นักวิจัยเคมบริดจ์ ผลิต “ใบไม้เทียม” เปลี่ยนคาร์บอนเป็นเชื้อเพลิง

Logo Thai PBS
นักวิจัยเคมบริดจ์ ผลิต “ใบไม้เทียม” เปลี่ยนคาร์บอนเป็นเชื้อเพลิง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ผลิตใบไม้เทียมน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ ช่วยดูดซับแสงแดด น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิง

ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ทั่วโลกตระหนักและให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยจึงหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลภาวะที่เกิดจากการขนส่งสินค้าทางเรือที่ยังคงใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นหลัก การพัฒนาและนำพลังงานสะอาดมาใช้งาน ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมลงไปได้บ้าง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ พัฒนาใบไม้เทียมที่มีลักษณะคล้ายใบไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปในธรรมชาติ มีความบาง ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา และลอยน้ำได้ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการสังเคราะห์แสงของพืชที่เปลี่ยนแสงแดดให้เป็นอาหาร โดยใบไม้เทียมที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นสามารถดูดซับแสงแดด น้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพื่อนำมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงได้

ได้มีการทดสอบใบไม้เทียมขนาด 100 ตารางเซนติเมตร ในบริเวณพื้นที่กลางแจ้งที่แม่น้ำแคม โดยใบไม้เทียมได้ทำปฏิกิริยากับน้ำเพื่อผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นซินแก๊ส (Syngas หรือ Synthesis gas) หรือแก๊สเชื้อเพลิงผสมของไฮโดรเจน คาร์บอนมอนนอกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการเผาไหม้ได้ดี และนิยมนำมาใช้กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน

พลังงานสะอาดได้รับความนิยมและมีราคาที่ถูกลงเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ถือเป็นการสร้างเชื้อเพลิงสะอาดทางน้ำเป็นครั้งแรก แม้ว่าขนาดของใบไม้เทียมในการทดลองจะเป็นเพียงอุปกรณ์ต้นแบบขนาดเล็ก แต่ทีมนักวิจัยเตรียมพัฒนาให้ใบไม้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อนำไปใช้งานในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีมลพิษ ท่าเรือ แม่น้ำ และทะเล ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของอุตสาหกรรมการเดินเรือทั่วโลกได้ และยังช่วยเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานได้อีกทางหนึ่งด้วย

ที่มาของภาพ:ที่มาข้อมูล: cam.ac.uk, bbc, cambridgeindependent, spectrum
ที่มาภาพ: cam.ac.uk
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง