บทวิเคราะห์ : “บิ๊กตู่” จะเดินหน้าต่ออย่างไร

การเมือง
3 ต.ค. 65
16:03
289
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : “บิ๊กตู่” จะเดินหน้าต่ออย่างไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังพ้นปม 8 ปี บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปี 60 จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร คือคำภามที่เชื่อว่า มีคนจำนวนไม่น้อยอยากจะทราบ

เบื้องต้นที่เดินหน้าต่อแน่ ๆ ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มดังเดิม คือการจัดประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค วันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่จะได้จับมือกระทบไหล่ผู้นำจากนานาประเทศอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งความหวังไว้

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญว่า จะตัดสินใจเรื่องยุบสภาหรือไม่ อย่างไร จะเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2565 หรือต้นปีหน้า หรือจะยื้อจนใกล้จะครบวาระของรัฐบาลวันที่ 23 มีนาคม 2566 ทั้งนี้เชื่อว่า จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภายในประเทศ และปัจจัยต่าง ๆ ในเชิงทางการเมืองว่าจะเป็นอย่างไร

ที่สำคัญไม่แพ้กัน คงหนีไม่พ้น เรื่องการเลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินหน้าต่ออย่างไร เพราะหากดูจากท่าทีและจากการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังศาลรัฐธรรมนูญให้ไปต่อ บนเก้าอี้นายกฯ บ่งบอกนัยต้องการไปต่อ เพื่อขับเคลื่อนสานต่อนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่ได้ริเริ่มไว้

แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บนเก้าอี้นายกฯ ได้อีกเพียงประมาณ 2 ปี แต่ในอีกมุมหนึ่ง สามารถนำไปเป็นจุดขาย หรือเป็นประเด็นเดินหน้า สำหรับการไปต่อ คือทำงานได้อย่างต่อเนื่องสมบูรณ์ สานต่องานได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาไปศึกษาเรียนรู้อะไร

ปัญหาถัดมาคือ หากต้องการไปต่อ สำหรับศึกเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่ออย่างไร ในฐานะแคนดิเดทนักการเมืองจากการเสนอชื่อของพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคการเมืองอื่น

เพราะพรรคพลังประชารัฐ โดยนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.8 สมัย จ.นครสวรรค์ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้ออกโรงหนุน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคด้วย แทนที่จะส่งเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียว มิหนำซ้ำเสนอให้ลดสถานะไปเป็นรองนายกฯหรือรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมหรือมหาดไทย

แม้แนวคิดนี้จะถูกปฏิเสธจากแกนนำในพรรคที่ถือได้ว่าเป็นสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า มีปัญหาเรื่องความไม่เป็นเอกภาพเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐแล้ว

และหากสังเกตให้ลึกลงไป จะพบว่าเป็นแกนนำที่อยู่คนละกลุ่มกับ ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า เมื่อครั้งยังเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และเป็นกลุ่มเดียวกับที่ออกโรง “ตีกัน”ในข่าวที่ว่า กลุ่ม ร.อ.ธรรมมนัส จะย้ายกลับเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิม

เพราะส่วนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยที่พรรคจะเสนอเฉพาะชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดทนายกฯ คนเดียว ขณะที่พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรคแท้ๆ และเป็นที่ดูแลส.ส.ในพรรคมาแต่ไหนแต่ไร กลับไม่ได้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกฯเหมือนกับพรรคการเมืองอื่น ๆ

ทั้ง ๆ ที่ได้แสดงฝีมือให้เห็นแล้วในช่วงรักษาการนายกฯ 38 วัน ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องพักการทำหน้าที่นายกฯ ปรากฏว่า สถานการณ์ทั่วไปไม่มีปัญหาอะไร

แถมยังมีเสียงชื่นชม “บิ๊กป้อม” ทั้งในการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชาวบ้านที่เดือดร้อน และได้ประสานการทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วมกับส่วนอื่น โดยเฉพาะกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เท่ากับสอบผ่านการทดลองงานบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย เชื่อกันแต่ต้นว่า อยากเจอกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำและเป็นจุดขายหลักของขั้วรัฐบาลในสนามเลือกตั้ง ส.ส.มากกว่าจะเป็นคนอื่น เพราะรู้จุดเด่นจุดด้อยดี รู้วิธีจะรับมือดีว่าต้องทำอย่างไร

ยังไม่นับในสนามเลือกตั้ง ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร พรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ประกาศชูหัวหน้าพรรคเป็นจุดขายและเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีแล้วก่อนหน้านี้

ทางเดินหน้าไปต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงยังเป็นคำถามปริศนา ที่จะไม่มีใครให้คำตอบได้ดีที่สุด เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ เอง

 

ประจักษ์ มะวงศ์สา รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง