"วัยทำงาน-เกษียณ- สูงอายุ" เสี่ยงสูงฆ่าตัวตาย

สังคม
9 พ.ย. 65
13:29
745
Logo Thai PBS
"วัยทำงาน-เกษียณ- สูงอายุ" เสี่ยงสูงฆ่าตัวตาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ฮิคิโคโมริ" ไม่เสี่ยงฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิตชี้รอยต่อ 2 ช่วงวัย สถานะสังคมเปลี่ยนให้เฝ้าระวัง เผยคนไทยฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน สำเร็จ 4,000 คน

ตัวเลขจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เฉลี่ยแล้วคนไทยมีความพยายามฆ่าตัวตาย 53,000 คนต่อปี ฆ่าตัวตายได้สำเร็จประมาณ 4,000 คนต่อปี และคนที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จนั้นมีแนวโน้มที่จะพยายามกลับมาฆ่าตัวตายซ้ำอีก

หากตัวดูเลขการตายอย่างผิดธรรมชาติของประชากรไทยพบว่า อันดับ 1 คือ อุบัติเหตุ อันดับ 2 คือการฆ่าตัวตายและอันดับ 3 คือการฆ่ากันตายจึงเห็นได้ว่าการฆ่าตัวตายนั้นมีตัวเลขเฉลี่ยที่สูงกว่าการฆ่ากันตาย และพบว่าเฉลี่ยแล้ว 9.55 นาที จะมีคนพยายามฆ่าตัวตาย 1 คน ขณะที่ 2 ชั่วโมงจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน

องค์การอนามัยโลกบอกว่าสถิติปี 2562 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 703,000 คน โดยอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 9.0 คนต่อประชากรหนึ่งแสน ขณะที่การฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ 77% เกิดในประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำและปานกลาง

คาดว่าในแต่ละปีจะมีการฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน หรือเท่ากับมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที

พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ปัจจุบันการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัญหาสุขภาพ และมิติการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนผ่าน ไม่สามารถจัดการ ช่วยเหลือตัวเองได้ มีโรคเรื้อรัง ความเจ็บปวดของโรค แต่การรักษาทำให้ยืดชีวิตต่อไปทั้งที่ยังเจ็บปวด หรือพิการ ป่วยติดเตียง

ในแง่มุมการรักษา ผู้ป่วยมะเร็ง ทางการแพทย์รักษาได้หลายวิธี เช่น ฉายแสง ใช้เคมีบำบัด แต่สภาพจิตใจผู้ป่วยรู้สึกไม่ดี ไม่เข้าใจกระบวนการรักษา หรือผู้ป่วยไม่มีผู้ดูแล คือ ปัจจัยที่ทำให้อยากฆ่าตัวตาย ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เกิดกับผู้ป่วย และคนสูงอายุเท่านั้น วัยรุ่นตอนปลาย วัยทำงาน วัยผู้ใหญ่ตอนต้น รวมทั้งวัยที่อยู่ในช่วงรอยต่อของสภาพวัย เช่น เกษียณอายุราชการ เปลี่ยนบทบาทหรือหน้าที่ในครอบครัว จัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเช่นกัน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจเมื่อเดือนมี.ค.2565 พบว่า ความเครียดของคนทั้ง 2 วัย วัยรุ่นตอนปลายสูงกว่าวัยผู้ใหญ่ถึง 4 เท่าแต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะฆ่าตัวตายมากกว่าและความเครียดไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงที่ทำให้ฆ่าตัวตายเสมอไป อย่างไรก็ตาม อัตราการฆ่าตัวตายของคนกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆมาประมาณ 4 ปีแล้ว

สาเหตุหลักเกิดจากเป็นวัยที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน และเกิดขึ้นพร้อมๆกับสัมพันธภาพทางครอบครัวที่เปลี่ยนไป มีสภาวะสับสน ถูกกดดันจากปัญหา การเงิน เศรษฐกิจ ทำให้เปราะบางได้ง่าย

พญ. อัมพร กล่าวว่า แม้องค์การอนามัยโลก(WHO )เคยระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายติดลำดับต้นๆในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น ต้องยอมรับว่าประเทศที่มีความเจริญทางวัตถุและมีความเป็นเมืองสูง อัตราการฆ่าตัวตายก็จะสูงกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ก็มีการฆ่าตัวตายสูงกว่าประเทศอื่น

เนื่องจากบรรยากาศในภาพรวมสังคมมีความคาดหวังสูง มีมาตรฐานชีวิตที่ดี แต่คนสูงวัยในประเทศญี่ปุ่น ค่อนข้างหดหู่ คนวัยทำงานมักจะอยู่ในเมือง คนวัยชราที่มีอายุยืนมักจะใช้ชีวิตตามลำพัง และโดดเดี่ยว จึงทำให้เกิดเหตุการณ์สลดคุณตาชาวญี่ปุ่นผลักคุณยายที่เป็นผู้ป่วยลงทะเลไปพร้อมรถวีลแชร์

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า หากเปรียบเทียบสังคมญี่ปุ่นกับบ้านเรา แม้ไทยจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทเข้าเมือง แต่ด้วยวัฒนธรรมและบริบทของสังคมที่เป็นครอบครัวขยาย มีระบบเครือญาติไปมาหาสู่ มีภาครัฐดูแล มีกลุ่มจิตอาสา และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)ที่เรียกว่า ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ผลัดกันแวะเวียนเข้ามาดูแล ในกรณีที่บ้านของชาวบ้านครอบครัวไหนมีผู้ป่วยติดเตียง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการปกป้องไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าว

สัญญาณเตือนฆ่าตัวตาย

อัตราการฆ่าตัวตายตัวเลขตั้งแต่ปี 2561 -2563 ตัวเลขยังทรงๆ คือ 7-8 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือมีอัตราอยู่ที่ 7.37 ต่อแสนประชากร ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีอัตราอยู่ที่ 7.35 ต่อแสนประชากร ในยุทธศาสตร์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ พ.ศ.2564 - 2565 กำหนดให้อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จต้องไม่เกิน 8.0 ต่อแสนประชากร

สำหรับคนที่คิดจะฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะมีสัญญาณเตือนในรูปแบบต่างๆ ผ่านการกระทำ คำพูด การเขียน การสั่งเสีย การรำพึงรำพันถึงความตาย การตัดพ้อ การมอบสิ่งที่รักให้คนนั้นคนนี้ บางคนอาจจะเตรียมตัวจัดหาอุปกรณ์ ติดตามข่าวสารค้นหาข้อมูลว่ามีอะไรบ้าง

สาเหตุการฆ่าตัวตายในเพศชายจะเกิดจากปัญหาด้านเงินทอง เศรษฐกิจ และหน้าที่การงาน แต่ในเพศหญิงมักจะมีปัญหาจากความสัมพันธ์ ความรัก หรือความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก ซึ่งในเพศชายและเพศหญิงจะมีความต่างกัน แม้อัตตราการฆ่าตัวตายจะใกล้เคียงกัน และผู้ชายทำสำเร็จมากกว่าผู้หญิง

และผู้ชายจะใช้วิธีการรุนแรงกว่าผู้หญิง แม้ผู้หญิงจะพยายามฆ่าตัวตายบ่อยกว่า แต่ไม่ได้สำเร็จทุกคน เพราะวิธีการจะมีความแตกต่างตามลักษณะทางเพศด้วย

ต้องยอมรับว่าคนที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะมีบาดแผลลึกซึ้งและยาวนาน จึงต้องใช้เวลาการบำบัดยาวนานมาก นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในภาวะที่จะฆ่าตัวตายจะไม่เหลือพลังงานที่บอกจะใคร

ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาคือ คนรอบตัวจะต้องมีความใส่ใจ ไม่ใช้คำพูดหรือการกระทำในแง่ลบ ต้องพยายามทำความเข้าใจเพื่อลดปัญหาดังกล่าวให้ได้

พบแล้วป่วยฮิคิโคโมริในไทย

นอกจากนี้พญ.อัมพร ยังอธิบายสถานการณ์ฮิคิโคโมริ (Hikikomori)ว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เกิดกับกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่ชอบเก็บตัวอยู่ในบ้าน มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ มีพฤติกรรมสวนทางกลับกลุ่มวัยรุ่นทั่วไป ไม่ยอมออกไปไหน ปฏิเสธการเข้าสังคม และการแสวงหาอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเอง ทางจิตวิทยาเชื่อว่า คนกลุ่มนี้มีปัญหาทางอารมณ์ และมีภาวะซึมเศร้า

ในไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลทางการ แต่จากประสบการณ์การตรวจรักษาผู้ป่วย พบว่ากลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นที่เข้ามารับการรักษามีภาวะป่วยด้วยโรคนี้ ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ปัญหาของฮิคิโมริว่า เพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร และมีความสัมพันธ์กับปัญหาอะไรบ้าง

ฮิคิโคโมริไม่ได้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เรายังไม่ทราบสาเหตุของปัญหาว่าเกิดจากอะไร ครอบครัว การเลี้ยงดู การเข้าถึงสื่อ หรือสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ทำให้เด็กอ่อนไหว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง