สภาพอากาศสุดขั้ว-การพัฒนาเมือง ปัจจัยหลักน้ำท่วมเชียงใหม่ 2565

ภัยพิบัติ
7 ต.ค. 65
12:49
888
Logo Thai PBS
สภาพอากาศสุดขั้ว-การพัฒนาเมือง ปัจจัยหลักน้ำท่วมเชียงใหม่ 2565
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"รศ.ชูโชค อายุพงศ์" วิเคราะห์ถึงปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมทั้งทางตรง ทางอ้อม ต่อเมืองเชียงใหม่

กว่า 3 วันที่ตัวเมืองเชียงใหม่ต้องประสบกับสถานการณ์น้ำท่วม ไทยพีบีเอสออนไลน์ ร่วมพูดคุยกับ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการด้านภัยพิบัติธรรมชาติ ม.เชียงใหม่ วิเคราะห์ถึงปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรง ทางอ้อม ต่อ จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบันและอนาคต

ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่

ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.2565 สถานการณ์น้ำท่วมของเชียงใหม่ เรื่มเข้าสู่ภาวะ Big cleaning แล้ว น้ำที่ท่วมในเขตเทศบาลเชียงใหม่ลดลงหมดแล้ว เช่นที่ บ้านป่าพร้าวนอก บ้านเวียงทอง ที่เป็นจุดโซน 1 (จุดเสี่ยงน้ำท่วมเป็นที่แรก) น้ำก็ไหลลงแม่น้ำปิงแล้ว

ส่วนน้ำที่ไหลไปตามพื้นที่เชียงใหม่ตอนล่างซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำหรือแอ่งกระทะ ก็จะพบน้ำขัง น้ำไม่สามารถไหลออกสู่แม่น้ำเองได้ ก็ต้องใช้เครื่องสูบมาช่วย ให้ลงคลองแม่ข่า ลงแม่น้ำปิงตามไป แต่ถ้าน้ำในแม่น้ำปิงยังไม่ลดลงมากพอ ก็ไม่สามารถจะสูบน้ำจากพื้นที่แอ่งกระทะได้ทันที ต้องรอไปก่อน

แต่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับพื้นที่ลุ่มต่ำเท่านั้น และจะเกิดยาวต่อๆ กันไป ตั้งแต่ เขตเทศบาลเมือง และ อำเภอต่างๆ เช่น สารภี แม่กลาง สันป่าตอง ดอยหล่อ จอมทอง

การเตรียมการคือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ต้องเร่งสำรวจพื้นที่เพื่อรองรับน้ำที่จะมา คำนวณว่าต้องการเครื่องสูบน้ำกี่เครื่อง และทำเรื่องขอใช้ต่อจากเทศบาลได้ เพราะตอนนี้น้ำในตัวเมืองแห้งหมดแล้ว ก็สามารถนำไปใช้ต่อได้

การพัฒนาเมืองส่งผลต่อน้ำท่วม

100% อย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเมื่อ 100 ปีก่อน ความกว้างแม่น้ำปิงกว้างกว่านี้ 2 เท่า แต่เมื่อมีคนเข้ามา เมืองถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีการวางผังเมืองที่ดี ก็ย่อมส่งผลให้แม่น้ำหรือพื้นที่รับน้ำถูกรุกราน เมื่อพื้นที่รอบๆ แม่น้ำลดลง แต่ปริมาณน้ำยังเท่าเดิม ความสูงของน้ำในลำน้ำก็ย่อมมากขึ้น ง่ายขึ้นตาม โอกาสน้ำล้นออกจากตลิ่งก็มีมากไปด้วย

สิ่งเหล่านี้จะเกิดกับเมืองเก่าๆ ที่สร้างเมืองแบบไม่มีการวางแผนกับเส้นทางน้ำ ยกตัวอย่าง จีน หรือ ไต้หวัน ที่สร้างเมืองใหม่ จะมีการวางแผนผังเมืองไว้อย่างดี และแทบไม่ค่อยได้ยินข่าวน้ำท่วมในเมืองเลย

น้ำท่วมเชียงใหม่ 2565 และ 2554

จากการพูดคุยกับประชาชน ผู้ประสบภัยหลายๆ คน ทีมงานไทยพีบีเอสออนไลน์สังเกตว่า ทุกคนเปรียบเทียบกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 ทั้งนั้น ต่างก็บอกว่าท่วมไม่สูงเท่า แต่กระทบเป็นวงกว้าง สอดคล้องกับการวิเคราะห์จาก อ.ชูโชค แนวทางเดียวกันว่า ในปี 2554 เชียงใหม่โดนอิทธิพลจากพายุเข้าโดยตรง ทำให้มีฝนตกหนักมากและน้ำท่วมเร็ว แต่ในปี 2565 เชียงใหม่โดนเพียงอิทธิพลจากหางของพายุโนรูเท่านั้น ทำให้มีฝนตกหลายวัน

แต่ในขณะเดียวกัน น้ำที่ค้างในดินและในลำคลอง ก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้น้ำในลำน้ำปิงเต็มไว จากภาพรวมทั้งหมดทำให้วิเคราะห์ได้ว่า ระดับความสูงของน้ำที่ท่วม ปี 2554 สูงกว่า แต่ระดับความท่วมถึงพื้นที่นั้น กระจายพอๆกันทั้ง 2 ปี

สาเหตุอีกข้อคือ “สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว” ที่ทำให้โลกทั้งโลกอากาศแปรปรวนไปหมด ถ้าในตกก็จะตกไม่ยอมหยุด แต่ถ้าปีไหนที่ไม่ตกก็ไม่ตกเลย เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดห่างจากปี 2554 ถึง 11 ปี แม้จะมีการคาดการณ์จากนักวิชาการด้านภูมิอากาศหลายคนว่า น้ำท่วมใหญ่จะเกิดทุกๆ 10 ปี แต่ อ.ชูโชค มองว่า อาจจะมีโอกาสเกิดถี่ขึ้นก็ได้ในอนาคต ไม่เฉพาะในเชียงใหม่ และกระทบทั่วโลกแน่นอนเกิด

การรับมือกับน้ำท่วม

  • รับมือด้วยสิ่งปลูกสร้าง เช่น พนังกั้นน้ำ แต่พนักกั้นน้ำก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีมากนัก และเชียงใหม่เองก็เป็นเมืองท่องเที่ยว คงไม่เหมาะสมถ้าต้องสร้างพนังกั้นน้ำขึ้นมา แล้วคนต้องไปปีนเพื่อดูน้ำในแม่น้ำปิง หรือสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน แต่ในขณะนี้จะหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับทางน้ำไหลก็คงยาก และนักอนุรักษ์คงต่อต้านด้วย
  • รับมือด้วยสิ่งไม่ปลูกสร้าง เช่น
    - การทำระบบผังเมืองให้สอดคล้องกับทางน้ำ ทำเส้นทางระบายน้ำให้ดีขึ้น
    - การเตือนภัย ให้ความรู้ประชาชน ทั้งเรื่อง การอพยพเมื่อน้ำมา การจัดพื้นที่ที่อยู่อาศัย
    - เรื่องประกันภัยต่างๆในสถานการณ์น้ำท่วม

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง