นก้านสำลีคล้ายที่ปั่นหูมาให้เขากับภรรยา พร้อมกับสาธิตท่าทางการใช้ก้านสำลีเก็บ DNA จากกระพุ้งแก้มให้ทั้งสองคนทำตาม 

ภาพ กล่องเก็บตัวอย่าง DNA ของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน

ภาพ กล่องเก็บตัวอย่าง DNA ของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน

ภาพ กล่องเก็บตัวอย่าง DNA ของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน

 

ก้านสำลีที่ทั้งคู่ส่งคืนเจ้าหน้าที่ถูกนำใส่ถุงพลาสติก และเก็บใส่กล่องยาวๆ คล้ายกล่องยาสีฟัน

จากนั้น เจ้าหน้าที่ให้เขากับภรรยา ลงชื่อในเอกสารภาษาไทย 2 แผ่น โดยไม่อ่านเอกสารให้ฟัง และไม่อธิบายเหตุผลใดๆ เขามารู้ตัวภายหลังว่า นั่นคือเอกสารยินยอมให้ตรวจเก็บ DNA เพื่อส่งข้อมูล DNA ไปยังศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 หรือ ศพฐ.10 ของตำรวจ หลังจากมากลับบ้าน เขาจึงรู้จากเพื่อนบ้านว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่ค่ายทหารคือการเก็บตัวอย่าง DNA

เขากับภรรยาจมอยู่กับความกังวลและหวาดระแวงว่า DNA ของพวกเขาจะถูกโยงกับเหตุความรุนแรง สุขภาพของทั้งคู่ทรุดลงเรื่อยๆ จนนำไปสู่การตัดสินใจเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ยะลา

ด้วยความหวังว่า ข้อมูล DNA จะถูกลบออกจากฐานข้อมูล ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะปลดปล่อยความวิตกกังวลทั้งหมด และช่วยให้เขากับภรรยากลับมาใช้ชีวิตตามปกติสุขได้อีกครั้ง

The EXIT ไทยพีบีเอส พบว่า สถิติจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมในจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ตั้งแต่ปี 2561 - 2564 มีผู้ร้องเรียนว่า ถูกบังคับเก็บ DNA โดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด 129 เรื่องด้วยกัน

DNA ของเรา ใครก็มาละเมิดเก็บไม่ได้

ตามหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายของไทย ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกาย และข้อมูลส่วนบุคคลของเราได้ เพราะทุกคนล้วนได้รับการปกป้องโดยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 28 และ 32

DNA ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและบรรจุไปด้วยข้อมูลทางพันธุกรรมซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น การขอเก็บ DNA จึงต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวเท่านั้น ภายใต้การให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าเก็บไปเพื่ออะไร และ จะมีผลต่อเจ้าของ DNA อย่างไร

ทุกครั้งที่รัฐต้องการเก็บตัวอย่าง DNA จากประชาชน จึงจำเป็นต้องให้เจ้าของ DNA ลงนามให้เก็บตัวอย่าง DNA หรือที่เรียกว่า consent form ซึ่งที่ผ่านมาพบข้อร้องเรียนว่าประชาชนจำนวนหนึ่ง ตกอยู่ในสถานการณ์ถูกบังคับเก็บ DNA พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธการลงนามในเอกสาร หรือ ถูกเก็บ DNA ก่อนได้ลงนามในเอกสาร

ไม่มีกฎหมายใดที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐบังคับเก็บ DNA จากประชาชน ถึง แม้ตำรวจหรือฝ่ายความมั่นคงอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 131/1 ก็ตาม

เพราะกฎหมายมาตรานี้ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจเก็บ DNA ผู้ต้องหาคดีอาญาที่มีโทษจำคุกมากกว่า 3 ปี ขึ้นไปเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขว่า เก็บ DNA เพื่อนำไปใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริง และต้องทำโดยพนักงานสอบสวนหรือแพทย์ที่มีความชำนาญเท่านั้น

ระหว่างวันที่ 15-16 ก.ค.2564 เจ้าหน้าที่ทหารกองร้อยทหารม้าที่ 4 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 5 ตรวจยึดยาเสพติดจำนวนมากในพื้นที่แนวชายแดนของ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และตำรวจภูธรภาค 5 สั่งการให้ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ปิดล้อม และตรวจค้นเป้าหมายยาเสพติดในพื้นที่ โดยให้จัดเก็บ DNA ของกลุ่มคนที่น่าสงสัยว่ากระทำความผิด และมีความเกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติด

ภาพ การเก็บ DNA ชาวลาหู่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ภาพ การเก็บ DNA ชาวลาหู่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ภาพ การเก็บ DNA ชาวลาหู่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

 

ต่อมา วันที่ 22 ก.ค.2564 สภ.นาหวาย จึงปิดล้อมและตรวจค้น บ้านแกน้อยหย่อมบ้านถ้ำ และ บ้านหนองเขียว ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่อาศัยอยู่ พร้อมกับเก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้มของชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านทั้ง 2 แห่ง จำนวน 51 คน เพื่อนำไปตรวจสารพันธุกรรม หรือ DNA

จากนั้นในเดือนมีนาคม 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. มีมติว่ากรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐเก็บตัวอย่าง DNA ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ จ.เชียงใหม่ ไม่ได้รับความยินยอมโดยสมัครใจ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 5 ให้ทำลายข้อมูล DNA ที่เก็บในพื้นที่ 2 หมู่บ้านออกจากฐานข้อมูล

สถานการณ์เก็บ DNA ในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย และในกลุ่มชนชาติพันธุ์ชาวลาหู่ ในจังหวัดเชียงใหม่ ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหรืออ้างความชอบธรรมใด ในการเดินหน้าเก็บ DNA ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้

ไม่ยินยอมให้เก็บ DNA ได้หรือไม่

นายมะยุ เจ๊ะนะ ผอ.สมัชชาภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) คือ หนึ่งในผู้ถูกบังคับเก็บ DNA ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 หลังจาก เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมร้านน้ำชาของเขา

เนื่องจากลูกค้าที่เข้ามาดื่มน้ำชาที่ร้าน ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ยิงถล่มป้อม ชรบ.ตำบลลำพระยา อ.เมือง จ.ยะลา ทั้งที่เขาไม่เคยรู้จัก หรือ มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าคนนี้มาก่อน

ภาพ นายมะยุ เจ๊ะนะ

ภาพ นายมะยุ เจ๊ะนะ

ภาพ นายมะยุ เจ๊ะนะ

 

นายมะยุ เล่าว่า เจ้าหน้าที่นำปืนมาจ่อที่หลังของเขา และ สั่งให้เดินนำตรวจค้นร้านน้ำชาซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นทันที นาทีนั้นเขาคิดเพียงว่า อาจตายด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่หรือผู้ร้ายที่หลบซ่อนตัวอยู่ในร้าน

แม้เจ้าหน้าที่ไม่พบความผิดปกติใดๆ ในการตรวจค้นวันนั้น แต่เขาและคนอื่นๆ ในร้านน้ำชากลับถูกควบคุมตัวไปสถานีตำรวจที่อยู่ใกล้ที่สุด ทุกคนถูกแยกสอบประวัติเพื่อหาความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัย

เจ้าหน้าที่ให้นายมะยุเซ็นเอกสารยินยอมให้เก็บ DNA โดยบอกว่า หากไม่ลงนามให้เก็บ DNA เขาและเพื่อนคนอื่นๆ จะไม่ได้กลับบ้านในคืนนี้

เขาบอกว่า เหมือนให้ DNA ไว้เป็นฐานข้อมูล ถ้าเกิดอะไรขึ้น ก็สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่า บุคคลนี้เป็นใคร หรือถ้าเกิดเสียชีวิต แล้วไม่มีบัตรประชาชนไม่มีอะไร เจ้าหน้าที่ก็สามารถจะพิสูจน์ได้ว่า คนนี้ชื่ออะไร แล้วก็มีที่อยู่ ณ ที่ใดนะครับ ซึ่งผมคิดว่าอันนี้ก็ไม่จำเป็น

เพราะว่าเราไม่ได้เป็นผู้ต้องสงสัยหรือเป็นผู้ต้องหา เราแค่นั่งร้านกาแฟ มันควรจะต้องมีการสอบสวนสืบสวนให้ชัดก่อน ไม่ใช่เหมารวม เก็บดีเอ็นเอทั้งหมดไปก่อน แล้วก็ค่อยว่ากัน

จนถึงวันนี้ นายมะยุรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อข้อมูล DNA ของตัวเองอยู่ในฐานข้อมูลของ ศพฐ.10

ผมรู้สึกว่า ตัวเองไม่ปลอดภัย ทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่า งั้นก็คุณก็ไปพิสูจน์ทราบในชั้นศาลต่อไป ผมว่าแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องที่ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงนะ มันต้องใช้เวลายาวนานพอสมควรในการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย

นายมะยุ ยังบอกอีกว่า เขาต้องการให้รัฐลบข้อมูล DNA ของเขาและประชาชนที่ถูกละเมิดเก็บ DNA เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับทุกคน โดยต้องการเห็นขั้นตอนการขอยื่นลบข้อมูลที่ชัดเจน พร้อมกับมีตัวแทนที่น่าเชื่อถือช่วยตรวจสอบว่าข้อมูล DNA ถูกลบออกจากฐานข้อมูลจริง และต้องการให้การละเมิดเก็บ DNA ในพื้นที่หมดไป เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติอย่างชัดเจน

การเก็บ DNA ส่วนใหญ่แล้วเกือบ 90-95 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวมลายูมุสลิมที่โดนเก็บ ดังนั้นผมคิดว่า มันเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง

สาระสำคัญใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ระบุว่า การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ทำไม่ได้ หากเจ้าตัวไม่ยินยอม และผู้ถูกเก็บข้อมูลมีสิทธิขอให้ลบข้อมูลของตัวเองได้

The EXIT ไทยพีบีเอส สอบถามไปยังนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ว่า ประชาชนที่ถูกบังคับเก็บ DNA สามารถขอใช้สิทธิตามกฎหมาย PDPA เพื่อลบข้อมูล DNA ในฐานข้อมูลของ ศพฐ.10 ได้หรือไม่ เขาปฏิเสธให้สัมภาษณ์ ด้วยเหตุผลว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

เด็ก-ผู้หญิง-คนชรา-ผู้ป่วย ถูกเก็บ DNA ถ้วนหน้า

อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน พบว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เก็บ DNA จากครอบครัวของผู้หลบหนี ซึ่งในที่นี้หมายถึง บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง เนื่องจากรัฐไม่มีฐานข้อมูล DNA ของบุคคลนั้นๆ

ภาพ อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ

ภาพ อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ

ภาพ อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ

 

นี่เป็นสาเหตุทำให้ ลูก ภรรยา และ พ่อแม่ของผู้หลบหนี กลายเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐมาที่บ้าน และขอเก็บตัวอย่าง DNA เพื่อใช้ประกอบการจับกุมผู้หลบหนี

จำนวน DNA ของผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ 551 คน ระหว่างปี 2562 ถึง ก.ค. 2565 เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะมีอีกจำนวนมากที่กลัวการให้ข้อมูลกับกลุ่มด้วยใจ

นอกจากนี้ กลุ่มด้วยใจยังรวบรวมสถิติเด็กและผู้หญิงที่ถูกเก็บ DNA ในช่วงปี 2559-ก.ค.2565 ได้ข้อมูลว่า เป็นเด็ก 24 คน และผู้หญิง 18 คน สถานการณ์ที่อัญชนาสะเทือนใจที่สุด คือ การเก็บ DNA จากเด็กอายุไม่ถึง 2 ขวบ เพียงเพราะพ่อของเด็กเป็นผู้หลบหนี

เธอมองว่าการเก็บ DNA จากเด็ก ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากเด็กเพื่อจับกุมหรือกล่าวหาผู้เป็นพ่อ ทั้งที่ผู้เป็นพ่อยังอยู่ในสถานะเป็นผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ความผิดตามกฎหมาย การเก็บ DNA ในเด็กเล็ก นอกจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังทำลายหลักการปกป้องคุ้มครองเด็กทั้งหมดที่กฎหมายไทยรับรอง

นอกจากนี้ ผู้หญิง ผู้สูงอายุ หรือ แม้กระทั่งผู้ป่วยติดเตียงก็ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นจากปฏิบัติการเก็บ DNA ของเจ้าหน้าที่ อัญชนาตั้งคำถามว่า บุคคลเหล่านี้ยินยอมให้เก็บ DNA จริงหรือไม่

หลังถูกเก็บ DNA หญิงชราคนหนึ่งรู้สึกว่า กลืนน้ำลายไม่ได้เลย เหมือนมีอะไรอยู่ในปากตลอดเวลา เพราะเขาถูกเก็บ DNA จากกระพุ้งแก้ม

การถูกล้วงอะไรสักอย่างเข้าไปในปาก เพื่อเก็บ DNA ให้ความรู้สึกว่าถูกตีตรา ตกเป็นผู้กระทำผิดทั้งที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ รู้สึกถูกควบคุมด้วยอำนาจที่มองไม่เห็น ทำให้พวกเขาหวาดกลัว เพราะรัฐมี DNA ของพวกเขาอยู่ และเขาก็ไม่รู้เลยว่ารัฐจะทำอะไรกับ DNA เหล่านั้น

อีกปัญหาหนึ่งที่อัญชนาพบ ระหว่างการเก็บข้อมูลของกลุ่มด้วยใจในปี 2564 คือ กรณีชายคนหนึ่งถูกเก็บ DNA 3 ครั้งภายในวันเดียว ครั้งแรกเมื่อถูกควบคุมตัวที่บ้าน ครั้งที่สองถูกเก็บที่โรงพัก และครั้งที่สามถูกเก็บในค่ายทหาร

มันทำให้เราเห็นระบบและกลไกการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เป็นระบบ ไม่บูรณาการ และไม่เคารพสิทธิส่วนบุคคล

อัญชนายังตั้งคำถามว่า ทำไมไม่พบคนในภูมิภาคอื่นๆ ถูกไล่เก็บ DNA แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รัฐกลับสามารถเก็บ DNA ใครก็ได้ โดยมองเป้าหมายเรื่องความมั่นคงมากกว่าสิทธิมนุษยชน

ถ้าเราไปดูการต่อสู้ในทางกฎหมาย อำนาจของประชาชนแทบจะไม่มีเลย เพราะว่า พยานหลักฐานต่างๆ เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้เก็บทั้งหมด และด้วยกฎหมายพิเศษ ประชาชนก็ถูกลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงทนายความ สิทธิในการประกันตัว สิทธิในการพบญาติ

ประชาชนสามารถถูกควบคุมได้ตั้งแต่ 7-48 วัน หากถามว่า เขามีโอกาสต่อสู้กับการเก็บหลักฐานเหล่านี้ไหม ตัวอย่างที่ชัดเจนที่ทำให้เห็นถึงภาพรวมคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือกรณีผู้พิพากษาที่ฆ่าตัวตาย ซึ่งท่านได้สะท้อนว่า ท่านไม่อยากตัดสินคนบริสุทธิ์ให้เป็นผู้ผิด เพราะว่าโทษถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ศพฐ.10 ยันฐานข้อมูล DNA สำคัญกับพื้นที่ชายแดนใต้

พล.ต.ต.วิสูตร นาคจู ผบก.ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 หรือ ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สัมภาษณ์กับ the EXIT ไทยพีบีเอสว่า การเก็บข้อมูลทางพันธุกรรม หรือ DNA ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เช่น จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน

พล.ต.ต.วิสูตร นาคจู ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10

พล.ต.ต.วิสูตร นาคจู ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10

พล.ต.ต.วิสูตร นาคจู ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10

 

ข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของ ศพฐ.10 ไม่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลใดๆ และมีลำดับชั้นการเข้าถึงข้อมูลที่จำกัดวงอยู่เพียงเจ้าพนักงานในห้องปฏิบัติการของ ศพฐ.10 เท่านั้น แม้แต่ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 หรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลชั้นนี้ได้

จำนวนข้อมูล DNA ทั้งหมดที่อยู่ในฐานข้อมูลของ ศพฐ.10 มีมากกว่า 200,000 คน ในจำนวนนี้มีประมาณ 190,000 คน ที่ไม่ปรากฏว่า DNA ของพวกเขาตรงกับ DNA ในวัตถุพยานที่รวบรวมได้จากที่เกิดเหตุในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมักเกิดเหตุอาชญากรรมร้ายแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบที่ดำเนินมายาวนานกว่า 18 ปี

ผบก.ศพฐ.10 บอกว่า ยิ่งมีฐานข้อมูล DNA มากเท่าไร ยิ่งส่งผลดีกับการป้องกันและปราบปรามเหตุร้ายในพื้นที่ เพราะช่วยให้เจ้าหน้าที่ไขคดีด้วยความแม่นยำ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ได้จากวิธีทางนิติวิทยาศาสตร์

เก็บ DNA “การละเมิด” หรือ “คุ้มครอง” ประชาชน?

ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ไม่ได้มองว่า การเก็บรวบรวมข้อมูล DNA ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นการละเมิดสิทธิประชาชน ตรงกันข้าม งานด้านนี้กลับคุ้มครองสิทธิประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพราะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถแยกแยะได้ว่า ใครคือผู้ก่อเหตุ หรือใครคือผู้บริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุร้ายในพื้นที่

แต่ยอมรับว่า อาจมีเจ้าหน้าที่บางคนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเขา หรือไม่ใช่เจ้าพนักงานของ ศพฐ.10 ที่มีท่าทีไม่ดีระหว่างขอเก็บ DNA จากประชาชน จนทำให้เกิดข้อร้องเรียนเรื่องการละเมิดเก็บ DNA หรือทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกถูกคุกคามระหว่างถูกเก็บ DNA

อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ ศพฐ.10 ชี้แจงจุดประสงค์การขอเก็บ DNA ต่อผู้ถูกเก็บทุกครั้ง และไม่เคยบังคับให้ประชาชนลงนามในใบยินยอมให้เก็บ DNA ตามที่เกิดข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิ พร้อมกับกำชับเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาฝึกอบรมวิธีการเก็บ DNA กับ ศพฐ.10 ให้ทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด

จากผลการอบรมผู้ปฏิบัติงานตามสถานีตำรวจภูธรต่างๆ ใน 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยผู้เชี่ยวชาญจาก ศพฐ.10 ทำให้ในปัจจุบัน มีเจ้าพนักงานที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการเก็บ DNA ประจำอยู่ทุกสถานีตำรวจในพื้นที่ชายแดนใต้

นอกจากนี้ การเก็บ DNA ซ้ำซ้อนในบุคคลเดิมๆ จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะ ศพฐ.10 ให้เจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมในประชาชน โทรศัพท์เข้ามาตรวจสอบกับ ศพฐ.10 ก่อนว่า มีฐานข้อมูล DNA ของบุคคลดังกล่าวแล้วหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลการตรวจสอบเป็นชื่อนามสกุลและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งใช้เวลาการตรวจสอบไม่ถึง 10 นาที

“ใบรับรอง” จูงใจ “ผู้ถูกเก็บ DNA”

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทาง ศพฐ.10 มีนโยบายสนับสนุนให้สถานีตำรวจทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ขอความยินยอมจากประชาชนเพื่อเก็บ DNA ผลการดำเนินงานเบื้องต้นของนโยบาย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม 2565 พบว่า สถานีตำรวจภูธรต่างๆ สามารถรวบรวมข้อมูล DNA ประชาชนทั่วไป และนำส่งมายัง ศพฐ. 10 ได้กว่า 10,000 คน

ประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานจะได้รับใบรับรองเป็นสติ๊กเกอร์ที่มีขนาดพอดีกับโทรศัพท์มือถือ เพื่อยืนยันว่า ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุร้ายใดๆ แต่ได้ให้ข้อมูล DNA กับตำรวจไว้แล้ว ใบรับรองนี้มีขึ้นเพื่อคลายความไม่สบายใจที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ถูกเก็บ DNA และเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนยินยอมให้ข้อมูล DNA กับเจ้าหน้าที่มากขึ้น

 

ผู้ที่ให้ DNA และมีสติ๊กเกอร์นี้ สามารถใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจต่างๆ เพื่อยืนยันว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังไม่มีประวัติอาชญากรรม แต่ท่าทีของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจก็ต้องเปลี่ยนด้วย เพื่อทำให้ประชาชนที่มีใบรับรองนี้ รู้สึกสบายใจ ไม่กังวล

ใบรับรองที่ออกให้กับผู้ถูกเก็บ DNA ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ยังครอบคลุมไปยังผู้ที่ถูกเก็บ DNA ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 บอกว่า ประชาชนสามารถขอสติ๊กเกอร์นี้ได้โดยเดินเข้าไปในสถานีตำรวจภูธรใกล้บ้าน และแจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ หากตรวจสอบข้อมูลแล้วว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุอาชญากรรมใดๆ ก็จะได้ใบรับรองทันที โดยใบรับรองนี้ไม่มีวันหมดอายุ สามารถใช้ได้ไปจนกว่าผู้ถูกเก็บ DNA จะกลายเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย

ด้าน น.ส.อารีเส๊าะ อาเย๊าะแซ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ยะลา ผู้ดูแลเรื่องร้องเรียนละเมิดเก็บ DNA ในจังหวัดชายแดนใต้ เห็นว่า ใบรับรองดังกล่าวไม่ใช่หลักประกันความมั่นคงปลอดภัยให้กับคนในพื้นที่แต่อย่างใด

ภาพ อารีเส๊าะ อาเย๊าะแซ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ยะลา

ภาพ อารีเส๊าะ อาเย๊าะแซ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ยะลา

ภาพ อารีเส๊าะ อาเย๊าะแซ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ยะลา

ไม่สนับสนุนให้ประชาชนยื่นลบข้อมูล DNA

เมื่อสอบถามว่า ประชาชนทั่วไปซึ่งไม่ใช่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย สามารถขอลบข้อมูล DNA ในฐานข้อมูลของ ศพฐ.10 ได้หรือไม่ ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 บอกว่า “จะลบทำไม ในเมื่อมันมีประโยชน์มากกว่าโทษ” และยืนยันว่า ประชาชนที่ไม่ยินยอมให้เก็บ DNA สามารถทำได้โดยไม่ต้องเซ็นหรือลงนามในใบยินยอมให้ตรวจเก็บ DNA ในขั้นตอนแรก ก่อนเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมบริเวณกระพุ้งแก้มทั้งสองข้าง

ขณะนี้ ยังไม่มีระเบียบใดที่กำหนดว่า หน่วยงานรัฐสามารถเก็บข้อมูล DNA ประชาชนไว้ในระบบได้กี่ปี ดังนั้น ข้อมูล DNA ของประชาชนทั้งหมดต้องถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของ ศพฐ.10 ตลอดไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

กอ.รมน.ภาค 4 สน. เห็นพ้องเก็บ DNA ทำให้ประชาชนปลอดภัย

พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ให้สัมภาษณ์กับ the EXIT ไทยพีบีเอสว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยืดเยื้อมากว่าสิบแปดปี ทางกลุ่มผู้ก่อเหตุได้สร้างสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการลอบยิง วางระเบิด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4,000 คน มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 11,000 คน ลักษณะการก่อเหตุไม่ได้ทำตามลำพังแต่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ผู้ก่อเหตุ ผู้วางแผน ผู้ให้ความสนับสนุน

พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 และรอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.

พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 และรอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.

พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 และรอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.

ดังนั้น การใช้กฎหมายปกติในพื้นที่นี้ค่อนข้างจะลำบาก นี่จึงเป็นที่มาของการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายล้วนใช้อำนาจภายใต้กฎหมายพิเศษอย่างระมัดระวังและด้วยความอดทนอดกลั้นมาโดยตลอด และเลือกใช้กฎหมายเพียงบางมาตราเท่านั้น เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิประชาชนในพื้นที่

ส่วนการนำคนร้ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือ นำไปสู่การส่งฟ้องศาล สิ่งสำคัญคือหลักฐานพยาน พยานแวดล้อมที่สำคัญคือสารพันธุกรรมหรือ DNA เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 131 เพื่อให้ศาลเชื่อว่าบุคคลนี้เป็นผู้มีส่วนร่วมกับการก่อเหตุจริง

ข้อมูล DNA ที่ ศพฐ.10 เก็บรวบรวมไว้ในลักษณะ profile เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เราสามารถชี้ตัวคนร้ายได้ หรือทำให้ศาลเชื่ออย่างสนิทใจว่าคนที่เราควบคุมตัวนั้น เป็นคนร้ายอย่างแท้จริง

รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังกล่าวต่อว่า ในกระบวนการพิจารณาของศาล ศาลจะต้องมีข้อมูลอย่างรอบคอบรอบด้าน เพื่อใช้พิพากษาลงโทษคนที่กระทำผิดได้ตรงตัว และนำไปสู่การกำหนดระยะเวลาลงโทษที่เหมาะสม

ความมั่นคง VS สิทธิมนุษยชน

เมื่อสอบถามถึงแรงเสียดทานจากประชาชนที่มองว่าการเก็บ DNA ในจังหวัดชายแดนใต้ อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. ให้สัมภาษณ์ว่า

สิทธิมนุษยชนกับความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเหมือนเป็นเส้นบางๆ การใช้กฎหมายหรือการข่าวดำเนินการต่อกลุ่มคนร้าย บางคนอาจมีความรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพ แต่เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องทำ

 

DNA ไม่สามารถเติมแต่งดัดแปลงได้ เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของบุคคล จากจุดนี้ หากมีฐานข้อมูล DNA มากๆ รัฐก็สามารถ match (จับคู่) กับสารพันธุกรรมที่เก็บรวบรวมได้จากที่เกิดเหตุเป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างล่าสุด เกิดกรณีคนร้ายวางระเบิด ทำให้ประชาชนที่ไปกรีดยางบาดเจ็บสาหัส ตอนนี้อยู่ห้อง ICU และเกิดระเบิดซ้ำ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปในที่เกิดเหตุ ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บสาหัส 1 คน

เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานก็เก็บรวบรวมวัตถุพยานหลักฐานอย่างละเอียด โดยเฉพาะ DNA เพราะคาดหวังว่า หลักฐานที่เก็บได้วันนี้ เมื่อนำไปตรวจกับฐานข้อมูล DNA ก็จะทำให้รู้ตัวคนร้าย และนำไปสู่การออกหมายจับ

รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวต่อว่า หากไม่มีการยินยอมจากผู้ถูกเก็บ DNA เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเก็บ DNA จากประชาชนได้ การเก็บ DNA ในพื้นที่มีมาตรฐานการเก็บที่ดีและปลอดภัย และใช้ข้อมูล DNA ในทางคดีเท่านั้น ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลนี้สู่สาธารณะ

การเก็บ DNA ในทหารกองเกินจังหวัดชายแดนใต้

รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. บอกว่าในปี 2566 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จะเก็บตัวอย่าง DNA จากคนที่บรรจุเป็นทหารกองเกินในกองทัพเท่านั้น ซึ่งเป็นขั้นตอนการจัดทำประวัติทหารตามปกติ โดยประสานให้ ศพฐ.10 เข้ามาดำเนินการ ขณะที่ ผบก.ศพฐ.10 บอกว่าได้รับงบประมาณจาก กอ.รมน.ประมาณ 10 ล้านบาทสำหรับงานนี้

ในปี 2562 เคยเกิดกรณีร้องเรียนบังคับเก็บ DNA ในผู้สมัครเป็นทหารกองเกินหรือทหารเกณฑ์จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลคดีความมั่นคง ซึ่งนักสิทธิฯ มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ต่อมาในเดือนเม.ย.2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เป็นครั้งแรกที่มีการเก็บ DNA ทหารเกณฑ์ในพื้นที่ชายเเดนภาคใต้ ถือว่าเป็นปีเเห่งการนำร่อง โดยเริ่มจากพื้นที่นี้ก่อน เนื่องจากมีปัญหาด้านความมั่นคง ส่วนจะขยายไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ นั้นไม่ได้มีการบังคับ

โดย พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า แจ้งให้ผู้เข้าเกณฑ์ทหารทราบก่อนแล้ว และขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี และ DNA เหล่านี้จะถูกเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลงานด้านความมั่นคง

ในปี 2563 เรื่องละเมิดเก็บ DNA ในชายแดนใต้ถูกนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563

พ.ต.อ.ดำรง ขำเปลี่ยน นักวิทยาศาสตร์ (สบ.5) เข้าชี้แจงต่อ กมธ.กฎหมายฯ ในฐานะผู้แทนของ ศพฐ.10 ให้เหตุผลกับที่ประชุมว่า การเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็นทหารเกณฑ์ ในปี 2562 เกิดจากข้อมูลการข่าวกรองที่ระบุว่า กลุ่มขบวนการผู้ก่อเหตุคัดเลือกวัยรุ่นชายอายุ 18-21 ปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ให้มาสมัครเป็นทหารกองเกิน หรือ ทหารเกณฑ์ เพื่อฝึกซ้อมความชำนาญในการใช้อาวุธประจำกาย เมื่อปลดประจำการออกไป ก็จะถูกคัดเลือกให้เข้าชุดหน่วยรบเล็กต่อไป

อย่างไรก็ตาม กมธ.กฎหมายฯ มีมติที่ประชุมในครั้งนั้นว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ตรวจเก็บตัวอย่าง DNA จากประชาชนทั่วไป ยกเว้นว่าเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ส่วนทาง ศพฐ.10 ควรมีขั้นตอนให้ประชาชนสามารถยกเลิกการจัดเก็บฐานข้อมูล DNA ได้ในภายหลัง เช่นเดียวกันกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม ที่ประชาชนสามารถขอลบข้อมูลโดยใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ปี 2540

นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเก็บ DNA ควรชี้แจงและอธิบายเหตุผลความจำเป็น รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ รวมถึงสิทธิต่างๆ ของประชาชนแก่ผู้นำท้องถิ่นเพื่อจะได้นำข้อมูลไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป

จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐยังคงเดินหน้ารวบรวมข้อมูล DNA จากประชาชน และพบปัญหาเรื่องการขอความยินยอมเก็บ DNA ขณะที่การขอลบข้อมูล DNA ในฐานข้อมูลของตำรวจ ยังไม่เกิดขึ้นจริง

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง