มาตรา 1562 ห้ามลูกฟ้องบุพการี - ความกตัญญูที่เจ็บช้ำหรือเนรคุณที่ยุติธรรม

สังคม
26 ก.ย. 65
17:39
39,083
Logo Thai PBS
มาตรา 1562 ห้ามลูกฟ้องบุพการี - ความกตัญญูที่เจ็บช้ำหรือเนรคุณที่ยุติธรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรณีข่าวลูกสาวต้องการให้พ่อรับโทษหลังจากทำแมวของตัวเองตาย ทำให้คำว่า "คดีอุทลุม" เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในโลกออนไลน์ ไทยพีบีเอสออนไลน์พาไปรู้จักคำนี้ให้มากขึ้น และสะท้อนมุมมองของกฎหมายนี้กับความรุนแรงในครอบครัว

จากกรณีที่ Facebook เพจ มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ Watchdog Thailand Foundation - WDT เผยแพร่เรื่องราวของ ลูกสาวยืนยันต้องการให้พ่อรับโทษ เหตุขโมยแมวสุดที่รักไปทิ้งแล้วปล่อยให้โดนรถชนตาย

ส่วนใหญ่จะได้ยินข่าวของ บุพการีทำร้ายลูก ฟ้องร้องเป็นคดีความต่อลูกกันนักต่อนัก แต่เรื่องราวที่ ลูกต้องการเอาผิดกับบุพการี มักจะไม่ค่อยได้ยิน หรือเกิดขึ้นในสังคมไทยมากนัก

เพราะสิทธิในการฟ้องร้องบุพการี ถูกจำกัดไว้ด้วย กฎหมายมาตรา 1562

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตาม ผู้นั้นจะฟ้องบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ชวด ที่สืบสายโลหิตโดยตรงของตนไม่ได้”

ภาษากฎหมาย เรียกว่า คดี "อุทลุม" (อ่านว่า อุด-ทะ-ลุม)

ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ผู้เป็นลูก ไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องจนเป็นคดีความทั้งทางแพ่งและอาญา ต่อ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ชวด ที่สืบสายเลือดโดยตรงของตนได้

 
เมื่อพูดกันแบบนี้ แทบจะมองไม่เห็นถึงโอกาสที่ลูกจะฟ้องร้องบุพการีได้เลย ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็ตาม


แต่กระนั้น กฎหมายจะมีข้อยกเว้นไว้ให้เสมอ นั่นคือ

แต่หากผู้นั้นมีความประสงค์ที่จะฟ้องบุพการีของตนจริงๆ ผู้นั้นเองหรือญาติสนิทของผู้นั้นจะต้องร้องขอให้อัยการเป็นผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่บุพการีเป็นฝ่ายฟ้องเป็นคดีแต่อย่างใด

แปลไทยเป็นไทยอีกได้ว่า ถ้าลูกอยากจะฟ้องบุพการีตัวเองจริงๆ ก็ต้องให้อัยการเป็นโจทก์ฟ้องให้แทน

จึงเกิดเป็นข้อสงสัย ตั้งเป็นคำถามในสังคมยุคปัจจุบันนี้ขึ้นมาทันทีว่า แล้วในยุคนี้ ยุคที่เต็มไปด้วยข่าว บุพการีทำร้ายลูก ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นเป็นข่าวแทบจะทุกวัน

ข้อมูลจากการให้บริการของ “ศูนย์พึ่งได้” ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2554 พบว่า มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการถึง 22,565 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 62 ราย หรือกล่าวได้ว่า ในทุกชั่วโมงมีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรง 3 ราย โดยเด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด

ความเสี่ยงที่เด็กในครอบครัวจะต้องทนรับกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีมากแค่ไหนและต้องนานแค่ไหน?



เมื่อเหตุเกิดจากบุพการีที่ทำร้ายเด็กในครอบครัวขึ้นมา ไม่ว่าจะทางแพ่ง เช่น ทำลายข้าวของ ทรัพย์สินส่วนตัวเสียหาย หรือทางอาญา เช่น การทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา หรือการค้ามนุษย์ พาลูกเร่ขายบริการเพื่อแลกเงิน และเด็กต้องการใช้กฎหมายเข้าช่วย เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ แต่เด็กหรือผู้เป็นลูก กลับจะต้องถูก กฎหมายมาตรา 1562 เป็นตัว "จำกัดสิทธิ์" ในการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตัวเองทุกครั้งไป


แม้กฎหมายจะเว้นช่องไว้ให้ว่า ผู้เป็นลูกสามารถร้องขอให้อัยการเป็นโจทก์ในการฟ้องร้องบุพการีได้ แต่นั่นก็หมายถึง ก่อนที่ศาลจะพิพากษาความผิดที่บุพการีได้กระทำต่อผู้เป็นลูกนั้น ผู้เป็นลูกเองจะถูกสังคมพิพากษาไปก่อนแล้วว่าเป็น ลูกเนรคุณ ลูกทรพี ลูกอกตัญญู

บางครั้ง การรวบรวมความกล้าหาญ เพื่อจะเรียกเอาความยุติธรรมกลับมาให้ตัวเอง อาจจะถูกสกัดกั้นด้วยกฎหมายที่ว่า “ลูกไม่มีสิทธิ์ฟ้องพ่อแม่” และทางจริยธรรมของสังคมว่า “ลูกเนรคุณ” ซึ่งเป็นคำถามย้อนกลับไปหาตัวเด็กเองว่า “คุ้มหรือไม่”

กฎหมายมาตรา 1562 ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นส่วนหนึ่งของ กฎหมายตราสามดวง ในยุคสมัยนั้น ใช้คำว่า “คนอุทลุม” แทนคำว่าลูกที่ต้องการฟ้องร้องต่อพ่อแม่ ซึ่งความหมายตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542

คำว่า อุทลุม หมายความว่า “ผิดประเพณี ผิดธรรมะ นอกแบบ นอกทาง” ดังนั้น ในยุคสมัยนั้นจึงมองว่า ลูกที่ต้องการฟ้องร้องต่อพ่อแม่ บุพการี เป็นคนผิดประเพณี ผิดธรรมะ นอกแบบ นอกทาง และคดีอุทลุมในสมัยอดีต นอกจากจะยกฟ้องแล้วยังให้มีบทลงโทษเฆี่ยนให้คนทั่วไปดูเป็นเยี่ยงอย่างอีกด้วย เพราะถือว่าเป็นคน “ไม่รู้จักบุญคุณพ่อแม่”

บุญคุณของพ่อแม่กับสิทธิ์ในของการเรียกร้องความยุติธรรมของลูก

หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าระบบครอบครัวในสังคมไทยยังอยู่บนพื้นฐานของคำว่า
- พ่อแม่คือผู้ให้ชีวิต
- บุญคุณพ่อแม่ใหญ่หลวง ชดใช้ทั้งชีวิตก็ไม่หมด
- ลูกที่เลี้ยงดูพ่อแม่จนแก่เฒ่าคือลูกที่ดี อนาคตจะเจริญรุ่งเรือง
- ฯลฯ

การปลูกฝังเรื่องความกตัญญูไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่เป็นเรื่องที่ดีและควรทำกับคนทุกคน และสิ่งเหล่านี้ “ไม่ใช่สิ่งที่ผิด” เพียงแต่ “ไม่สามารถใช้ได้กับทุกครอบครัว” 

บางกรณี “ความกตัญญู” ก็กลายเป็นดาบสองคม เป็นเครื่องจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึงความยุติธรรมของลูก หรือเด็กในครอบครัว มากไปกว่านั้น การมีอยู่ของกฎหมายมาตรานี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ลูก หรือเด็กในครอบครัวต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวแบบที่หาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ และอาจนำไปความรุนแรงต่อสังคมในรูปแบบอื่นๆ

หรือแม้กระทั่งการปลูกฝังความคิดให้กับตัวเด็กเองว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่มีช่องทางที่ทำให้เด็กได้เห็นว่า ตัวเองสามารถเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเองได้

การให้ความรู้ การรณรงค์ ปลูกฝังความคิดที่ว่า ครอบครัวต้องเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการปลูกฝังชุดความคิดที่ดี พื้นฐานจิตใจที่อ่อนโยน มีเมตตา การให้เกียรติ ให้อภัยซึ่งกันและกันกับบุคคลในครอบครัว เพื่อลดโอกาสการสร้างความรุนแรงในครอบครัว

จึงอาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่อาจจะทำให้แฮชแทค #ครอบครัวไม่ใช่SafeZone หรือ ตัวเลขของผู้ป่วยทางจิตเวช โรคซึมเศร้า การก่ออาชญากรรมอื่นๆ ลดลงได้ หรืออาจจะส่งผลให้การมีอยู่ของกฎหมายมาตรานี้ ไม่มีความหมายในสังคมสมัยนี้อีกต่อไป


ที่มา :
www.moj.go.th/view/54547
www.new.camri.go.th/infographic/73?skin=no
www.thaihealth.or.th
www.amnesty.or.th/latest/blog/980/

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง