กทม.-เครือข่าย เล็งจ้างงาน "คนไร้บ้าน" เพิ่มคุณภาพชีวิต

สังคม
20 ต.ค. 65
07:15
655
Logo Thai PBS
กทม.-เครือข่าย เล็งจ้างงาน "คนไร้บ้าน" เพิ่มคุณภาพชีวิต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กทม.-ภาคีเครือข่าย หาแนวทางจ้างงานคนไร้บ้าน ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมจัดที่พักชั่วคราวเพื่อฟื้นฟู-พัฒนาระยะต้น คาดบริเวณใต้ทางด่วนวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร

วันที่ 19 ต.ค.2565 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านคนไร้บ้านของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2565 โดยกล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมในประเด็นหลัก ๆ จากการสำรวจพบว่าคนไร้บ้านแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ คนไร้บ้านหน้าใหม่ คนไร้บ้านถาวร คนไร้บ้านผู้ป่วยจิตเวช

หางานให้ "คนไร้บ้านหน้าใหม่"

หากดูจากตัวเลขจะเห็นว่าคนไร้บ้านหน้าใหม่เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด ถ้าดึงให้เขากลับไปมีงานทำ กลับไปมีบ้านอยู่ กลับไปมีสิทธิมีสวัสดิการต่าง ๆ ก็จะทำให้ปัญหาเรื่องคนไร้บ้านเบาบางลง จริง ๆ แล้วคนไร้บ้านหน้าใหม่อาจไม่ได้ต้องการที่พักพิง หรืออาจมีบ้านอยู่ แต่ต้องการสวัสดิการ ต้องการมีงานทำ

จากการประชุมร่วมกันจะหาแนวทางพัฒนาสร้างจุดพักพิง ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งจุดบริการไว้ 4 จุด ได้แก่ ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สถานีรถไฟหัวลำโพง, ตรอกสาเก และถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นจุดที่หลายมูลนิธิดำเนินการกันอยู่แล้ว เป็นการบูรณาการร่วมกัน และจะทำเป็นจุดสวัสดิการที่ครบวงจรมากขึ้น

เล็งทำที่พักชั่วคราวใต้ทางด่วนวัดมหาพฤฒาราม

นอกจากนี้จะทำที่พักชั่วคราวให้กับคนไร้บ้านที่ต้องการการฟื้นฟู หรือต้องการพัฒนาในระยะต้น คาดว่าเป็นพื้นที่ใต้ทางด่วนวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร เขตบางรัก ซึ่งต้องลงรายละเอียดว่าจะวางแผนอย่างไร เพราะต้องจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นลานกีฬาใต้ทางด่วน ในส่วนของการจ้างงานทาง กทม. อาจปรับเปลี่ยนข้อบัญญัติระเบียบต่าง ๆ หรือร่วมกับมูลนิธิกระจกเงาที่มีโครงการจ้างวานข้า รวมทั้งโมเดลชุมชนสำหรับคนไร้บ้านที่หนองจอก สร้างเป็นที่อยู่อาศัยให้คนไร้บ้านมาอยู่รวมกัน

ถ้าเราถอดบทเรียนกันจริง ๆ แล้ว จะเห็นว่าการจ้างงานเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ เมื่อเขามีงานชีวิตประจำวันก็จะเปลี่ยนไป มีรายได้มีสวัสดิการก็จะปรับเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น

นายศานนท์ กล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านคงไม่หมดไปง่าย ๆ ต้องดึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะไม่ใช่ปัญหาปัจเจก ไม่ใช่ปัญหาที่เขาเป็นผู้ร้ายในสังคม หากมองในภาพรวมอาจจะเป็นเพราะสังคมทำให้เขาไร้บ้าน จึงอาจชวนประชาชนมาร่วมมือกัน ไม่มองว่าเขาเป็นปัญหา แต่มองว่าจะช่วยสภาวะคนไร้บ้านนี้ได้อย่างไร

สำหรับการประชุมดังกล่าว มีคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านคนไร้บ้านของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหาน ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภายนอก เช่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมการจัดหางาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง