The EXIT : โรงไฟฟ้าชายแดนใต้

สังคม
2 พ.ย. 65
14:42
833
Logo Thai PBS
The EXIT : โรงไฟฟ้าชายแดนใต้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พื้นที่เป้าหมายล่าสุดของการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ชายแดนภาคใต้ หากเป็นไปตามแผน พีดีพี 2018 ที่นั่น จะมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นกว่า 100 โรง กำลังผลิตรวมกันไม่น้อยกว่า 430 เมกะวัตต์ ขณะที่ วันนี้ไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 49

ชายแดนภาคใต้ กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งใหม่ในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยผ่านโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ VSPP  เป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้ากว่า 100 โรง กำลังผลิตกว่า 430 เมกะวัตต์ แต่เมื่อแนวคิดนี้เริ่มเปิดเผยสู่สาธารณะ เสียงคัดค้านก็ดังขึ้นพร้อมๆ กับคำถามว่า ใครคือผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากโครงการนี้

เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาด 6 เมกะวัตต์ที่จัดขึ้นครั้งแรก ณ อบต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 กลายเป็นเวทีแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยของชาวบ้านและกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้  พวกเขา มองว่า นี่เป็นการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน และ โครงการนี้อาจทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

 

ข้อมูลจากเวทีรับฟังความคิดเห็น ระบุว่า ในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าขยะ มีแหล่งน้ำและชุมชน  ข้อกังวลคือชุมชนบางเขาไม่มีน้ำประปาใช้  ยังต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ติดกับโครงการโรงไฟฟ้า  ดังนั้น ชาวบ้านอาจไม่มีน้ำสะอาดใช้ หากมีปัญหาน้ำเสียเกิดขึ้นในอนาคต

นิดานี ริรอแซ ชาวชุมชนบางเขา ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หนึ่งในชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นบอกว่า โครงการนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้าน 

มันเหมือนจะพัฒนาเหมือนจะได้ประโยชน์ แต่คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ประชาชน คนในชุมชนเหมือนจะต้องเสียด้วยซ้ำเพราะต้องได้รับผลกระทบ

มีรายงานว่าปี 2564 จังหวัดปัตตานีมีขยะชุมชนเกิดขึ้นวันละประมาณ 600 ตัน แต่มีพื้นที่รองรับขยะเพียงแห่งเดียวอยู่ที่อำเภอยะหริ่ง ปัจจุบันจึงมีขยะตกค้างอยู่ที่นั่นจำนวนมาก

มะซาการิยา เจ๊ะหลง นายก อบต.บางเขา บอกว่า โรงไฟฟ้าขยะบางเขา จะช่วยให้การกำจัดขยะในจังหวัดปัตตานีมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นมาจริงมันก็ได้ประโยชน์แก่ชุมชน ข้อที่หนึ่งคือขยะจะไม่มี ข้อที่สองคือ ภาษีก็เข้าในหมู่บ้าน ตำบล ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ ผู้นำทุกคนก็เลยคิดว่าน่าจะเอาชาวบ้านมานั่งคุย มาอธิบายให้เขาเข้าใจ

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ระบุว่าปัจจุบัน ต.บางเขามีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ดำเนินการอยู่แล้ว 2 โรง กำลังผลิตติดตั้ง 2.1 และ 2.9 เมกะวัตต์

ทีมข่าว พบข้อมูลว่า ในปี 2564 เคยมีความพยายามขอตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ ต.บางเขา มาครึ่งหนึ่งแล้วภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ( โครงการนำร่อง ) แต่บริษัทที่ยื่นขอไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบสุดท้าย ก่อนจะมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นในตำบลบางเขาอีกครั้งในปี 2565

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าขยะ ต.บางเขา ยังเป็นเพียงแผน และอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเท่านั้น แต่พื้นที่ชายแดนใต้มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากตั้งอยู่ก่อนแล้ว 14 โรง  ในจำนวนนี้ตั้งอยู่ใน 4 อำเภอจังหวัดสงขลา 4 โรง  จังหวัดปัตตานี 2 โรง  จังหวัดนราธิวาส 3 โรงและจังหวัดยะลา 5 โรง

 

การผลักดันโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2558  หลังปรากฏในแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งอ้างอิงจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างงาน กระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ จากนั้นชื่อ “โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” กำลังผลิตรวม 120 เมกะวัตต์ เริ่มปรากฎในแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ แผนพีดีพี ครั้งแรกในปี 2562 พร้อมระบุว่าเป็นแนวทางหลักในการจัดทำแผน

จากนั้นเพียง 1 ปี คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 2 มกราคม 2563  เห็นชอบให้ดำเนินการ “โครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” กำลังผลิตรวม 256.9 เมกะวัตต์ งบประมาณ 19,764 ล้านบาท ภายใต้แผนนี้จะมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 100 โรง

หากเป็นไปตามแผน คาดการณ์ว่าภายในปี 2580 ชายแดนภาคใต้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก รวมกันไม่น้อยกว่า 430 เมกะวัตต์

วันที่ 25 กันยายน 2564 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ประกาศรายชื่อโรงไฟฟ้าที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ 43 โรง พบว่า ในจำนวนนี้ 7 โรงอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ เท่ากับว่า ปัจจุบัน ในพื้นที่ชายแดนใต้มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากได้รับใบอนุญาตแล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 23 โรง และจากการสืบค้นพบว่ามีอย่างน้อย 10 โรงอยู่ภายใต้กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม ส่วนโครงการที่เหลือเกือบทุกโครงการ ต่างก็อยู่ภายใต้กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศแทบทั้งหมด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง