ภาคเอกชนดัน 5 วาระเดินหน้าเศรษฐกิจผ่านเวทีเอเปค

เศรษฐกิจ
21 ต.ค. 65
17:54
158
Logo Thai PBS
 ภาคเอกชนดัน 5 วาระเดินหน้าเศรษฐกิจผ่านเวทีเอเปค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประธาน ส.อ.ท.ระบุภาคเอกชนเตรียมเสนอ 5 วาระหลักสู่ที่ประชุมเอเปค ดันเขตเสรีการค้า-เชื่อมโยงดิจิทัล-ความมั่นคงอาหาร พร้อมเพิ่มศักยภาพดึงนักลงทุน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) กล่าวว่า ภาคเอกชนมีข้อสรุป 5 เรื่องหลัก จากการประชุมเอแบค ครั้งที่ 3 ที่เวียดนาม เพื่อส่งมอบให้กับที่ประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานเอเปค พิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะส่งให้กับ 20 สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคที่เหลือ

สำหรับวาระ 5 เรื่องหลัก ที่สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปคจะส่งมอบต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แก่

  1. Regional Economic Integration การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เปิดเสรีการค้า
  2. Digital การเสริมสร้างศักยภาพด้านดิจิทัล
  3. MSME and Inclusiveness การส่งเสริมความพร้อมของธุรกิจในทุกขนาด
  4. Sustainability ความก้าวหน้าเชิงวิถีปฏิบัติด้านความยั่งยืน
  5. Finance & Economics ระบบการเงินที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นและสภาพแวดล้อมตอบโจทย์

ขณะที่เรื่องเร่งด่วนที่จะนำเสนอ คือ ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลกจากปัญหารัสเซีย-ยูเครน โดยต้องหาวิธีแก้ปัญหาไม่ให้สงครามยืดเยื้อ, เรื่องความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงภาวะโลกร้อน ส่วนในระยะกลาง จะเร่งให้จัดตั้ง FTAAP (เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก) เพื่อสนับสนุนด้านการค้าระหว่างกัน

 

สำหรับเขตเศรษฐกิจเอเปค เป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่ ซึ่งใน 21 สมาชิกเขตเศรษฐกิจมีประชากรรวมกันประมาณ 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 5.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่า 50% ของจีดีพีโลก การรวมกลุ่มกันจะส่งผลดีต่อการค้าขาย แต่จะต้องทำให้เกิดการเชื่อมโยงด้านดิจิทัลมากขึ้น

อีกหนึ่งเรื่องที่ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญ คือ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ระบบสันดาปให้เกือบทุกยี่ห้อ แต่ขณะนี้กำลังถูกแทรกแซงด้วยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) มีคู่แข่งคือเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดมากขึ้น

แต่ไทยยังโชคดีที่เป็นตลาดของผู้บริโภค โดยมีคนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 80,000 คันต่อปี ในขณะที่อินโดนีเซียอยู่ในระดับ 100 คันต่อปี ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการส่งสัญญาณสนับสนุน ดังนั้นภาคเอกชนต้องเร่งสร้างระบบพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศ

ประธาน ส.อ.ท. ย้ำว่าการประชุมเอเปคครั้งนี้มีความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยกำลังฟื้นตัว ต้องการแสดงจุดยืนและศักยภาพ ภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG (Bio - Circular - Green Economy) ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ จึงคาดหวังว่าการประชุมเอเปคจะช่วยสร้างการรับรู้และความเข้าใจว่าประเทศไทยมีศักยภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง