ระดับน้ำปิงเริ่มต่ำกว่าตลิ่ง - "ชุมชนป่าพร้าวนอก" จุดรับน้ำหนักสุด

ภัยพิบัติ
5 ต.ค. 65
07:50
409
Logo Thai PBS
ระดับน้ำปิงเริ่มต่ำกว่าตลิ่ง - "ชุมชนป่าพร้าวนอก" จุดรับน้ำหนักสุด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ย่านช้างคลาน เทศบาลนครเชียงใหม่ น้ำลดลงต่อเนื่อง แต่พื้นที่ลุ่มต่ำน้ำยังท่วมขัง ระดับน้ำปิงเริ่มต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ขณะที่ "ชุมชนป่าพร้าวนอก" จุดรับน้ำปิงหนักที่สุด

วันนี้ (5 ต.ค.2565) สถานการณ์น้ำท่วมในเชียงใหม่เมื่อเวลา 07.00 น. ที่สถานี P67 (แม่น้ำปิง ที่บ้านแม่แต อ.สันทราย) ระดับน้ำ 2.45 เมตร ต่ำกว่าระดับวิกฤตแล้ว ในขณะที่ สถานี P1 (แม่น้ำปิง ที่สะพานนวรัฐ เมืองเชียงใหม่) ระดับน้ำ 3.78 เมตร ยังสูงกว่าระดับวิกฤต 0.08 เมตร แต่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

คาดการณ์จากสำนักงานชลประทานที่ 1 ว่าน้ำในวันนี้จะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์จากประสบการณ์ของประชาชน และหน่วยงานท่องถิ่นในพื้นที่

"ชุมชนป่าพร้าวนอก" จุดรับน้ำปิงหนักที่สุด ข้าวมื้อแรกตอนบ่ายสอง

เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2565 ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่ชุมชนหนองหอยยาวไปถึงชุมชนป่าพร้าวนอก เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เพื่อสำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมร่วมกับทีมอาสากู้ภัยท้องถิ่น

บริเวณแยกหนองหอย ถ.เชียงใหม่-ลำพูน ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ถือเป็นจุดรวมพลของหน่วยงานราชการ เอกชน จิตอาสา จุดรับ-ส่ง น้ำเปล่า ข้าวกล่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนเกือบ 1,000 ครัวเรือน ที่ติดอยู่ภายในชุมชนบริเวณนี้

หน่วยงานต่างๆ บูรณาการร่วมกัน ให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในท้องที่ เช่น

- รถพยาบาลจากโรงพยาบาลในพื้นที่น้ำท่วม ออกมาจอดรถบริเวณแยกหนองหอยคอยให้บริการปฐมพยาบาลผู้ป่วย
- หน่วยงานรัฐ เอกชน มูลนิธิกู้ภัย คอยอำนวยความสะดวก รับส่งประชาชน
- อาจารย์ นักศึกษาจิตอาสา จากหลายโรงเรียน ส่งข้าว-น้ำ ให้ประชาชน
- ตำรวจจราจร

ซึ่งบนถนนเส้นนี้มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งโรงพยาบาล โรงแรม ปั๊มน้ำมัน ตลาดสด โรงไฟฟ้า และต้นยางริมถนนนับร้อยต้น ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของถนนเส้นนี้

จากการสอบถามหน่วยงานที่ให้การดูแลประชาชน ส่วนใหญ่ได้รับข่าวสารเรื่องระดับน้ำ จากการรายงานภายในกันเอง และตรวจสอบเพิ่มเติมจากโลกออนไลน์บ้าง

เช่นเดียวกับประชาชนในพื้นที่ บอกกับทีมงานไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า

มีเสียงตามสายของเทศบาลบอกข่าว และแจ้งให้เตรียมตัวตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. แล้ว และมีการส่งต่อกันในไลน์กลุ่มมาเรื่อยๆ

จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม มีการเตรียมตัวค่อนข้างดี ย้ายรถยนต์ไปจอดข้างทางที่มีการประกาศอนุญาตให้จอดชั่วคราวได้ เก็บข้าวของขึ้นที่สูง แต่ไม่มีใครอพยพออกจากบ้าน ต่างเชื่อว่าน้ำจะท่วมเพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น ประกอบกับไม่มีฝนตกหนักในพื้นที่ เพียงแต่ต้องเฝ้าระวังน้ำจากสถานี P67 ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ไหลตามแม่น้ำปิงลงมาเท่านั้น

ทีมข่าวร่วมเดินทางโดยเรือ พร้อมกับเจ้าหน้าที่กู้ภัย เข้าสำรวจเพิ่มเติมในชุมชนป่าพร้าวนอก ซึ่งเป็นชุมชนที่ใกล้เคียงกับชุมชนหนองหอย มีแม่น้ำปิงกั้นกลาง โดยชาวบ้านได้ให้ข้อมูลว่า

พื้นที่นี้จะเป็นจุดแรกและหนักที่สุดของพื้นที่ในเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก่อนเสมอ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ตลิ่งเป็นดินอ่อน ไม่สามารถสร้างพนังกั้นน้ำได้ เมื่อน้ำในแม่น้ำปิงล้นออกมา จึงไหลมาทางบ้านป่าพร้าวนอกก่อนเป็นที่แรก

ทีมข่าวสำรวจพบว่า ภายในซอยลึกเข้าไปในชุมชน มีบ้านเรือนประชาชนอีกหลายหลังคาเรือนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือในเรื่องของอาหาร น้ำดื่ม เป็นเวลากว่า 2 วันแล้ว บางบ้านจำเป็นต้องเดินลุยน้ำไปร้านสะดวกซื้อบนถนนใหญ่ หรือจ้างรถต่อไปส่งตลาดสด ของที่ซื้อมาคาดว่าใช้สอยประมาณ 2-3 วัน เพราะมั่นใจว่า อีกไม่นานน้ำก็ลดแล้ว

ส่วนบ้านที่ไม่สามารถออกไปได้ ได้แต่รอคอย และดีใจเมื่อเห็นเรือของทีมข่าว เพราะเข้าใจว่าเป็นเรือของหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ หลังจากทีมข่าวทราบเรื่อง จึงได้ประสานงานเพื่อให้หน่วยงานอื่น เข้าให้ความช่วยเหลือ จนได้ทราบว่า ประชาชนในพื้นที่ได้รับอาหารแล้วช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. ซึ่งเป็นข้าวมื้อแรกของวัน

เมื่อเปรียบเทียบระดับน้ำของ 2 ชุมชน ทั้งชุมชนหนองหอยที่อยู่ทางตะวันออกของเชียงใหม่ และชุมชนป่าพร้าวนอกทางตะวันตกของเชียงใหม่ ทีมงานสังเกตได้ว่า ระดับน้ำของบ้านเรือนที่อยู่บริเวณใกล้ถนนใหญ่จะไม่สูงมากนัก ประมาณ 10-20 เซนติเมตร แต่ถ้าเข้าไปในซอยลึกๆ ระดับน้ำสูงถึง 1 เมตร เนื่องจากไม่มีทางระบายน้ำและเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง