ส่องสนามฟุตบอลกาตาร์ ฟาดแข้งศึกฟุตบอลโลก 2022

กีฬา
19 พ.ย. 65
12:13
892
Logo Thai PBS
ส่องสนามฟุตบอลกาตาร์ ฟาดแข้งศึกฟุตบอลโลก 2022
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"กาตาร์" เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ประเทศขนาดเล็กรายล้อมด้วยทะเลทราย ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและอากาศที่สุดขั้วเช่นนี้ กาตาร์ต้องใช้วิทยาการขั้นสูงต่อสู้กับอากาศที่ร้อนสุดขั้ว เพื่อให้การแข่งขันผ่านไปได้ด้วยดีและปลอดภัยต่อแฟนบอลและนักเตะจากทั่วโลก

ประเทศกาตาร์ ดินแดนเล็ก ๆ ของคาบสมุทรอาระเบีย พื้นที่ของประเทศกาตาร์ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ช่วงฤดูหนาวมีอุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส แต่หากเป็นฤดูร้อนจะมีอุณหภูมิสูงได้ถึง 50 องศาเซลเซียส

การได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลกาตาร์ ที่ต้อง รับมือกับจำนวนคนที่เข้ามาดูฟุตบอลโลก นักกีฬา ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนทะลุ 50 องศาเซลเซียสเช่นนี้ 

การเลื่อนเวลาจัดการแข่งขันไปเป็นช่วงฤดูหนาว เป็นคำตอบหนึ่งของการแก้ปัญหาเรื่องสภาพอากาศ แต่นั่นยังไม่สร้างความมั่นใจให้กาตาร์มากพอ ที่จะเปิดประเทศต้อนรับนักกีฬาและแฟนบอลจากทั่วโลก ชาติร่ำรวยอย่างกาตาร์จึงจัดการเรื่องนี้ด้วยวิธีการอันสุดโต่ง นั่นคือการใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยให้แม้แต่ประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนที่สุดสามารถจัดการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ได้ตลอดทั้งปี 

สภาพอากาศร้อนชื้น กระแสลมอุ่นพัดจากทะเลโดยรอบ

ความท้าทายแรกคือการระบายลมร้อน ยกตัวอย่างกรณี สนามอัลจา นูบ มีการออกแบบหลังคาเป็นช่องให้ลมไหลเวียนได้โดยรอบ สีโทนอ่อนช่วยสะท้อนแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ด้วย

ในวันแข่งขัน สนามจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนประมาณ 40,000 คน และแต่ละคนต่างเป็นแหล่งกำเนิดความร้อนและความชื้น ทำให้ต้องมีการนำระบบทำความเย็นมาใช้ เพื่อทำให้ภายในสนามและอัฒจันทร์เย็น

โดยที่แฟนบอลบนอัฒจันทร์จะได้รับความเย็นจากช่องปล่อยลมเย็นใต้ที่นั่งแต่ละตัว หัวฉีดขนาดเล็ก ซึ่งทำงานเหมือนหัวฝักบัวอาบน้ำ จะปล่อยลมเย็นเพื่อให้อากาศไหลเวียนไปรอบ ๆ ผู้ชม ลมที่ปล่อยออกมามีลักษณะเป็นสายลมอ่อน ไม่ใช่ลมที่พุ่งเป้าเจาะจงแบบช่องแอร์เหนือที่นั่งผู้โดยสารบนเครื่องบิน

ส่วนการระบายความร้อนเพื่อช่วยเหล่านักกีฬาในสนามนั้น ด้วยสภาพอากาศชื้นของประเทศจะทำให้เหงื่อระเหยได้ยากขึ้น และอาจทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป จนเกิดโรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดได้ และนักฟุตบอลอาจต้องวิ่งเป็นระยะทางรวมกว่า 10 กม.ในระหว่างการแข่งขันแต่ละนัด เสียเหงื่อได้ถึง 3 ลิตร ดังนั้นพวกเขาจึงต้องทำให้ร่างกายเย็นและดื่มน้ำให้เพียงพออยู่เสมอ ในสนามฟุตบอลจึงต้องมีการระดมพ่นลมเย็นจากหัวฉีดขนาดใหญ่เข้าไปในสนามเพื่อสร้างชั้นอากาศเย็นไปทั่วสนามแข่ง

ดร.ซาอุด อับดุล กานี ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับอากาศในสนามฟุตบอล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว BBC ว่า วิธีการนี้จะช่วยสร้างพื้นที่ซึ่งเปรียบเสมือนฟองอากาศที่กักเก็บลมเย็นอุณหภูมิประมาณ 18-24 องศาเซลเซียสภายในสนามแข่ง โดยมีความสูงไม่ถึง 2 เมตรจากพื้นดินหรือจากอัฒจันทร์ 

ดร.ซาอุด อับดุล กานี ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับอากาศในสนามฟุตบอล

ดร.ซาอุด อับดุล กานี ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับอากาศในสนามฟุตบอล

ดร.ซาอุด อับดุล กานี ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับอากาศในสนามฟุตบอล

มุมมองของนักกีฬา

ฮาจาร์ ซาเลห์ ผู้รักษาประตูฟุตบอลหญิงทีมชาติกาตาร์ ซึ่งเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่อายุ 11 ปี กล่าวว่า ความชื้นคือความท้าทายใหญ่ที่สุดของคนที่ต้องเล่นกีฬาในเขตสภาพอากาศสุดขั้ว

เราคุ้นชินกับอากาศร้อน แต่เมื่อรวมความร้อนเข้ากับความชื้น อะไร ๆ ก็ยากลำบากขึ้น

ฮาจาร์มีประสบการณ์ตรงในการลงเล่นในสนามแข่ง 2 แห่งที่มีระบบทำความเย็นใหม่นี้ เธอบอกว่ามันมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะเมื่อต้องเล่นในช่วงเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศร้อนระอุที่สุดเดือนหนึ่งในรอบปีของกาตาร์

สนามฟุตบอลเป็นกลางทางคาร์บอน?

คณะผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของกาตาร์ ระบุว่าการใช้ระบบทำความเย็นให้สนามบอล จะทำให้การแข่งขันทั้งหมด แทบจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เพราะไฟฟ้าทั้งหมดได้มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ระบบทำความเย็นทั้งหมดที่ใช้ครั้งนี้ใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่งจะสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยอยู่ห่างจากกรุงโดฮา ออกไปประมาณ 80 กม.

แต่กาตาร์ก็มีเป้าหมายที่สูงขึ้นไปอีก คือการทำให้ฟุตบอลโลกครั้งนี้มี “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (carbon neutrality) 

แต่ข้อมูลจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ประเมินว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้างสนามทั้งหมดที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้มีสัดส่วนร้อยละ 90 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นจากการจัดงานนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณ 800,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับการขับรถยนต์รอบโลก 80,000 รอบ
นอกเหนือไปจากสนามแข่งแล้ว ก็ยังมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการจัดศึกบอลโลกครั้งนี้ เช่น ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการที่นักเตะและแฟนบอลขึ้นเครื่องบินเดินทางไปที่กาตาร์

แม้ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) จะออกมาระบุว่า ขอบเขตสถานที่จัดงานนั้นไม่ใหญ่มากนัก โดยที่สนามแข่งแต่ละแห่งอยู่ไม่ห่างกันมากนั้น ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดจากการจัดฟุตบอลโลกที่กาตาร์ครั้งนี้มีไม่ถึง 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากศึกบอลโลกที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพในปี 2018 ด้วยซ้ำ

และวิธีสำคัญในการบรรลุเป้าหมายสีเขียวของบอลโลกที่กาตาร์คือ การที่คณะผู้จัดงานใช้วิธีชดเชยคาร์บอน (carbon offset) ซึ่งเป็นการซื้อคาร์บอนเครดิตในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อหักล้างกิจกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตนเอง

ที่มา : BBC

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง