ค้ามนุษย์หญิงไทยขับเคลื่อนอาณาจักรธุรกิจกาสิโน “โกก้าง” อย่างไร

อาชญากรรม
21 ต.ค. 65
18:02
3,092
Logo Thai PBS
ค้ามนุษย์หญิงไทยขับเคลื่อนอาณาจักรธุรกิจกาสิโน “โกก้าง” อย่างไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปี 2565 มีหญิงไทยไม่น้อยกว่า 17 คนที่ได้รับการช่วยเหลือกลับประเทศไทย หลังถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกไปขายบริการทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ในจำนวนนี้มีหญิงไทยอย่างน้อย 10 คน ที่ถูกล่อลวงไปขายบริการในกาสิโนของกลุ่มชาติพันธุ์โกก้าง ซึ่งกำลังถูกเพ่งเล็งว่าเป็นแหล่งอาชญากรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

งานเอ็นเตอร์เทน เงินดี รายได้ 250,000 บาทต่อเดือน

หญิงไทยวัย 25 ปี จากจังหวัดเพชรบูรณ์ สะดุดตากับโฆษณาบน TikTok รับสมัครพนักงานไปทำงานเอ็นเตอร์เทน ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา รายได้เดือนละ 250,000 บาท เมื่อส่งข้อความไปสอบถาม ได้รับคำตอบจากนายหน้าว่าทำงานเป็นพีอาร์ (PR) หรือนักประชาสัมพันธ์ คอยต้อนรับลูกค้าชาวจีนที่เข้ามาใช้บริการสถานบันเทิงและกาสิโนในเมืองทางตอนเหนือของเมียนมา นายหน้ายังบอกว่า สาเหตุที่รายได้อยู่ที่ 200,000-250,000 ต่อเดือน เป็นเพราะอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินหยวนและเงินบาทไทยที่ค่อนข้างแตกต่างกัน จึงทำให้ผู้ทำงานค่อนข้างได้กำไร เมื่อแลกเงินหยวนเป็นเงินไทย ทั้งนี้ ผู้สมัครงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ฯลฯ

เดือนเมษายน 2565 เธอตัดสินใจเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยัง อ.แม่สอด จ.ตาก จากนั้นนายหน้าพาข้ามช่องทางธรรมชาติเข้าสู่ประเทศเมียนมา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 สัปดาห์จึงถึงจุดหมายปลายทาง ที่เมืองเลาก์ก่าย เมืองหลวงของเขตปกครองพิเศษโกก้าง ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และมีพรมแดนติดกับมณฑลยูนนาน ประเทศจีน

ที่ทำงานของเธอเป็นตึก 12 ชั้น ชั้นล่างเป็นกาสิโนและ KTV (คาราโอเกะ) เธอและพนักงานบริการคนอื่น ๆ พักอยู่ที่ชั้น 2 ส่วนชั้น 3 เป็นพื้นที่ขายบริการทางเพศ ชั้น 4-12 เป็นห้องพักสำหรับแขก มีผู้ถืออาวุธเฝ้าทางเข้าออกตึกตลอด 24 ชั่วโมง การพกปืนเป็นเรื่องธรรมดาปกติของที่นี่ เพราะแม้แต่แขกที่เข้ามาใช้บริการก็พกปืนกันทุกคน

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองเลาก์ก่าย เขตปกครองพิเศษโกก้าง

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองเลาก์ก่าย เขตปกครองพิเศษโกก้าง

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองเลาก์ก่าย เขตปกครองพิเศษโกก้าง

หญิงชาวเพชรบูรณ์พบว่างานที่ต้องทำไม่ใช่งานพีอาร์ดังที่นายหน้าบอกแต่กลับกลายเป็นงานขายบริการและเอ็นเตอร์เทนลูกค้าชาวจีนใน KTV เธอต้องทำทุกอย่างตามที่ลูกค้าต้องการ ทั้งดื่มสังสรรค์ เสพยาไปจนถึงขายบริการ

ที่นั่นยังมีหญิงไทยอีก 10 คน หญิงชาวไทใหญ่และชาวจีนประมาณ 20 คน ที่ต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน

“ขายตรง คือ นอนอยู่ห้องขายตัว รอลูกค้าเข้ามา ไม่มีสิทธิเลือกนะว่าจะรับได้แค่ 1-2 คน ถ้าคืนนั้นมา 10 คน คุณก็ต้องรับ 10 คน ต้องทำงานทุกวันโดยไม่มีวันหยุด เมื่อเจ็บป่วยก็ลาพักไม่ได้ วันที่ประจำเดือนมาก็ยังต้องรับลูกค้า อาหารฟรีจัดให้พนักงานรับประทานเป็นเวลา”

สภาพบังคับเหล่านี้ทำให้เธอและเพื่อนๆ ต้องการออกจากที่นั่น แต่ก็ทำไม่ได้เพราะนายจ้างบอกว่าเธอต้องทำงานใช้หนี้ที่เกิดจากค่านำพาจำนวน 250,000 บาทให้หมดเสียก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายหน้าฝั่งไทยเคยรับประกันว่าไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้

โชคดีที่เธอสามารถใช้อินเทอร์เนทผ่านโทรศัพท์มือถือได้ เธอจึงส่งข้อความขอความช่วยเหลือไปยังกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของไทย และนัดแนะแผนกับทางการไทยจนได้รับการช่วยเหลือในที่สุด

“เราเครียดกันมาก ตำรวจเมียนมาก็เข้ามาในกาสิโนไม่ได้ เพราะมีทหารของกาสิโนถืออาวุธคุ้มกันอยู่ตรงประตู เมื่อใกล้เวลานัดหมายก็เริ่มไปรอกันใกล้ ๆ ประตูกาสิโน พอได้ยินเสียงตำรวจเมียนมาเรียกชื่อ เราก็รีบวิ่งไปหาเขา ถ้าวันนั้นตำรวจของเมียนมาเรียกแล้วเราไม่ได้ยิน เราไม่วิ่งออกมา เราก็ไม่รอด”

เดือนกรกฎาคม 2565 เธอและเพื่อนรวม 10 คน เดินทางกลับไทยอย่างปลอดภัย ทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า เวลาไม่ถึง 2 เดือนที่อยู่ในเมืองเลาก์ก่ายคือประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต

กลุ่มโกก้างคือใคร

เขตปกครองพิเศษโกก้าง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำสาละวิน ทิศตะวันออกมีพรมแดนติดกับมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีเมืองหลวงชื่อ เลาก์ก่าย ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์โกก้างที่มีเชื้อสายจีน

ภาพแผนที่เขตปกครองพิเศษโกก้าง

ภาพแผนที่เขตปกครองพิเศษโกก้าง

ภาพแผนที่เขตปกครองพิเศษโกก้าง

กลุ่มโกก้างมีความแนบชิดกับจีนผ่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การเมือง ภาษา และวัฒนธรรรมมาอย่างยาวนาน หากเดินทางไปที่นั่นจะพบผู้คนใช้ภาษาจีนกลางมากกว่าภาษาเมียนมา แม้แต่ระบบการเงินก็นิยมใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหลักของพื้นที่ รวมถึงใช้สถาบันการเงินของจีนมากกว่าของเมียนมา อย่างไรก็ตามพวกเขายังถือว่าตนเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในเมียนมา

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ช่วงปี 2503-2532 พื้นที่ของกลุ่มโกก้างถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์พม่า(Communist Party of Burma) ซึ่งเคลื่อนไหวภายใต้การสนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ แม้ผู้นำพรรคเป็นชาวเมียนมา แต่ก็ใช้กองกำลังกลุ่มโกก้างและว้าเป็นปีกทหารคอยควบคุมอิทธิพลของพรรคในดินแดนแถบนี้

ต่อมาปี 2532 พรรคคอมมิวนิสต์พม่าสลายตัวลง กองกำลังโกก้างผันตัวเป็น “กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) โดยมี “เผิง เจียเซิง” (Peng Jiasheng) เป็นผู้นำ

กองทัพเมียนมาพยายามเจรจาสงบศึกกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเสนอให้ชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเมียนมาในฐานะกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) แต่กองกำลัง MDNAA ต่อต้านแนวคิดนี้ จนนำไปสู่การสู้รบระหว่างกลุ่มโกก้างและกองทัพเมียนมาในปี 2552 ส่งผลให้ประชาชนชาวโกก้างต้องอพยพลี้ภัยไปยังพรมแดนจีนเป็นจำนวนมาก

ไป่ โส่วเฉิน (Bai Suocheng) รองผู้บัญชาการ MDNAA ในขณะนั้นเพิกเฉยจุดยืนของเผิง เจียเซิงและตกลงรับข้อเสนอของกองทัพเมียนมา ส่งผลให้เผิง เจียเซิงถูกเนรเทศออกจากเขตโกก้างพร้อมกับกองกำลัง MDNAA ที่ยังสวามิภักดิ์กับเขา ส่วนไป่ โส่วเฉินได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมาให้เข้าควบคุมและบริหารเขตปกครองพิเศษโกก้างแทน

กองกำลัง MDNAA ของเผิง เจียเซิงร่วมมือกับกลุ่มชนชาติพันธุ์อื่นๆ เปิดฉากสู้รบกับกองทัพเมียนมา รวมถึงพยายามเข้ายึดดินแดนโกก้างให้กลับมาอยู่ในอิทธิพลของกองกำลังตนเองอยู่เป็นระยะ แต่ความพยายามของพวกเขาไม่เคยประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน

กลุ่มทุนนิยมหยุดยิง

การได้บริหารเขตปกครองพิเศษของตนเอง โดยยอมลดอาวุธของกองกำลังกลุ่มโกก้างที่เหลืออยู่ ให้ไปเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) และรักษาความสงบระหว่างชายแดนเมียนมา-จีน กลายเป็นจุดกำเนิดของ 3 ตระกูลที่เข้ามาควบคุมและบริหารพื้นที่เขตปกครองพิเศษโกก้างควบคู่ไปกับการขยายอาณาจักรทางธุรกิจของครอบครัว โดยเปลี่ยนโฉมจากพื้นที่ปลูกฝิ่นและผลิตเฮโรอีนไปเป็นเมืองกาสิโนแบบมาเก๊า อย่างไรก็ตามยาเสพติดยังหาซื้อง่ายเหมือนเดิม แม้ว่าตัวเมืองจะเปลี่ยนไปหารายได้จากธุรกิจกาสิโนเป็นหลัก

ภาพถ่ายทางอากาศเขตปกครองพิเศษโกก้าง

ภาพถ่ายทางอากาศเขตปกครองพิเศษโกก้าง

ภาพถ่ายทางอากาศเขตปกครองพิเศษโกก้าง

สถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Institute of Peace หรือ USIP) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการอิสระที่ก่อตั้งโดยรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา จัดทำรายงานหลายฉบับตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ระบุตรงกันว่า ธุรกิจกาสิโน โรงแรม และสถานบันเทิงในเขตปกครองพิเศษโกก้างเกือบทั้งหมด ถูกควบคุมและบริหารโดยบริษัทตระกูลไป่ (Bai) ตระกูลหลิว (Liu) และตระกูลเหว่ย (Wei) 3 ชนชั้นนำ ของกองกำลังโกก้าง

  • ตระกูลไป่ นำโดย ไป่ โส่วเฉิน อดีตรองผู้บัญชาการ MDNAA ผู้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพเมียนมา ทายาทของเขาจำนวนหนึ่ง ได้นั่งเป็นรองผู้อำนวยการคณะกรรมการควบคุมการพนันของเขตปกครองพิเศษโกก้าง เป็นคณะกรรมการบริหารเขตปกครองพิเศษโกก้าง เป็นประธานบริษัท Xinbaili Company ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรม กาสิโน และการพนันออนไลน์ รวมถึงเป็นเจ้าของกลุ่มบริษัท Baisheng ซึ่งเป็นทุนยักษ์ใหญ่ที่สุดในธุรกิจกาสิโนของโกก้าง
  • ตระกูลเหว่ย (Wei) นำโดย เหว่ย เฉาเริน (Wei Chaoren) อดีตรองประธานบริหารเขตปกครองพิเศษโกก้าง ลูกชายของเหว่ยเป็นผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดนโกก้าง (Kokang BGF) และเป็นประธานกลุ่มบริษัท Hengli ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเขตการค้า-อุตสาหกรรมบนพื้นที่ 165,000 ตารางเมตร รวมถึงโรงแรมหรู และกาสิโน
  • ตระกูลหลิว (Liu) นำโดย หลิว เจิ้งเซียง (Liu Zhengxiang) นักธุรกิจชาวโกก้าง ประธานบริษัท Fully Light Group ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีทั้งธุรกิจเหมืองแร่ กาสิโนขนาดใหญ่ โรงแรม และการพนันออนไลน์ซึ่งเขาเป็นกลุ่มทุนหลักของตลาดการพนันออนไลน์ผิดกฎหมายในประเทศจีน

รศ.ดร.ดุลยภาค นิยามกลุ่มทุนเหล่านี้ว่า “กลุ่มทุนนิยมหยุดยิง” โดยอธิบายว่า มันคือกลุ่มขุนศึก (War Lord) และมาเฟียที่ต้องมีกองกำลังติดอาวุธไว้ป้องกันเขตอิทธิพลหรือต่อรองกับรัฐบาลเมียนมา แต่ก็ยอมเจรจาหยุดยิงกับกองทัพเมียนมาเพื่อแลกกับการควบคุมเขตอิทธิพลของตนเอง ทำให้ยังสามารถควบคุมการไหลเวียนของฝิ่น เฮโรอีน และรายได้จากธุรกิจกาสิโนมาเข้ากลุ่มของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และทำให้เศรษฐกิจชายแดนเติบโตขึ้นด้วย

“เมียนมาก็ยังสบายใจได้ว่า ไม่ถูกแว้งกัด ไม่ถูกโจมตี และ (โกก้าง) จะไม่แยกตัวออกจากสหภาพเมียนมา”

อาชญากรรมที่แฝงมากับอาณาจักรธุรกิจกาสิโนกลุ่มโกก้าง

รายงานของ USIP ยังระบุว่า โรงแรมและกาสิโนในเขตปกครองพิเศษโกก้างเป็นแหล่งกิจกรรมทางอาชญากรรมทุกรูปแบบ โดยอ้างอิงบันทึกคดีอาญาของศาลจีนตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ที่ระบุว่า ผู้พิพากษาศาลในประเทศจีนต้องขึ้นพิจารณาคดีอาญาที่มีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามพรมแดนในเขตปกครองพิเศษโกก้าง ซึ่งมีทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การพนัน การค้าอาวุธ ฉ้อโกง และลักพาตัว รวมกันกว่า 1,300 คดี โดยมีหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตระกูลไป่และเหว่ย

เดือนกุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าวของจีนแห่งหนึ่งรายงานว่า ชาวโกก้างร่วมมือกับคนจีนทำโฆษณาผ่านแอปพลิเคชัน TikTok และสื่อออนไลน์อื่นๆ หลอกคนจีนมาทำงานในเขตปกครองพิเศษโกก้าง โดยเสนอค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวนมาก ทำให้ชาวจีนมากกว่า 100 คนหลงกลและถูกบังคับทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินจากชาวจีนด้วยกัน โดยถูกกักขังไว้ในกาสิโนแห่งหนึ่งตลอดการทำงาน หากไม่ยอมทำงานจะถูกทำร้าย ทุบตี รวมทั้งถูกขู่ว่าจะขายต่อให้แก๊งคนจีนในประเทศกัมพูชา

จะเห็นว่าการโฆษณาจูงใจผ่าน TikTok หาคนทำงานเอ็นเตอร์เทน โดยมีตัวเลขรายได้สูงเป็นแรงจูงใจ คือรูปแบบพฤติกรรมเดียวกันกับที่หญิงชาวจังหวัดเพชรบูรณ์เจอ จนตกเป็นผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ในเขตปกครองพิเศษโกก้าง

ภาพ โฆษณารับสมัครหาคนทำงาน

ภาพ โฆษณารับสมัครหาคนทำงาน

ภาพ โฆษณารับสมัครหาคนทำงาน

ปัจจุบันพบว่า กลุ่มทุนกาสิโนของตระกูลหลิวและตระกูลไป่ ยังขยายกิจการกาสิโนไปยังเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ติดกับชายแดน อ.แม่สอด จ.ตากของไทย รวมถึงเมืองสีหนุวิลล์ในประเทศกัมพูชา นักวิเคราะห์จาก USIP มองว่า กลุ่มอาชญากรชาวจีนบางกลุ่ม ใช้ประโยชน์จากธุรกิจกาสิโนของโกก้างในเมียนมาและกัมพูชาเป็นแหล่งฟอกเงิน และดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายควบคู่กันไปด้วย

ดร.พอล แชมเบอร์ส นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำและที่ปรึกษาวิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ขบวนการค้ามนุษย์ทำกับชาวไทยที่ถูกบังคับไปขายบริการในเขตปกครองพิเศษโกก้าง ทำให้เห็นว่าอาชญากรรมในพื้นที่สามเหลี่ยมทองมีความซับซ้อนมากขึ้น เพิ่มเติมจากปัญหาที่มีอยู่เดิม คือ ยาเสพติด

“อุปสรรคการแก้ปัญหาอาชญากรรมพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่ไทยและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงต่างเผชิญ คือ ยังมีเจ้าหน้าที่รับผลประโยชน์จากแก๊งอาชญากรรม”

นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันมองว่า การทำงานระหว่างทหาร ตำรวจ และมหาดไทยยังไม่บูรณาการกัน ทำให้การป้องกันและสกัดกั้นยังไม่เกิดประสิทธิภาพ ส่งผลให้กลุ่มอาชญากรรมในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำยิ่งขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่อื่นๆ และยากต่อการปราบปรามมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาค

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง