ไทยเชิญ IUCN เข้าพื้นที่ประเมิน "แก่งกระจาน" มรดกโลก พ.ย.นี้

สิ่งแวดล้อม
27 ต.ค. 65
12:07
283
Logo Thai PBS
ไทยเชิญ IUCN  เข้าพื้นที่ประเมิน "แก่งกระจาน" มรดกโลก พ.ย.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยเชิญผู้เชี่ยวชาญ IUCN ให้คำปรึกษาเพื่ออนุรักษ์แหล่งมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน เข้าพื้นที่พ.ย.นี้ หลังขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี 2564

วันนี้ (27 ต.ค.2565) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ของประเทศไทย ได้รับการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อเดือน ก.ค.64 ที่ผ่านมา

รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ที่อาศัยของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า จึงได้เห็นควรให้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อนการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ให้เข้ามาช่วยเหลือในการเตรียมการทบทวนสภาพทั่วไปในการอนุรักษ์กลุ่มป่าแก่งกระจาน ให้เป็นไปตามแนวทางการอนุรักษ์มรดกโลกทางธรรมชาติ

ทั้งนี้ การเข้ามาดำเนินการเพื่อให้คำปรึกษาจะอยู่ภายใต้สัญญา IUCN ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะลงนามร่วมกับผู้ประสานงาน IUCN  

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญจาก IUCN จะเข้ามาปฏิบัติภารกิจให้คำปรึกษาในช่วงเดือน พ.ย.นี้ โดยใช้เวลาลงพื้นที่ 8 วัน โดยจะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเขตพื้นที่มรดกโลกเพื่อเพิ่มโอกาสการเชื่อมต่อของพื้นที่ ผนวกพื้นที่อนุรักษ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

การจัดการเขตกันชนของพื้นที่ป่ามรดกโลก การประเมินการแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ป่า การใช้ประโยชน์ที่ดิน การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

อ่านข่าวเพิ่ม ทส.ชี้ "กะเหรี่ยง" อยู่คู่ป่าแก่งกระจาน ทำข้อมูลส่งศูนย์มรดกโลก 1 ธ.ค.65

 

นอกจากนี้ จะมีการประเมินการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ ในการจัดการพื้นที่มรดกโลก เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน การหาทางเลือกสำหรับดำเนินการในอนาคตในการรักษาความเชื่อมโยงทางชีววิทยาในพื้นที่ข้ามพรมแดนที่ติดกับพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน

รวมทั้งการประเมินสถานะประชากรชนิดพันธุ์ที่สำคัญของพืชป่า และสัตว์ป่า ตลอดจนประเมินผลกระทบของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่และที่วางแผนไว้รวมถึงเขื่อนและถนน

ทั้งนี้ หลังจากลงพื้นที่แล้วผู้เชี่ยวชาญของ IUCN จะต้องทำรายงานเสนอต่อประเทศไทย ภายใน 6 สัปดาห์หลังจากลงพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลแนวทางการอนุรักษ์กลุ่มป่าแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติที่ยั่งยืนต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยเสนอเป็นเจ้าภาพประชุม "มรดกโลก" ปี 2566

ด่วน! “ยูเนสโก” เลื่อนรับรองแก่งกระจานมรดกโลกปี 63

9 ปี เส้นทาง “แก่งกระจาน” สู่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง