นักวิจัยพัฒนา "โดรนกู้ภัยกินได้" ปีกทำจากเค้กข้าวอบกรอบ

Logo Thai PBS
นักวิจัยพัฒนา "โดรนกู้ภัยกินได้" ปีกทำจากเค้กข้าวอบกรอบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โดรนเค้กข้าวอบกรอบ กินได้อยู่ท้อง เกิดจากการวิจัยและพัฒนาเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือใช้เพื่อการกู้ภัย

ลองจินตนาการดูว่าหากต้องติดเกาะร้างอยู่เพียงลำพังมีแค่น้ำทะเลกับทราย คงเป็นเรื่องยากที่จะเอาชีวิตรอดออกมา หรือหาอาหารมากินเพื่อประทังชีวิต หากจะรอเรือสักลำแล่นผ่านมาก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปถึงเมื่อไหร่ แต่ถ้าวันหนึ่งมีโดรนบินผ่านมาและโดรนนั้นนำพาอาหารมาให้เรากินได้ด้วยคงจะเป็นเรื่องที่วิเศษไม่น้อยเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนั้น

นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน (Swiss Federal Institute of Technology Lausanne: EPFL) สร้างโดรนที่สามารถเพิ่มน้ำหนักการบรรทุกอาหารจาก 30% มาเป็น 50% โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เข้าถึงคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือใช้เพื่อการกู้ภัย ซึ่งน้ำหนักการบรรทุกอาหารที่เพิ่มมากขึ้นนั้น นักวิจัยได้คิดค้นวิธีลดการใช้ปีกแบบเดิม ๆ โดยสร้างปีกที่ทำมาจากเค้กข้าวอบกรอบ

ทีมวิจัย EPFL ใช้เครื่องตัดเลเซอร์เพื่อปั้นเค้กข้าวเป็นรูป 6 เหลี่ยม และต่อเค้กข้าวเข้าด้วยกันด้วยเจลาตินเพื่อนำมาใช้เป็นปีก ห่อเค้กข้าวด้วยพลาสติกและเทปใสเพื่อป้องกันไม่ให้เค้กข้าวแตกออกจากกันและป้องกันความชื้น ขนาดของปีกกว้าง 70 เซนติเมตร สามารถให้พลังงานได้ถึง 300 แคลอรี ซึ่งเทียบเท่าอาหารเช้า 1 มื้อได้เลย

โดรนเค้กข้าวที่พัฒนาขึ้นแม้เป็นเพียงโดรนต้นแบบ แต่ก็สามารถบินได้และทำความเร็วอยู่ที่ 10 เมตรต่อวินาที ด้วยการเพิ่มมอเตอร์เซอร์โวและแบตเตอรี่ขนาดเล็กเพื่อกระตุ้นพื้นผิวส่วนหางที่ใช้ในการควบคุม

ทีมนักวิจัย EFPL ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาโดรนที่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้นด้วยมวลทั้งหมดของตัวโดรนเอง โดยการเลือกใช้วัสดุที่สามารถกินได้มาทำเป็นเป็นปีกของโดรน ซึ่งก้าวต่อไปของการพัฒนาคือการหาวัสดุที่กินได้มาทดแทนส่วนอื่น ๆ ของโดรนต่อไป

แม้ว่าโดรนเค้กข้าวหากใช้งานจริง เมื่อปล่อยให้โดรนบินออกไปแล้วคงไม่ได้โดรนกลับคืนมาอย่างแน่นอน เนื่องจากปีกของโดรนถูกใช้เพื่อให้ความช่วยเหลือหรือกินไปแล้ว แต่ราคาของโดรนตัวนี้ก็ไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายเพื่อช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ และถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการสร้างโดรนกินได้ขึ้นมาเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ที่มาข้อมูล: newatlas, spectrum, electronics360, techeblog
ที่มาภาพ: robofood
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง