ส่องข้อดี-ข้อเสีย "สุราพื้นบ้าน" หลังปลดล็อก

สังคม
2 พ.ย. 65
17:07
10,993
Logo Thai PBS
ส่องข้อดี-ข้อเสีย "สุราพื้นบ้าน" หลังปลดล็อก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จักสุราพื้นบ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โอทอป 4 ดาวจากภูมิปัญญา โกยรายได้ปีละ 100 ล้านบาท ผู้นำกลุ่มชี้หลังปลดล็อกวันแรก ช่วยขยายโอกาสผลิตสินค้ามากขึ้น ขณะที่ปีนี้สรรพสามิต ให้ใบอนุญาตผลิต สินค้าสุรารวม 226 ใบ
ดูข่าวแล้วว่ามีกฎกระทรวงผลิตสุราออกมาใหม่ แต่ต้องดูข้อมูลอย่างละเอียดว่าจะกระทบกับชุมชนหรือไม่

กัญญาภัค ออมแก้ว ตัวแทนชุมชนสุราสักทองแพร่ บ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ หลังสอบถามถึงกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้วันแรก

เธอบอกว่า กฎหมายเพิ่งออกมาสดๆ ร้อนๆ ยังตั้งรับไม่ทัน ต้องขอดูรายละเอียดทั้งหมด และเตรียมพูดคุยกับเครือข่ายผู้ผลิตสุราในพื้นที่อีกครั้งว่าจะมีข้อดีข้อเสีย และแนวทางอะไรที่จะกระทบกับผู้ผลิตสุราหรือไม่ 

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

กางข้อดี-ข้อเสียมุมชุมชนผลิตสุราพื้นบ้าน 

เบื้องต้นดูจากข่าวที่เสนอออกมา ที่ชัดคือการปลดล็อกกำลังการผลิต 5 แรงม้าไม่เกิน 50 แรงม้า ใช้คนงานตั้งแต่ 7 คน -ไม่เกิน 50 คน อาจจะมีทั้งข้อดี และข้อเสียกับวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตสุราพื้นบ้าน ถ้าจะขยายการผลิต ก็ทำได้มากขึ้น

ข้อกังวลบอกว่า สุราสามารถผลิตในบ้าน สำหรับคนที่อยากลองผลิตสุราพื้นบ้านกินเอง ก็อาจจะกระทบกับยอดขายหรือไม่ เพราะใครๆ ก็ผลิตได้ ถ้าทำในบ้าน แต่ถ้าไม่ได้คุณภาพ ก็คือข้อเสียกับผู้บริโภค 

อ่านข่าวเพิ่ม ราชกิจจาฯ ประกาศกฎกระทรวง ปลดล็อก "การผลิตสุรา" มีผลบังคับใช้ 2 พ.ย.

นอกจากนี้ ข้อกังวลที่อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นเหล้าสี ก็อาจยังทำไม่ได้ โดยสุราพื้นบ้านของสะเอียบ เอกลักษณ์คือทำจากข้าว และสมุนไพร  

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ตัวแทนชุมชนสุราสักทองแพร่ บอกอีกว่า ขณะนี้ในพื้นที่ อ.สอง มีชุมชนที่ผลิตสุราพื้นบ้านมากถึง 100 ผู้ประกอบการ และถือเป็นสินค้าโอทอปที่ขึ้นชื่อขายไปทั่วประเทศ และสร้างรายได้มากกว่าปีละ 100 ล้านบาท

ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ มีทั้งเหล้าข้าว 40 ดีกรี มีไวน์ สาโท มีการรวมกลุ่มผลิตสุราถูกกฎหมาย ขึ้นทะเบียนกับสรรพสามิต ซึ่งมีราคาที่เสียภาษี ตั้งแต่ 30-50 บาทต่อลิตร ขณะที่ดีกรีของสุราพื้นบ้านมีตั้งแต่ 28 ดีกรี 35 ดีกรี และ 40 ดีกรี ราคาขายเฉลี่ยขวดละ 80 บาท

จุดขายจะมีเหล้าข้าว 40 ดีกรี สมุนไพร ลูกแป้ง สาโท ขายเป็นโอทอป แต่พยุงอยู่ได้ แม้ว่าเสียภาษีอากรขวดละ 30-50 บาท 

เช่นเดียวกับ ความเห็นของ นายชุม สะเอียบคง กำนันตำบลสะเอียบ บอกว่า ในพื้นที่สะเอียบ มีรายได้จากการผลิตสุราพื้นบ้าน ถูกกฎหมายมากกว่าปีละ 100 ล้านบาท จากการผลิตเป็นสินค้าโอทอป แม้จะมีหลายชุมชน แต่เครือข่ายผู้ประกอบการได้รักษามาตรฐานจนได้รับการยอมรับ 

ส่วนกฎกระทรวงฉบับใหม่ จะกระทบในแง่ไหนบ้าง ทางเครือข่ายผู้ประกอบการจะมีการพูดคุยกันเร็วนี้ คงต้องเทียบกันว่าฉบับเดิม กับฉบับใหม่มีอะไรบ้าง

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

รู้จักสุราพื้นบ้านโอทอป 4 ดาวจากภูมิปัญญา 

ข้อมูลจากเพจสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ รายงานว่า สุรากลั่นพื้นบ้าน บ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ สร้างรายได้สู่ชุมชนปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่แค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้การันตีโอทอป 4 ดาวเท่านั้น

แต่สุราขาว อ.สะเอียบ คือภูมิปัญญาอันเฉียบแหลมของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ที่สืบทอดมารุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ยาวนานกว่า 200 ปี

สุราขาวของสะเอียบพิถีพิถันตั้งแต่ วัตถุดิบจะใช้ข้าวเหนียวจากอีสาน แหล่งน้ำจากภูเขาหล่มด้ง อันอุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมายจากภูเขาไฟที่ดับแล้ว เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สุราขาวมีรสชาติหอม หวาน อร่อย จนหลายคนยกย่องให้สะเอียบ คือ แหล่งผลิตสุราขาวที่ดีที่สุดในประเทศ

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ส่วนเชื้อที่ใช้หมัก จะเป็นลูกแป้งที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดมานับร้อยปี ด้วยการใช้สมุนไพรฤทธิ์ร้อน ได้แก่ พริก ดีปลี ข่า หอมขาว พริกแห้ง นำมาตากแห้ง โขลกให้ละเอียด ผสมกับข้าวเหนียวที่แช่ไว้ ปั้นเป็นลูกกลอน ไว้เป็นหัวเชื้อในการต้มเหล้า

ส่วน ส่าเหล้าที่เหลือจากการต้มกลั่น อันอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตนั้น ชาวบ้านนำไปเลี้ยงหมู ทำให้หมูอารมณ์ดี มีผลให้เนื้อที่ได้มีรสชาติดีกว่าเดิม เป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่ออีกอย่างของที่นี่ เรียกว่า หมูน้ำโจ้

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ภาพ:สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

ก่อนหน้านี้เรื่องราวของเหล้าสะเอียบ เป็นที่รับรู้ว่ากว่าจะมีวันนี้ ต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่ยุคที่การต้มเหล้า ยังไม่ถูกกฎหมาย กระทั่งมีการเปิดเสรี โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุราสักทองแพร่ เป็นผู้นำในการพัฒนาการต้มเหล้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกลุ่มผลิตสุราพื้นบ้านนับร้อยกลุ่ม

ผลิตภัณฑ์สร้างสรรขึ้นมาหลากหลาย ตั้งแต่ สุรากลั่น 30, 35 และ 40 ดีกรี สุราแช่พื้นบ้าน ไวน์ข้าว สาโท กระชายดำ ไวน์องุ่น ไปจนถึงสุรากลั่นพิเศษเทียบเท่าว้อดก้าของต่างประเทศ ถือเป็นความภูมิใจของคนในชุมชนที่มีรายได้มั่นคง และยั่งยืน

ข้อมูลการจัดเก็บภาษีสุราของ จ.แพร่ ปีงบประมาณ 2563 มีโรงงานสุรากลั่น 202 แห่ง สุราแช่ 7 แห่ง รวม 209 แห่ง เก็บภาษี 463 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 มีโรงงานสุรากลั่น 206 แห่ง สุราแช่ 6 แห่ง รวม 212 แห่ง เก็บภาษี 440 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 มีโรงงานสุรากลั่น 203 แห่ง สุราแช่ 7 แห่ง รวม 210 แห่ง เก็บภาษี 326 ล้านบาท

ภาพ:กรมสรรพสามิต

ภาพ:กรมสรรพสามิต

ภาพ:กรมสรรพสามิต

เปิดสถิติใบอนุญาตผลิต-ขายสินค้าสุราปี 65

ข้อมูลสถิติการให้บริการ ของกรมสรรพสามิต ประจำปีงบประมาณ 2565 พบว่า จำนวนใบอนุญาตผลิตสุรา (สินค้าสุรา) รวม 226 ใบ แบ่งเป็น ไตรมาสที่ 1 จำนวน 60 ใบ ไตรมาสที่ 2 จำนวน 58 ใบ ไตรมาสที่ 3 จำนวน 57 ใบและไตรมาสที่ 4 จำนวน 51 ใบ

ส่วนจำนวนใบอนุญาต สินค้าสุรา 577,326 ใบ แบ่งเป็นไตรมาสที่ 1 จำนวน 246,648 ใบ ไตรมาสที่ 2 จำนวน 188,137 ใบ ไตรมาสที่ 3 จำนวน 78,810 ใบและไตรมาสที่ 4 จำนวน 63,731 ใบ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.แก้กฎกระทรวงฯ ปรับเงื่อนไขการขอผลิต-กำลังการผลิตสุรา

ความเห็น "วิษณุ-เท่าพิภพ" หลัง แก้กฎกระทรวงปลดล็อกผลิตสุรา

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง