การผลิตสื่อซ้ำ = การผลิตอาชญากรซ้ำ

อาชญากรรม
9 ต.ค. 65
13:45
853
Logo Thai PBS
การผลิตสื่อซ้ำ = การผลิตอาชญากรซ้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทุกครั้งที่ไทยผ่านเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ๆ มา “สื่อไทย” ปฏิรูปการนำเสนอข่าวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อแสดงความเคารพผู้สูญเสีย อีกส่วนหนึ่งเพื่อลดการเป็นแรงจูงใจให้คนกระทำผิดเลียนแบบ ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานพิเศษ การใช้สื่อให้สร้างสรรค์เพื่อลดการเลียนแบบ

การผลิตสื่อซ้ำ = การผลิตอาชญากรซ้ำ

ทุกครั้งที่ไทยผ่านเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ๆ มา “สื่อไทย” ปฏิรูปการนำเสนอข่าวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อแสดงความเคารพผู้สูญเสีย อีกส่วนหนึ่งเพื่อลดการเป็นแรงจูงใจให้คนกระทำผิดเลียนแบบ ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานพิเศษ การใช้สื่อให้สร้างสรรค์เพื่อลดการเลียนแบบ

ในปี พ.ศ.2561 เกษตรกรสวนสตรอว์เบอร์รีทั่วประเทศออสเตรเลีย ต้องตัดสินใจทำลายผลผลิตของตัวเองทิ้ง เนื่องจากมีรายงานพบ “เข็มเย็บผ้า”ในผลสตรอว์เบอร์รีจำนวนมาก

จากเข็มเย็บผ้าในสตรอว์เบอร์รี เริ่มลามไปสู่ แอปเปิล กล้วย หรือแม้แต่มะม่วง และจากเข็มเย็บผ้าในสตรอว์เบอร์รีจากรัฐควีนส์แลนด์ ก็ลามไปทั่วประเทศออสเตรเลีย มีรายงานการพบเจอเข็มเย็บผ้าในผลไม้มากกว่า 100 ราย

นักจิตวิทยาและนักอาชญาวิทยาของออสเตรเลีย ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ก่อเหตุไม่ได้คาดหวังให้มีอันตรายถึงชีวิต หรือไม่ได้มุ่งจะทำร้ายใครคนใดคนหนึ่ง

แต่การกระทำแบบนี้คือการพยายามลอกเลียนแบบ หรือการก่ออาชญากรรมเลียนแบบ บางคนเพียงเพื่อต้องการอวดผลงานลงในสื่อสังคมออนไลน์ หรือบางคนก็ต้องการเพียงชื่อเสียงผ่านหน้าจอทีวีในเชิงลบ

จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่า “สื่อ” มีบทบาทอย่างไรกับการจูงใจคนให้กระทำความผิดด้วยการเลียนแบบ

Copycat crime (อาชญากรรมเลียนแบบ)

คำว่า “Copycat” เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว หลังจากที่นักอาชญาวิทยาสังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการรายงานของสื่อเกี่ยวกับการฆาตกรรม 11 ครั้ง ของเหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง “Jack the ripper” ที่เกิดในลอนดอนระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ.2431 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2434

เนื่องจากสมัยนั้นเป็นยุคที่หนังสือพิมพ์เฟื่องฟู ยิ่งมีการรายงานถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมหญิงโสเภณีที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุได้ ยิ่งทำให้ฆาตรกรรู้สึกนำหน้าสื่อและตำรวจไปหนึ่งก้าว

นอกจากนั้น ยังพบเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน แต่เป็นการปลิดชีพตัวเองตามนวนิยาย “The Sorrows of the Young Werther” ในปี พ.ศ.2317 นวนิยายที่พูดถึงความรักที่ไม่สมหวังและจุดจบของชายชื่อ Werther

ซึ่งต่อมาทำให้ชายหนุ่มทั่วยุโรปเลียนแบบพฤติกรรมตามตัวละคร Werther จำนวนมาก นวนิยายเล่มนี้ถูกสั่งห้ามนำเข้าในเยอรมนี อิตาลี และเดนมาร์ก ในเวลาต่อมา

อันตรายจาก Copycat crime

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนาได้ศึกษาเรื่อง การสังหารหมู่และการกราดยิงที่โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาที่เป็นผลจากการลอกเลียนแบบ จากการศึกษาฐานข้อมูลต่างๆ และได้ข้อสรุปว่า “เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหมือนการติดเชื้อโรค”

ที่ถึงแม้จะไม่เหมือนกับความเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย แต่พฤติกรรมเลียนแบบเช่นนี้จะนำไปสู่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นซ้ำๆ อีกในอนาคตอันใกล้ และมีความเป็นไปได้ที่โอกาส การสังหารหมู่ครั้งที่ 2 อาจเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์นับจากครั้งแรก

นอกจากนั้น ยังพบอีกว่าร้อยละ 20-30 ของการก่อเหตุ มักได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในอดีตที่ถูกเผยแพร่อย่างหนักจากสื่อ

Andre Simons นักวิเคราะห์พฤติกรรมของ FBI ได้ข้อสรุปในทำนองเดียวกันว่า บุคคลในกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมเลียนแบบมากที่สุด หลังจากศึกษาเหตุการณ์ “Active Shooter” มากกว่า 160 เหตุการณ์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์พฤติกรรมสรุปว่า "เราควรมีการจำกัดการเข้าถึงเหตุอาชญากรรมในอดีตให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการก่อเหตุจากพฤติกรรมเลียนแบบ”

Copycat crime กับ ปัญหาสุขภาพจิต

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตหลายคนยืนยันว่า ปัญหาสุขภาพจิต ก็เป็นอีกสาเหตุหลักในการก่อเหตุอาชญากรรมเลียนแบบ โดยบุคคลที่มีบุคลิกก้าวร้าวอยู่แล้ว จะยิ่งถูกกระตุ้นได้ง่ายถ้าเห็นคนอื่นทำในแบบที่เขาคิด ยิ่งถ้าเห็นว่าได้รับรางวัล ก็จะยิ่งกระตุ้นให้ทำไวขึ้น

รางวัลในที่นี้ ไม่ใช่ถ้วยรางวัล เหรียญรางวัลแต่อย่างใด แต่การได้มีรูปถ่ายใบหน้าตนเองในสื่อ การถูกพูดถึงในวงสังคมเป็นวงกว้าง นั่นต่างหาก คือรางวัลสำหรับอาชญากรเลียนแบบ

Loren Coleman ผู้เขียนหนังสือ “The Copycat Effect : How the Media and Popular Culture Trigger the Mayhem in Tomorrow's Headlines” สรุปว่าการเผยแพร่เหตุอาชญากรรมต่างๆ ของสื่อ สื่อมักเพิกเฉยต่อสุขภาพจิตของผู้รับสาร การนำเสนอรายละเอียดต่างๆ ของผู้กระทำผิดอาจเป็นการชักชวนให้ผู้รับสารทั่วไปอยากเลียนแบบได้โดยไม่ตั้งใจ

Coleman อธิบายเพิ่มเติมว่า อาชญากรเลียนแบบ มักนำเอาตัวตนของผู้ที่เขาเลียนแบบมาใช้ สิ่งนี้เรียกว่า “Depersonalisation หรือ การสูญเสียตัวตน” ซึ่งทำให้เกิดการไม่ยับยั้งใจตัวเองในการกระทำผิด

อิทธิพลของสื่อ

นักสังคมวิทยา Zeynep Tufekci ชาวตุรกี ชี้ให้เห็นว่าอาชญากรรมเลียนแบบกำลังเพิ่มขึ้นตามการแพร่กระจายของสื่อดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกสังคมออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และได้เสนอข้อแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรรมเลียนแบบ ได้แก่

- อย่าใส่อารมณ์ ความรู้สึก ในการสื่อสารข่าวอาชญากรรมต่อสาธารณะ
- หลีกเลี่ยงการเปิดเผยทั้งรายละเอียด วิธีการก่ออาชญากรรม และชื่ออาชญากร
- หลีกเลี่ยงการพูดถึง ทัศนคติ สาเหตุ แรงจูงใจ พฤติกรรมของอาชญากร เพื่อลดการผลิตซ้ำ
- เน้นย้ำผลกระทบของอาชญากรรมที่มีต่อเหยื่อ ผู้เป็นที่รัก และสังคมโดยรอบ
- ปัจจัยป้องกัน เช่น สายด่วน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา ข้อบังคับใช้ กฎหมายต่างๆ

Tufekci ชี้ให้เห็นว่าการใช้ “สื่อ” ในทางสร้างสรรค์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนในยามวิกฤตได้ ตัวอย่างกรณีนี้คือ Richard Engel นักข่าวต่างประเทศของสำนักข่าว NBC ผู้สื่อข่าวคนนี้และพวกอีก 5 คน ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายลักพาตัวในซีเรีย ในขณะที่ยืนรายงานข่าวอยู่ เมื่อปี พ.ศ.2555 เพื่อแลกกับการปล่อยตัวนักโทษชาวซีเรียในสหรัฐฯ

แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นที่รู้กันในวงการสื่อของอเมริกาและทั่วโลก แต่สื่อต่างๆ กลับไม่นำเสนอข่าวใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้เลย เพื่อต้องการให้กลุ่มผู้ทำงาน NBC กลุ่มนี้มีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด และการเพิกเฉยต่อข่าวนี้ก็ทำให้ NBC ได้กลุ่มทำงานนี้กลับมาอย่างปลอดภัย

Tufekci ให้เหตุผลว่าการเปลี่ยนแปลงของสื่อ จะไม่เท่ากับการเซนเซอร์ หรือครอบงำสื่อ แต่จะส่งผลให้มีการรายงานข่าวที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ซึ่งจะสามารถลดโอกาสเกิดอาชญากรรมเลียนแบบได้

เราจะหยุด Copycat crime ได้อย่างไร?

มีผลการศึกษาทั่วโลกสรุปตรงกันว่า เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมขึ้น ยิ่งสื่อนำเสนอรายละเอียดของเหตุการณ์ ทั้งภาพใบหน้า ชื่อ ที่อยู่ รวมถึงวิธีการลงมือ การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ก่อเหตุ มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดอาชญากรรมเลียนแบบครั้งต่อไปก็มีมากเท่านั้น และจะรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

จากการศึกษาพบว่า ผู้ก่อเหตุจะมองเห็นพฤติกรรมบางอย่างจากสื่อ ที่ทำให้รู้สึกว่ามีความเชื่อมโยงกับตนเอง จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะลงมือทำให้สำเร็จ ซึ่งหากสื่อยังให้ความสำคัญต่อการบรรยายรายละเอียดของอาชญากร ก็เท่ากับ สื่อเป็นผู้สอนวิธีการเป็นอาชญากรเลียนแบบทางอ้อมนั่นเอง

การลดการเผยแพร่ ภาพ รายละเอียด ขั้นตอนการลงมือก่อเหตุ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ “สื่อ” จะช่วย “หยุด” ปัญหาอาชญากรรมเลียนแบบในสังคมให้ลดลงได้ แต่ก็ยังต้องช่วยเหลือกันในด้านอื่นๆ อีก เช่น ปัญหาพื้นฐานทางสังคม ปัญหายาเสพติด หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงอาวุธที่ง่ายของสังคมไทยในปัจจุบัน

ที่มา :
https://www.sydneycriminallawyers.com.au/blog/copycat-crimes/
https://www.sydneycriminallawyers.com.au/blog/the-influence-of-the-media-on-copycat-crimes/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง