เร่งสอบสวนโรคชาย 38 ปีป่วยโควิด-19 ตายคาคอนโด

สังคม
24 พ.ย. 65
15:05
615
Logo Thai PBS
เร่งสอบสวนโรคชาย 38 ปีป่วยโควิด-19 ตายคาคอนโด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค ส่งทีมสอบสวนโรคร่วมกับ กทม. และสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ สอบสวนกรณีชาย 38 ปีติดโควิด-19 และเสียชีวิตตายในคอนโดมิเนียม พบฉีดวัคซีน 3 เข็ม ส่วนภาพรวมพบอัตราป่วยโควิดเพิ่ม 43.9%

วันนี้ (24 พ.ย.2565) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวการเสียชีวิตของชายอายุ 38 ปี ติดโควิด-19 นอนเสียชีวิตในคอนโด เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา

จากข้อมูลการสอบสวนโรคเบื้องต้น โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร พบว่าชายคนดังกล่าวได้รับวัคซีน 3 เข็ม ได้รับเข็มสุดท้ายในเดือน ม.ค.2565 นานมากกว่า 10 เดือน

ขณะนี้รอผลการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตจากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งจะทราบผลเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน มีการป่วยตายจากโควิดมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่รายงานในแต่ละวัน และกลุ่มนี้หากรับวัคซีนครบแล้วเข็มล่าสุดนานเกิน 4 เดือนขึ้นไป ให้เข้ารับวัควีนเข็มกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ จะสามารถป้องกันการป่วยหนัก และลดโอกาสเสียชีวิตได้

โดยสามารถเข้ารับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากประชาชนมีข้อสงสัยปัญหาโรคและภัยสุขภาพ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422

หนาวนี้โควิด-19  แนวโน้มระบาดเพิ่ม

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มมีอากาศหนาว ส่งผลต่อการแพร่เชื้อโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ที่เริ่มมีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดียเมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และได้แพร่กระจายไปหลายประเทศ

ทั้งนี้ สายพันธุ์ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งใช้จับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน ดังนั้น การพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วบ่งชี้ว่ามีความสามารถในการแพร่ระบาด แต่ยังไม่มีรายงานความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากเชื้อเดิม

ในไทยมีรายงานพบสายพันธุ์ BA.2.75 ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานสัดส่วนของผู้ติดเชื้อ BA.2.75 ในประเทศเพิ่มขึ้นมากจากเดือนที่แล้ว เพิ่มจากร้อยละ 23.2 เป็นร้อยละ 43.9

อย่างไรก็ตาม สามารถใช้ยาต้านไวรัสที่มีอยู่รักษาได้ และวัคซีนที่มีอยู่รวมถึงแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibodies; LAAB) ยังสามารถยับยั้งเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ BA.2.75 ได้

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้โรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์ ขยายวันให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อความสะดวกในการเข้าถึงวัคซีน รวมทั้งสถาบันบำราศนราดูร ที่เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่สัปดาห์หน้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง