กสทช. ร่วมจับมือ 3 องค์กรวิชาชีพสื่อ กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม

สังคม
12 ต.ค. 65
06:43
312
Logo Thai PBS
กสทช. ร่วมจับมือ 3 องค์กรวิชาชีพสื่อ กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กสทช. นำร่องร่วมมือกับ 3 องค์กรวิชาชีพสื่อ ส่งเสริมกลไกการกำกับดูแลกันเอง จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานรับเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมการนำเสนอเนื้อหาของ สื่อมวลชน เพิ่มช่องทางการร้องเรียนให้กับประชาชน

เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2565 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะองค์กรกำกับดูแลมีหน้าที่ในการส่งเสริมการกำกับดูแล ร่วมกับ สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดแถลงข่าว เรื่อง “ส่งเสริมกลไกการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพสื่อ”

ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต กสทช. เปิดเผยว่า วันนี้ กสทช. ร่วมส่งเสริมสนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อ โดยผลักดันให้องค์กรวิชาชีพทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานจริยธรรม ตามมาตรา 28 (18) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ มาตรา 39, 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการร้องเรียนให้กับประชาชน ให้สามารถร้องเรียนเนื้อหารายการที่เข้าข่ายละเมิดจริยธรรม หรือกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวหรือเนื้อหารายการ หรือเห็นพฤติกรรมของสื่อที่ไม่เหมาะสม ขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพได้

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร้องเรียนผ่าน 3 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งจะมีคณะกรรมการประสานงานรับและติดตามเรื่องร้องเรียน นอกเหนือไปจากการร้องทุกข์ไปที่สถานีโทรทัศน์โดยตรง หรือ การแจ้งมาที่ กสทช.

เพื่อการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะมีการระบุขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อให้ผู้ร้องเรียนได้รับทราบด้วย

การดำเนินการครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อกับ กสทช. อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ในการกำกับดูแลภายใต้เสรีภาพและความรับผิดชอบร่วมกันของผู้ประกอบการ องค์กรวิชาชีพ และองค์กรกำกับดูแล

หลังจากนี้ กสทช. จะขยายความร่วมมือไปยังองค์กรวิชาชีพสื่อองค์กรอื่นๆ ที่มีความพร้อมต่อไปด้วยอนึ่ง แนวทางในต่างประเทศการกำกับดูแลกันเอง หรือ Self-regulation หรือ Co-regulation เป็นวิธีการสากลที่หลายประเทศใช้ในการกำกับดูแลสื่อร่วมไปกับการใช้อำนาจทางกฎหมาย

สำหรับประเทศไทย กสทช. ชุดปัจจุบันมีนโยบายส่งเสริมให้มีกลไกการกำกับดูแลกันเองให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการทำงานและกำหนดเป้าหมายร่วมกันระหว่างกสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลองค์กรวิชาชีพ และผู้ประกอบกิจการ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดี ด้วยการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน (Equal Partnership) เพื่อจัดวางระบบการกำกับดูแลและส่งเสริมจริยธรรมสื่อ

เมื่อมีเหตุการณ์อ่อนไหวต่างๆ ขึ้นในสังคม เราต้องไม่เห็นเพียงการออกแถลงการณ์ขององค์กรสื่อเพื่อขอความร่วมมือหรือเตือนผู้ประกอบการสื่อมวลชนให้ใช้ความระมัดระวัง ทำหน้าที่บนพื้นฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณเท่านั้น แต่ต้องเห็นความคืบหน้าด้วยว่า ในกรณีที่มีการละเมิดจริยธรรม จรรยาบรรณแล้วนั้น ได้มีการดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และนายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากกรณีที่เป็นเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับข่าว และสถานีต้นสังกัดนั้นเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่องร้องเรียนก็จะถูกส่งไปที่สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

เรื่องใดเป็นประเด็นร้องเรียนเรื่องรายการ เกมโชว์ หรือละคร เรื่องร้องเรียนนั้นจะถูกส่งไปที่สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง เพื่อพิจารณา

หากสมาชิกใดมีความคาบเกี่ยว คือสมาชิกที่เป็นสมาชิกของทั้ง 3 สภาวิชาชีพ ก็จะมีการตั้งอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง

โดยหลังรับเรื่องก็จะมีกระบวนการพิจารณาตรวจสอบ และมีการรายงานผลสอบมายังกรรมการภายใน 30 วัน เพื่อแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบต่อไป

นายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการกำกับดูแลกันทางจริยธรรมของสื่ออย่างตรงไปตรงมาและมีทิศทางมากขึ้น

การทำงานร่วมกันของทั้ง 3 สภาวิชาชีพและ กสทช. จะทำให้ให้ประชาชนสามารถที่จะรับรู้ช่องทางการร้องเรียนกรณีที่สื่อนำเสนอข่าวที่ละเมิดจริยธรรมหรือสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่เป็นข่าวได้โดยตรง การทำงานของ 3 สภาวิชาชีพเป็นการกำกับดูแลด้านจริยธรรมไม่ใช่การกำกับดูแลด้านกฎหมาย

3 สภาวิชาชีพจะมีการรับเรื่องร้องเรียน และตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาพิจารณาว่าเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาเป็นเรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับข่าวทางสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติรับเรื่องไว้พิจารณา

ถ้าละครหรือรายการวาไรตี ก็ทางสมาคมสภาวิชาชีพกิจการฯ ก็รับไป ส่งต่อให้กับองค์กรสื่อที่เป็นสมาชิกและถูกร้องเรียน เพื่อให้คณะกรรมการจริยธรรมประจำองค์กรเป็นผู้ตรวจสอบ

เมื่อผลการตรวจสอบออกมาทางผู้ร้องไม่พอใจ หรือทางสภาวิชาชีพ ที่กำกับดูแล เห็นว่าผลการพิจารณานั้นเบาไป ทางสภาวิชาชีพก็สามารถตั้งคณะกรรมการพิจารณาใหม่ได้ หรือตัวผู้ร้องเองก็สามารถอุทธรณ์เรื่องมายังสภาวิชาชีพทั้ง 3 องค์กรได้

นอกจากนี้กระบวนการในการรับเรื่องกระบวนการพิจารณา ผู้ที่ร้องเรียนก็จะได้เห็นว่าเรื่องที่ถูกร้องเรียนได้รับการพิจารณา ซึ่งจะต้องแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ร้องตามกรอบเวลาของข้อบังคับของทั้ง 3 สภาวิชาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นการทำความเข้าใจกันระหว่างผู้ร้องและผู้ที่รับเรื่องพิจารณา

ในส่วนของ กสทช. เองก็ยังกำกับดูแลสื่อได้ เพราะถ้ากระบวนการใดติดขัดหรือผลการพิจารณาไม่เป็นที่พอใจของผู้ร้องหรือล่าช้าเกินความเป็นจริง กสทช. ก็สามารถหยิบเรื่องร้องเรียนนั้นมาดำเนินการได้

ส่วนกรอบเวลาในการพิจารณาผู้ร้องก็ต้องเข้าใจกระบวนการพิจารณาด้วย อาจไม่ทันใจผู้ร้อง แต่เราก็ต้องให้องค์กรสื่อที่ถูกร้องเรียนได้มาชี้แจงหรือแสดงหลักฐานในการที่จะแก้ข้อร้องเรียนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง