ก้าวต่อไป ขอนแก่น เมืองไม่ทิ้งเด็ก

สังคม
19 พ.ย. 65
08:07
260
Logo Thai PBS
ก้าวต่อไป ขอนแก่น เมืองไม่ทิ้งเด็ก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายพยายามหาแนวทางแก้ไข ถึงขนาดที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระหลัก และมีนโยบายจะทำให้เด็กหลุดนอกระบบหรือ Drop out กลายเป็นศูนย์ ภายในปี 2565 นโยบายนี้ถูกส่งให้แต่ละจังหวัดดำเนินการ

แต่หลายจังหวัด ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในจังหวัดมาก่อนแล้ว หนึ่งในนั้น คือ "ขอนแก่น" จังหวัดที่ได้รับการยอมรับว่า สามารถระดมความร่วมมือจากหลายภาคส่วนมาช่วยกันแก้ปัญหาเด็กยากจน-ด้อยโอกาส และเด็กนอกระบบให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผลงานล่าสุด คือ การสร้างบ้านใหม่ให้ "บุญรอด" เด็กหญิงดรุณี หวานเหย

ไทยพีบีเอสพูดคุยกับ "อุทัยรัตน์ อนุสุเรนทร์" ผอ.กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล ศธจ.ขอนแก่น หนึ่งในกำลังสำคัญ หรือ Core team ตัวแทนจาก 4 กระทรวงหลัก ว่าอะไรคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ จ.ขอนแก่น เดินมาไกลขนาดนี้ และอะไรคือโจทย์ที่ต้องทำต่อ

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

บ้านหลังใหม่ของ "บุญรอด" ฟื้นชีวิตผู้หญิงตัวเล็กๆ และครอบครัว

ถ้าเด็กเปิดใจ ลืมคำว่า "เวลา" ไปเลย

อุทัยรัตน์ อนุสุเรนทร์ หรือแม่อู๋ ของเด็กๆ บอกว่า ความสำเร็จมาจากทั้ง 4 กระทรวงหลักที่ทำงานร่วมกัน ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด มีเครือข่ายคนทำงานในพื้นที่ เช่น ครู อปท. กำนันผู้ใหญ่บ้าน อสม. อพม.ที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็กอยู่แล้ว

แต่ความยาก คือ การเข้าถึงตัวเด็กที่มีปัญหา เพราะเกือบทุกกรณีจะมีปม หรือ ร่องรอยบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ

การลงพื้นที่ไปพบปะพูดคุยหลายๆ ครั้ง จึงเป็นขั้นตอนการทำงานที่สำคัญที่สุด ถ้าเด็กเปิดใจ ก็จะเป็นต้นทางการระดมความช่วยเหลือให้ตรงกับปัญหาและความต้องการ

"ทำไมต้องคุย ทำไมต้องใช้เวลานานเมื่อลงพื้นที่ ก็เพื่อให้เขาเปิดใจกับเรา สร้างความไว้วางใจ เป็นเพื่อน มองตา พูดคุย ก็จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่า เขากับเราคุยกันได้ ถ้าคุยกันได้ ไว้วางใจ เป็นเพื่อน เขาก็จะบอกว่า เขาต้องการอะไร เขาอยากจะทำอะไร เขามีความรู้สึกยังไง มันถึงจะทำให้การทำงานในการช่วยเหลือไปต่อได้"

แต่จะทำอย่างนี้ได้ อุทัยรัตน์ ย้ำว่า คนทำงานต้องตระหนักว่า "เรากับเขาเท่ากัน" ไม่ใช่ว่าเรามาจากราชการแล้วจะไปสั่งเขาได้ เพราะแน่นอนว่าไม่มีใครต้องการประโยคคำสั่ง ส่วน เวลาทำงานก็ต้องปรับไปตามสภาพ ถ้าเด็กเริ่มเปิดใจคุย ก็จำเป็นต้องตัดคำว่า "เวลา" ออกไป

ฐานข้อมูล กุญแจสำคัญ

เมื่อเปิดใจคุยกันได้ สิ่งที่ได้กลับมา คือ "ข้อมูล" ที่คนทำงานจะประมวล และส่งต่อมาให้ Core team จังหวัด มาร่วมกันคัดกรองและจัดลำดับความรุนแรงของปัญหาว่า ใครหนักเบา เพื่อจะได้ช่วยเหลือตามแผนที่ผู้จัดการรายกรณี (Case Manager-CM) วางไว้

"ถ้าคนหาข้อมูล และคนที่จะช่วยแก้ปัญหาเป็นคนเดียวกันก็เหมือนเราชงสำเร็จรูป แค่เอาน้ำใส่ มันก็สามารถกินได้เลย มันก็จะดี ถ้าเป็นไปได้ ในคนเดียวกัน"

อุทัยรัตน์ บอกว่า ข้อมูลจากพื้นที่จะช่วยเติมความสมบูรณ์ให้กับฐานข้อมูลที่มีอยู่ แต่ก็ต้องมีการจัดการให้เป็นระบบและให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ง่าย เพราะที่ผ่านมา ทีมงานต้องใช้เวลาอย่างมากในการตรวจสอบข้อมูลจากหลายแหล่ง

"ถามว่า ฐานข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียวสำคัญยังไง ถ้าคนข้างนอกอยากรู้ว่า เด็กคนนี้ เขาจะช่วยเหลือได้วิธีไหนบ้าง แต่ถ้าต้องขอทีละหน่วย ทีละฐาน คนข้างนอกบอกไม่เอาดีกว่า ยุ่งยาก ไม่เอา ช่วยเรื่องอื่นดีกว่า มันไม่เป็นหนึ่ง"

ติดอาวุธคนทำงาน

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการค้นหา ช่วยเหลือ และดูแลเด็กเป็นรายกรณี เป็นงานยาก มีความสลับซับซ้อน ต้องใช้ทั้งพลังกายและพลังใจมากกว่าการทำงานตามหน้าที่ปกติ

แต่ละหน่วยงานในจังหวัด มีแนวทางการพัฒนาคนทำงานตามหน้าที่แตกต่างกัน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่เป็นหน่วยประสานความร่วมมือและมีต้นทุนทางความรู้ ต้องทำหน้าที่เสริมความแข็งแกร่งให้คนทำงานในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก

2-3 ปีที่ผ่านมา ขอนแก่น สร้างเครือข่ายคนทำงานด้านนี้ไว้ในหลายพื้นที่ แต่ปัญหาไม่ได้หยุดนิ่ง ข้อมูลล่าสุดจาก กสศ.ระบุว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จังหวัดขอนแก่น มีเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ถึง ม.3 ที่มีฐานะยากจนถึงยากจนพิเศษมากถึง 64,887 คน จากทั้งหมด 214,453 คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็กเปราะบาง ตามนิยามของ พม. ไม่น้อยกว่า 14,000 คน

อุทัยรัตน์ มองว่า การสร้างคนทำงานเพื่อรองรับสถานการณ์ใหม่ คือ โจทย์เร่งด่วนของจังหวัด

"สำนักงานศึกษา (ศธจ.) มีทั้งนักวิชาการศึกษาที่ทำงานเรื่องนี้มาก่อน มีทั้งศึกษานิเทศก์ ที่ผ่านการอบรมกระบวนการโคช ผ่านความเป็นครู ถ้าใช้ต้นทุนนี้มาช่วยกันสร้างทีม ใช้ตรงนี้ไปขยายผล ส่งต่อในระดับพื้นที่ คือ คนในพื้นที่ก็จะรู้พื้นที่ จะสามารถที่จะค้นหา ช่วยเหลือเบื้องต้น และส่งต่อได้"

ในฐานะพี่ใหญ่ของทีม อุทัยรัตน์ ย้ำว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับจังหวัด คนทำงานจากทุกหน่วยงานต้องก้าวข้ามจากความเชื่อเดิมว่า "งานนี้ไม่ใช่หน้าที่เรา" เพราะถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ ท้ายที่สุด ปัญหาก็จะส่งผลมาถึงตัวเรา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง