แนะเยาวชนรู้จักสามเหลี่ยมอาชญากรรม เฝ้าระวังก่อนเกิดเหตุร้าย

สังคม
14 พ.ย. 65
07:35
2,000
Logo Thai PBS
แนะเยาวชนรู้จักสามเหลี่ยมอาชญากรรม เฝ้าระวังก่อนเกิดเหตุร้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจมือสเก็ตช์ภาพ ชวนรู้จัก 3 เหลี่ยมอาชญากรรม ให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันก่อนเกิดเหตุอาชญากรรม พร้อมย้ำครอบครัวกุญแจสำคัญแก้ปัญหาการเกิดอาชญากรรมในเด็ก

วันนี้ (14 พ.ย.2565) พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผกก.ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 สํานักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ ไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงการเฝ้าระวังและป้องกันอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ที่มักพบเห็นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการชิงทรัพย์ ล่อลวง หรือ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

เฝ้าระวัง 3 เหลี่ยมอาชญากรรม

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาอาชญากรรมที่มักเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการประสงค์ต่อทรัพย์ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ควรสอนให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักในการป้องกันตัว คือ การรับรู้สถานการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรม โดยเฉพาะ สามเหลี่ยมอาชญากรรม ซึ่งประกอบด้วย 1.เป้าหมาย 2.ผู้ก่อเหตุ และ 3.โอกาส (เวลาและสถานที่) ดังนั้น หากเยาวชน หรือ ประชาชนสามารถทราบเบื้องต้นถึงหลักการเหล่านี้ก็จะช่วยความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมได้

หากสอนให้รู้จักการเพิ่มการรับรู้สถานการณ์ เมื่อต้องไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็ช่วยให้หลีกเลี่ยงได้ เช่น ไม่ไปในที่เปลี่ยว มืด ในช่วงกลางคืน หรือ มองรอบตัวก่อน เพื่อป้องกันผู้ที่จะก่อเหตุ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงหรือลดโอกาสเหล่านี้ได้


เช่น การเดินเข้าไปในสถานที่ใด เราเห็นคนกำลังใช้อาวุธปืนก็สามารถหลบเลี่ยงได้ แต่ในโลกปัจจุบันที่เรามักที่จะไม่รับรู้สถานการณ์ เพราะใช้มือถือกันเยอะ เดินไปไหนก็จะดูมือถือด้วย ตรงนี้จะทำให้สมาธิเราขาดหายไป การรับรู้สถานการณ์ก็จะลดน้อยลง แทนที่จะเห็นผู้ก่อเหตุในระยะไกลแล้วหลบหนีได้ แต่ก็เดินไปจนใกล้ถึงสถานการณ์นั้น ก็จะแก้ไขจะปัญหาลำบาก

 

ขณะที่วิธีการเมื่อเผชิญเหตุแล้วนั้นจะแก้ไข สถานการณ์จะค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนนั้นเป็นไปได้ยาก ซึ่งตำรวจก็พยายามประชาสัมพันธ์หลัก "หนี ซ่อน สู้" ซึ่งหากรับรู้สถานการณ์ ก็จะสามารถหนีได้ทัน ซึ่งหากหนีแล้วหนีไม่ได้ก็ควรที่จะใช้วิธีอื่น หรือ การซ่อน นั้นพื้นฐานก็มาจากการสังเกตสถานที่ทำให้รู้จักบันได ห้องต่าง ๆ ในการซ่อนตัวได้ เมื่อมีเหตุการณ์ขึ้น


หวังชิงทรัพย์ อาชญากรรมอันดับ 1 ต่อเด็ก

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ อาชญากรรมที่มักเกิดขึ้นกับเด็ก คือ 1.ประสงค์ต่อทรัพย์เพราะเด็กหรือวัยรุ่นมักที่จะพกทรัพย์สินมีค่า เนื่องจากเด็กและเพศที่อ่อนแอมักที่จะตกเป็นเป้าหมายของผู้ไม่หวังดี 2.หากเป็นเพศหญิงก็อาจจะเป็นอาชญากรรมทางเพศ 3.ขณะที่คดีทะเลาะวิวาทมักเกิดจากกรณีที่มีปัญหาระหว่างกันหรือระหว่างกลุ่ม

ดังนั้น ในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ควรแต่งกายให้เหมาะสม ไม่ควรเพิ่มแรงกระตุ้นให้กับอาชญากร โดยเฉพาะการเดินทางที่ไม่ใช่รถส่วนตัว สถานที่ที่ไม่ปลอดภัย ทรัพย์ก็ไม่ควรพกติดตัวมากเกินไป เพราะแรงจูงใจในการก่อเหตุคือ สิ่งของและทรัพย์สิน

ขณะที่ในสื่อสังคมออนไลน์มักเป็นการหลอกให้หลงเชื่อในสิ่งที่โฆษณา เช่น ลงทุนน้อยแต่ได้มาก รวมถึงแหล่งเงินกู้ ซึ่งเป็นการหลอกลวง ผู้ที่ไม่มีทางออก ขอเตือนว่า การจะได้อะไรง่าย ๆนั้นไม่มี เราต้องมีสมาธิ และไตร่ตรองให้ดี

หากเทียบกับสามเหลี่ยมอาชญากรรม ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ก็คือ สถานที่เสี่ยง เมื่อโอกาสอำนวย ถ้าเจอคนดีก็โอเคช่วยเหลือให้คำปรึกษา แต่ถ้าเป็นผู้ไม่หวังดีก็จะใช้โอกาสนี้ในการล่อลวง มีหลายคดีที่หลอกเด็กออกไปจากบ้านแล้วก่อคดีที่รุนแรง

ในเด็กและครอบครัวปัญหาที่สำคัญ นั้นมาจากปัญหาครอบครัว เด็กจึงหาตัวช่วย หาที่ปรึกษา จากคนภายนอกไปจนถึงสื่อสังคมออนไลน์ จึงเจอเพื่อน ซึ่งตรวจสอบได้ค่อนข้างยาก

ขณะที่เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด มีบทเรียนสำคัญที่ตนเองมักสอนอยู่เสมอ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในต่างประเทศ ขณะที่ในไทยที่มักยกตัวอย่าง คือ เหตุการณ์ระเบิดย่านราชประสงค์ สิ่งสำคัญคือ การรับรู้สถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญเพราะเหตุการณ์แบบนี้มักที่จะไม่มีใครคาดคิดว่า จะเกิดที่ใด เมื่อไหร่ และผู้ที่ก่อเหตุไม่ปกติ

ครอบครัวกุญแจสำคัญป้องกันเด็กกลายเป็นอาชญากร

พ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นส่วนสำคัญในการช่วยป้องกัน เนื่องจากเด็กยังรู้ไม่เท่าทันอาชญากร หากพ่อแม่ผู้ปกครองให้คำแนะนำและปัญหาครอบครัวไม่มีก็จะปิดช่องทางของอาชญากรได้เป็นอย่างมาก

รวมถึงกรณีที่เด็กมีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรม นั้นความอบอุ่นของครอบครัวก็ถือว่าเป็นหลัก เมื่อมีปัญหาผู้เใหญ่จะต้องแก้เด็กไม่สามารถแก้ได้ เนื่องจากเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ อาจรู้ถูกรู้ผิดไม่ดีนัก ทำให้เมื่อมีปัญหาและอาจเดินทางผิด ผู้ใหญ่จึงต้องป้องกันดังนั้น อย่าไปแก้ที่ปลายเหตุ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ดูแลบุตรหลาน ให้ความสำคัญ ดูแล รวมถึงอาจมีเครือข่ายระหว่างผู้ปกครองและเด็ก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง