ตร.ไซเบอร์ จับ 2 ผู้ต้องหาเครือข่าย "แก๊งคอลเซนเตอร์" ต่างชาติ

อาชญากรรม
5 ต.ค. 65
14:29
322
Logo Thai PBS
ตร.ไซเบอร์ จับ 2 ผู้ต้องหาเครือข่าย "แก๊งคอลเซนเตอร์" ต่างชาติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจไซเบอร์ จับแก๊งคอลเซนเตอร์ในไทย ยึดซิมบ๊อกซ์ 38 เครื่อง ที่ใช้เชื่อมต่อการโทรผ่านอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศ พบว่า 1 เครื่องใส่ซิมได้ 32 ซิม สามารถสุ่มโทรหาผู้อื่นได้วันละกว่า 6 แสนครั้ง

วันนี้ (5 ต.ค.2565) ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ควบคุมตัว 2 ผู้ต้องหา หลังเข้าตรวจค้นภายในห้องพักแห่งหนึ่งภายใน อ.ชุมพร จ.ชุมพร หลังสืบสวนพบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 คนร่วมกับแก๊งคอลเซนเตอร์ในต่างประเทศเช่าห้องพักในไทยเพื่อนำอุปกรณ์โทรศัพท์มาติดตั้งไว้

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการ สอท. เปิดเผยว่า ตำรวจร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ตรวจสอบการโทรศัพท์ผิดปกติในพื้นที่ จ.ชุมพร เมื่อสืบสวนจนแน่ชัดก็พบว่า ผู้ต้องหาเช่าห้องพัก 11 จุด ในพื้นที่ จ.ชุมพร

นอกจากนี้ ยังพบเครื่อง GSM Gateways หรือ ซิมบ๊อกซ์ ซึ่งเป็นเครื่องแปลงสัญญาณโทรศัพท์แบบใส่ซิมการ์ด จำนวน 38 เครื่อง โดยซิมบ๊อกซ์ 1 เครื่องสามารถใส่ซิมการ์ดได้จำนวน 32 ซิม ทำให้สามารถสุ่มโทรศัพท์หาบุคคลอื่นได้วันละกว่า 6 แสนครั้ง

สำหรับการทำงานของกลุ่มผู้ต้องหาจะควบคุมเครื่องผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศ ซึ่งมีกล้องวงจรปิดติดไว้ตรวจสอบการทำงานของเครื่องตลอด 24 ชม.โดยให้ผู้ต้องหา 2 คน เป็นผู้ดูแลเครื่อง

ที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มผู้ต้องหาแก๊งคอลเซนเตอร์พัฒนารูปแบบการหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา จากก่อนหน้านี้ตั้งเครือข่ายอยู่ตามแนวชายแดน ปัจจุบันได้เข้ามาถึง จ.ชุมพร

ส่วนการสร้างเรื่องหลอกลวงก็จะมีหลายรูปแบบที่ต่างกันไป ทั้งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและบริษัทรับส่งพัสดุ โดยผู้ที่กำหนดจะอยู่ในต่างประเทศ

ขณะที่ พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รองผู้บัญชาการ สอท.เปิดเผยว่า สาเหตุที่กลุ่มผู้ต้องหากระจายจุดวางเครื่องซิมบ๊อกซ์ไว้ใน 10 จุด เนื่องจากเครื่องดังกล่าวต้องใช้ระบบอินเทอร์เน็ตร่วมด้วย หากนำเครื่องมารวมไว้ในที่เดียวกันจำนวนมากสัญญาณจะรบกวนกัน

สำหรับเครื่องซิมบ๊อกซ์ดังกล่าว พบว่า นำเข้ามาจากทางชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้จับผู้ต้องหาในเครือข่ายเดียวกันมาแล้วใน จ.ชลบุรี ซึ่งพบว่ามีหลักการทำงานคล้ายกัน

ขณะที่ตัวแทนของ บ.เอไอเอส เปิดเผยว่า เครื่องซิมบ๊อกซ์สามารถขออนุญาตนำเข้ามาจากต่างประเทศได้ ส่วนใหญ่จะมีการนำมาใช้ในธุรกิจการโทรศัพท์ไปต่างประเทศเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแต่กลุ่มผู้ต้องหาได้นำมาดัดแปลงก่อเหตุเพื่อหลอกลวงผู้อื่น

ส่วนซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัจจุบันมีข้อกำหนดให้ผู้เปิดใช้บริการต้องลงทะเบียนได้เพียง 5 เบอร์ต่อ 1 คน ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้จำกัดจำนวนการซื้อซิม

สำหรับผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีในข้อหามีเครื่องโทรคมนาคมไว้ใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายผลถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเครือข่ายที่ก่อเหตุอยู่ในต่างประเทศ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง