5 ประเด็นชวนคิด ใช้เงินกองทุน กทปส. 1.6 พันล้าน ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก

สังคม
9 พ.ย. 65
11:50
291
Logo Thai PBS
5 ประเด็นชวนคิด ใช้เงินกองทุน กทปส. 1.6 พันล้าน ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"พิรงรอง" กรรมการ กสทช. โพสต์ 5 ประเด็นชวนคิด กรณีใช้เงินกองทุน กทปส. จำนวน 1.6 พันล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบอลโลก ระบุไม่ว่าจะเลือกทางออกแบบใด กสทช.จำเป็นจะต้องคำนึงถึงความถูกต้องทางกฎหมาย ความเหมาะสมและคุ้มค่า

วันที่ 8 พ.ย.2565 ศ.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีการใช้เงินกองทุน กทปส. ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 โดยมีเนื้อความว่า

ใกล้วันที่ศึก "ฟุตบอลโลก 2022" จะเริ่มเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในขณะที่ในประเทศไทยยังไม่มีผู้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขัน นำไปสู่กระแสในสังคมที่กลัวว่าคนไทยอาจจะไม่มีโอกาสได้ชมการดวลแข้งระดับโลกในปีนี้

ขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังจากฝ่ายการเมืองให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 42.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1.6 พันล้านบาท) เพื่อการนี้

นอกจากนี้ ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งวางตัวเป็นโต้โผจัดการสิทธิการถ่ายทอดและขอรับการสนับสนุนจาก กสทช. ก็ระบุว่า กฎ “Must Have” ของ กสทช. ทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นในการต่อรองราคาค่าลิขสิทธิ์

ก่อนที่ กสทช. จะพิจารณาและตัดสินใจในกรณีดังกล่าว มี 5 ประเด็นที่สังคมควรได้รับทราบและพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและผลกระทบที่จะมีต่อสาธารณะ

ประเด็นที่ 1. กสทช. มีภารกิจตามกฎหมายในการสนับสนุนการแสวงหาเนื้อหาหรือซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเพื่อนำมาออกอากาศหรือไม่ กสทช. มีกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง จำนวนสามฉบับที่ทางรักษาการเลขาธิการ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ได้หยิบยกมาเพื่อประกอบข้อเสนอของ กกท. ให้บอร์ด กสทช. พิจารณาในเรื่องการสนับสนุนเพื่อซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ได้แก่
           1) พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 
           2) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 
          3) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (ประกาศ Must Have) 

จากข้อกฎหมายที่อ้างมา การให้เหตุผลว่า เพื่อให้คนพิการและคนด้อยโอกาสได้รับชมฟุตบอลโลกโดยเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ไม่สามารถนำมาอ้างได้ เพราะในกรณีฟุตบอลโลกปีนี้ แม้แต่คนทั่วไปก็อาจจะไม่สามารถรับชมได้ เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ประกอบกิจการรายใดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก

2. กฎ Must Have, Must Carry ของ กสทช. ที่กำหนดให้ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา 7 รายการ คือ กล่าวคือ ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก, และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ผ่านฟรีทีวี และให้ออกอากากาศทุกช่องทางการรับชมนั้น เป็นอุปสรรคต่อการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกหรือไม่ เพียงใด

3. การซื้อลิขสิทธิ์และถ่ายทอดสดรายการตามกฎ Must Have ที่ผ่านมาบริหารจัดการอย่างไร การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกสองครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นภายหลังจาก กสทช. ออกประกาศ Must Have ซึ่งบังคับใช้ในต้นปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) โดยมีการกำหนดให้แพร่ภาพผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน และโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ทั้งระบบดาวเทียม ระบบเคเบิล และระบบโครงข่ายไอพีทางสายและไร้สาย เพื่อให้สามารถรับชมได้ทั่วประเทศตามประกาศ Must Carry

ประเด็นที่ 4 เรื่องค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม หากใช้เงิน 1,600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. มาใช้ ทั้งการกระทบสภาพคล่องกองทุน ส่งผลต่อสุญญากาศการสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาบุคลากรในกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม

การใช้เงินกองทุน กทปส. เพื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก แม้จะเป็นการอุดหนุนการเข้าถึงเนื้อหาที่ระบุไว้ในกฎ Must Have แต่ กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแล จึงควรดูแลให้ผู้ประกอบการทำตามกฎที่มี มากกว่าจะเข้ามาแทรกแซงตลาดโดยใช้งบประมาณจากกองทุน กทปส. ซึ่งกำหนดไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในระยะยาวและมีความยั่งยืนทางสังคมสูงกว่า

ประเด็นที่ 5. หากไม่มีเอกชนซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ใครควรเป็นผู้ดูแล และจะบริหารจัดการอย่างไร ถ้าไม่มีเอกชนซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ใครควรเป็นผู้ดูแล โดยชี้ถึงพันธกิจ อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ที่ กกท. ควรเป็นผู้ดูแลเรื่องการได้ลิขสิทธิ์ แต่หากจะถ่ายทอดผ่านช่อง T Sports ของ กกท. อาจจะกระทบกับการแทรกแซงตลาดได้

พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 จัดตั้ง “การกีฬาแห่งประเทศไทย" (กกท.) เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติขึ้นในการกีฬาแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ส่งเสริมกีฬา จัด ช่วยเหลือ แนะนํา และร่วมมือในการจัดและดำเนินกิจกรรมกีฬา ติดต่อร่วมมือกับองค์การหรือสมาคมกีฬาทั้งในและนอกราชอาณาจักร ประกอบกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวแก่หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬา

ส่วน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนทำหน้าที่บริหารกองทุน กทปส. ด้วยการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนต่อ กสทช.โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้
1. เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง การวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส พัฒนาบุคลากรและองค์กรวิชาชีพ ตลอดจนสนับสนุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
2. เพื่อใช้สำหรับกิจกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง
3. เพื่อใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะต้องมีการใช้จ่ายตามแผนการให้บริการอย่างทั่วถึงในกิจการโทรคมนาคม
4. เพื่อสนับสนุนการใช้คลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสนับสนุนการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่มีผู้ได้รับอนุญาตไปเพื่อนำมาจัดสรรใหม่และสนับสนุนการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่

หากพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จะเห็นได้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ส่งเสริมกีฬา จัด ช่วยเหลือ แนะนํา และร่วมมือในการจัดและดำเนินกิจกรรมกีฬา ติดต่อร่วมมือกับองค์การหรือสมาคมกีฬาทั้งในและนอกราชอาณาจักร ประกอบกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวแก่หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬา โดยมีกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และมีรายได้อันเกิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมด้านการกีฬาของประเทศโดยตรง

ส่วน กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแลด้านการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ซึ่งเป็นภารกิจด้านการสื่อสารและการแพร่ภาพและเสียงไปสู่สาธารณะ ดังนั้น กรณีการถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้น ส่งเสริม ให้คนไทยมีความรักในกีฬา พัฒนาทักษะด้านการกีฬาฟุตบอลของคนไทย ผ่านการรับชมรายการแข่งขันระดับโลกเช่นนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทยจึงถือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลการได้รับสิทธิ์การถ่ายทอด ซึ่งหากการกีฬาแห่งประเทศไทยได้รับสิทธิมาแล้วการบริหารจัดการเพื่อการถ่ายทอดสดในประเทศไทยก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการแพร่ภาพกระจายเสียงในประเทศไทยที่ กสทช. เป็นผู้กำกับดูแล

ทั้งนี้ ในส่วนบทบาทของ กสทช. ในการสนับสนุนนั้น มีข้อควรพิจารณาว่า หาก กสทช. จะให้การสนับสนุนเงินผ่านการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในกำกับของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อันเป็นผู้รับใบอนุญาตดำเนินการช่องรายการทีวีดิจิตอล T Sports หมายเลข 7 ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 นั้น

ตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะของช่อง T Sports 7 ได้มีการกำหนดว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องไม่ดำเนินการที่ส่งผลหรืออาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจ และต้องไม่เข้าแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินทางปัญญา เว้นแต่ไม่มีผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจรายใดประสงค์จะดำเนินการเพื่อให้ได้รับสิทธิถ่ายทอดในรายการนั้น ซึ่ง T Sports 7 ยังต้องยื่นข้อเสนอขอให้บริการถ่ายทอดการแข่งขันดังกล่าวต่อ กสทช. ด้วย

ดังนั้น การสนับสนุนให้ กกท. ดำเนินการอาจส่งผลให้กลายเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการบริหารจัดการการถ่ายทอดได้ และอาจขัดกับเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตซึ่งถือเป็นกฎหมายเฉพาะที่ กสทช. เป็นผู้บังคับใช้เอง

นอกจากนี้ การชดเชยเงินให้ RS เมื่อปี พ.ศ. 2557 ส่วนหนึ่งก็เป็นไปตามนโยบายคืนความสุขให้ประชาชนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซี่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในขณะนั้น หาก กสทช. จะมาจัดสรรเงินตามคำขอของการกีฬาแห่งประเทศไทยซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับช่อง T Sports หมายเลข 7 ในครั้งนี้ ก็จะเป็นการเข้าไปแทรกแซงตลาด ซึ่งขัดกับหลักการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมที่องค์กรกำกับดูแลมีหน้าที่ต้องยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย

อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนด้วยว่า หาก กสทช. ตัดสินใจสนับสนุนทางการเงินในครั้งนี้ การจัดการเรื่องการออกอากาศและการแบ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจจะทำอย่างไร และการโอนผลประโยชน์ทางธุรกิจจากสิทธิในการถ่ายทอดกลับมาทดแทนเงินสนับสนุนที่ได้จากกองทุน กทปส.จะทำได้หรือไม่ อย่างไร (อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยในสื่อมวลชนที่ระบุว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้จะสร้างรายได้ในภาคเศรษฐกิจถึง 4 หมื่นล้านบาท)

ไม่ว่าจะเลือกทางออกแบบใด กสทช. จำเป็นจะต้องคำนึงถึงความถูกต้องทางกฎหมาย ความเหมาะสมและคุ้มค่า รวมถึงการสนับสนุนกลไกตลาด การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ตลอดจนการพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งในการนี้ กสทช. จำเป็นที่จะต้องเร่งทบทวนผลดี ผลเสียของการบังคับใช้กฎ Must Have และ Must Carry ให้สอดคล้องกับบริบททางอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อลดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและสังคมต่อไป 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง