จับตา "รอยเลื่อนย่อยแม่ทา" กลางเมืองเชียงใหม่ ต้นเหตุแผ่นดินไหว 4.1

ภัยพิบัติ
20 ต.ค. 65
12:58
6,511
Logo Thai PBS
จับตา "รอยเลื่อนย่อยแม่ทา" กลางเมืองเชียงใหม่ ต้นเหตุแผ่นดินไหว 4.1
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี ชี้แผ่นดินไหวเชียงใหม่ขนาด 4.1 เกิดจากรอยเลื่อนสาขาย่อยจากกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลใหม่ คาดอยู่ใต้ตะกอนดินของเมืองเชียงใหม่ มีอาฟเตอร์ช็อกขนาด 2-3 อีก 1-2 วัน

จากกรณีแผ่นดินไหว ขนาด 4.1 ความลึก 2 กิโลเมตร ศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ รับรู้แรงสั่นไหว 3 จังหวัด เมื่อเวลา 04.36 น.

วันนี้ (20 ต.ค.2565) นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า แผ่นดินไหวขนาด 4.1 เกิดจากรอยเลื่อนแม่ทา ที่น่าสนใจคือเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก แต่ค่อนข้างตื้น ความลึก 2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล อาจเป็นสาขาย่อยจากกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา ที่แตกสาขาเข้ามาในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ใต้ตะกอนดินของเมืองเชียงใหม่

แต่แผ่นดินไหวครั้งนี้ มีความตื้นทำให้รับรู้แรงสั่นไหวแทบทุกอำเภอของ จ.เชียงใหม่ บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง อ.เมือง อ.ดอยสะเก็ด อ.แม่ริม เทศบาลเมืองแม่โจ้ อ.สันทราย โดยเฉพาะตึกสูงและคอนโดมิเนียม รวมไปถึง อ.บ้านธิ จ.ลำพูน และ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา

รอยเลื่อนตัวนี้น่าสนใจมาก เพราะแผ่นดินไหว 4.1 แต่มีความตื้น รับรู้แรงสั่นไหวค่อนข้างไกล ข้อมูลที่ศึกษาเป็นตัวยืนยันว่าใต้เมืองเชียงใหม่มีรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ชั้นตะกอนดิน

อาฟเตอร์ช็อกขนาด 2-3 อีก 1-2 วัน

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ในช่วง 1-2 วัน จะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาแน่นอน ขนาด 2-3 แต่ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร พร้อมทั้งติดตามว่าในวันนี้ (20 ต.ค.) จะมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ โดยมีเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวกระจายทั่ว จ.เชียงใหม่ มากกว่า 20 สถานี

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธานี ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบว่ามีผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนหรือไม่ แต่โดยปกติแผ่นดินไหวขนาด 4.1 อาจไม่มีความเสียหาย แต่รู้สึกถึงแรงสั่นไหว

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิจัยอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยได้ประมาณ 1 ปี ว่าใต้เมืองเชียงใหม่มีรอยเลื่อนซ่อนตัวอยู่ใต้เมืองหรือไม่ เพราะพบรอยเลื่อนแล้วทั้งในฝั่งตะวันออกและตะวันตก ถือเป็นข้อมูลใหม่ เสริมกับข้อมูลเดิมที่วิศวกรจะออกแบบดีไซน์อาคารสูงให้ระมัดระวังเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลกระทบแผ่นดินไหวต่อโครงสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 ปี

 

สำหรับรอยเลื่อนสาขาย่อยจากกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ มีการเคลื่อนตัวแบบเหลื่อมด้านข้างไปทางขวา ซึ่ง "แม่ทา" เป็นรอยเลื่อนมีพลัง พาดผ่าน อ.แม่ทา จ.ลำพูน และ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ในแนวโค้งไปทางทิศตะวันออก มีความยาวประมาณ 61 กิโลเมตร เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งทุก ๆ ปี แต่ขนาดเล็กขนาด 2-4

จากสถิติยังพบอีกว่า พื้นที่รอยเลื่อนแม่ทา ที่ จ.เชียงใหม่ เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดที่มีความรุนแรงปานกลางถึงมากเมื่อปี 2549 จุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.แม่ริม มีขนาด 5.1 ซึ่งรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนเป็นบริเวณกว้าง รวมทั้งการศึกษาพบว่าในอดีต 2,000-3,000 ปีก่อน เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 6.5

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แผ่นดินไหว ขนาด 4.1 อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ รับรู้แรงสั่นไหวใน 3 จังหวัด

เสียงคนเชียงใหม่รับรู้แรงสั่นสะเทือน เหตุแผ่นดินไหว

นายกฯ อบต.แม่คือ เผยเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.1 สำรวจเบื้องต้นไม่พบความเสียหาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง