โลกฉลอง 8 พันล้านคน พร้อมกับไตร่ตรองสร้างโลกที่แข็งแรงขึ้น

สังคม
15 พ.ย. 65
15:37
240
Logo Thai PBS
โลกฉลอง 8 พันล้านคน พร้อมกับไตร่ตรองสร้างโลกที่แข็งแรงขึ้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประชากรโลกครบ 8 พันล้านคนในวันนี้ (15 พ.ย.2565) โลกตื่นตัวและต้องตื่นรู้เพื่อสร้างโครงสร้างทางสังคมที่แข็งแรง รองรับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กำลังจะตามมาจากประชากรจำนวนมากเช่นนี้

ในที่สุด โลกก็มีประชากรครบ 8 พันล้านคนแล้ว นับเป็นอีก 1 เหตุการณ์สำคัญของโลกที่ต้องร่วมกันเฉลิมฉลอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไตร่ตรองว่า

เราจะร่วมกันสร้างโลกที่มีคน 8 พันล้านคน ให้มีศักยภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร

การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ การเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพ และการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ล้วนแต่เป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของการพัฒนาประชากรโลกทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลถึงคุณภาพประชากรโลกในอนาคตได้ เช่น อัตราการเกิดของทารกที่เพิ่มขึ้น เด็กๆ มีความสามารถรอดชีวิตในวัยเด็กจนถึงวัยทำงาน และอายุขัยของผู้สูงอายุที่ยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีขึ้น

ความเหลื่อมล้ำ บ่อเกิดแห่งปัญหา

ความเหลื่อมล้ำของสังคมมีในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างวัย การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ โอกาส ทรัพยากร ยิ่งความกว้างของปัจจัยเหล่านี้มีมากเท่าไหร่ จะพบว่ามีปัญหาตามมาอีกมากเท่านั้น เช่น ความรุนแรง ความขัดแย้ง ความยากจน และสุขภาพที่เจ็บป่วยของคนในสังคม

ยกตัวอย่างเช่น การดูแลหรือให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา การคุมกำเนิด ที่ผู้หญิงในหลายประเทศยังไม่สามารถเข้าถึง และได้รับการดูแลจัดการที่ดีพอ หรือแม้แต่การเลือกปฏิบัติในระดับนโยบายของบางประเทศ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างทางสังคมที่กว้างขึ้น สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบต่ออัตราการเกิดของประชากรในบางประเทศลดลง แต่อีกในบางประเทศเพิ่มขึ้นทันที

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

ความท้าทายอีกอย่างคือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ทรัพยากรของโลกที่มากเกินไป สังคมจำเป็นต้องปฏิรูปแนวความคิดเดิม ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ การพัฒนาประชากร ที่จะไม่นำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่มากจนเกินไป จนทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามมา

การลงทุนที่ดีที่สุด คือลงทุนกับคน

ในเรื่องความขัดแย้งภายในของแต่ละประเทศ นำพาไปสู่การย้ายถิ่นที่อยู่ของคนนั้น แต่ละประเทศและชุมชนจะต้องหาวิธีรองรับที่เหมาะสม เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการศึกษา การดูแลสุขภาพที่ดี การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างเป็นระบบ โดยต้องปราศจาก ความขัดแย้งทางเพศ เชื้อชาติ ความทุพพลภาพ รสนิยมทางเพศ หรือสถานะการย้ายถิ่นฐาน ที่คนและสังคมต้องมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถเติบโตได้ในโลกปัจจุบันต่อไปได้

จริงอยู่ที่แนวโน้มการเติบโตของประชากร จะช่วยกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศได้ แต่ก็อย่าลืมว่า การกำหนดนโยบายของแต่ละประเทศหรือแต่ละท้องถิ่นนั้น ไม่สามารถทำได้เหมือนกันทั้งหมด เช่น นโยบายการส่งเสริมการมีบุตร ที่ต้องมองถึงสิทธิในร่างกายของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างรากฐานสำหรับสังคมที่ยืดหยุ่น ครอบคลุม ที่สามารถรับมือกับความท้าทายของโลกในอนาคตต่อไปได้

ที่มา : องค์การสหประชาชาติ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง