ภาคประชาชนติงโมเดล BCG เอื้อประโยชน์นายทุน

เศรษฐกิจ
15 พ.ย. 65
11:41
404
Logo Thai PBS
ภาคประชาชนติงโมเดล BCG เอื้อประโยชน์นายทุน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพยายามผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy เข้าสู่เวทีเอเปค แต่แนวคิดนี้เครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่ามีวาระซ่อนเร้น เป็นการฟอกเขียวและเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

เครือข่ายภาคประชาชน โดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, สถาบันชุมชนพัฒนาท้องถิ่นพัฒนา, มูลนิธิชีววิถีและกรีนพีชประเทศไทย ร่วมจัดเสวนา "วิพากษ์การประชุม APEC และแผนปฏิบัติการ BCG เพื่อผลประโยชน์ใคร?"

หลายฝ่ายเห็นว่า แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy Model หรือ BCG) เป็นแนวคิดที่ดี แต่ในรายละเอียดกลับมีความย้อนแย้งและมีวาระซ่อนเร้น และเป็นไปเพื่อผลักดันสิ่งที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ต้องการ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า แนวคิด BCG นี้ถูกขับเคลื่อนโดยทุนขนาดใหญ่หลายกลุ่มที่เข้าร่วมเป็นกรรมการ ไม่ว่ากลุ่มน้ำตาล อาหาร แอลกอฮอล์ เพื่อกำหนดทิศทางที่ทำให้กลุ่มทุนได้ประโยชน์

โดยชี้ว่ามีหลายประเด็นที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุน เช่น การปลดล็อกกฎหมายต่างๆ ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ เปิดทางให้มีการปลูกพืช GMO การแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อแก้นิยามพันธุ์พืชพื้นเมือง รวมไปถึงการเสนอปลดล็อกกฎหมายส่งเสริมเอกชนปลูกป่าในที่ดินรัฐ 3.2 ล้านไร่ พร้อมลดภาษีคาร์บอนเครดิต หรือการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

มีหลายบริษัทเริ่มดำเนินการ เช่น บริษัทพลังงาน ซึ่งมองว่าเป็นการฟอกเขียว ขณะเดียวกันเป็นการเบียดเบียนทรัพยากรของประชาชน และเปิดทางให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมสามารถขยายธุรกิจที่ได้มาจากการแย่งชิงทรัพยากร

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า เป้าหมายการผลักดันแนวคิด BCG เข้าสู่เวทีเอเปค ไทยต้องการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ข้อ เช่น การสร้างระบบการค้าการลงทุนที่ยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน การจัดการขยะ เป็นต้น

แต่ในแผนปฎิบัติยังไม่ชัดเจน เช่น เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดการขยะรีไซเคิล เป็นการเปิดโอกาสให้นำของเสียกลับมาใช้ใหม่ เช่น ขยะพลาสติก และไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางรับขยะจากต่างประเทศและไม่ได้มีแนวทางว่าจะจัดการอย่างไร

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ระบุว่า การผลักดันเรื่อง BCG ถือเป็นวาระสำคัญของการประชุมปีนี้ที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

สำหรับแนวคิด BCG รัฐบาลต้องการให้เป็นมรดกสำหรับสมาชิกเอเปคหลังจากจบการประชุม ก่อนจะส่งต่อให้กับสหรัฐอเมริกาที่จะเป็นเจ้าภาพในปี 2566 เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในหมู่สมาชิกให้ดำเนินงานเรื่องนี้ร่วมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก "โมเดลเศรษฐกิจ BCG" วาระแห่งชาติของไทยในการประชุมเอเปค 2022

ค้าน ‘APEC -โมเดล BCG’ ชี้นโยบายสวนทาง-ผูกขาดการจัดการทรัพยากร

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง