กรมทรัพยากรธรณี สั่งกั้นพื้นที่-ตรวจสอบหลุมยุบบ้านทุ่งยั้ง

สิ่งแวดล้อม
29 พ.ย. 65
20:00
713
Logo Thai PBS
กรมทรัพยากรธรณี สั่งกั้นพื้นที่-ตรวจสอบหลุมยุบบ้านทุ่งยั้ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมทรัพยากรธรณี ชี้สภาพพื้นที่ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เป็นหินปูน คาดถูกน้ำเซาะทำดินทรุดตัวเป็นหลุมยุบ เบื้องต้นสั่งปิดพื้นที่ รอ จนท.ตรวจสอบอย่างละเอียด พร้อมประสานหน่วยงานในพื้นที่กลบหลุมป้องกันอันตรายจากดินยุบตัว

วันนี้ (29 พ.ย.2565) นายสุวิทย์ โคสุวรรณ รองโฆษก กรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงกรณีเกิดหลุมยุบบริเวณสระน้ำสาธารณะป่าชุมชนผาหินแตก บ้านทุ่งยั้ง หมู่ 2 ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ว่า หลุมยุบมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ม.มีลักษณะเป็นแบบดินยุบลงสู่ช่องโพรงด้านล่าง ปากหลุมเป็นวงกลม ภายในหลุมมีน้ำขังและน้ำในหลุมยุบยังคงกระฉอก ขอบปากบ่อเป็นดินหนา 50-60 ซม.

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

 

จากการตรวจสอบพบว่า สระน้ำดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ โดยน้ำภายในบ่อที่เคยสูงกว่า 3  ม. หายไปในช่วง 3 วัน ส่งผลให้ปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อจำนวนหลายหมื่นตัวหายไปในโพรงของหลุมยุบดังกล่าว

สำหรับพื้นที่บ้านบนผางาม อ.เวียงชัย มีลักษณะทางธรณีวิทยา ตั้งอยู่บนที่ราบตะกอนน้ำท่วมถึงซึ่งปิดทับอยู่บนดานหินจำพวกหินปูน ยุคเพอร์เมียนอายุ 250-300 ล้านปี

ขณะที่ที่ผ่านมาเคยมีรายงานเกิดหลุมยุบในบริเวณใกล้เคียงกัน เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2562 ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณกลางทุ่งนา บ้านเนินสยาม ต.ผางาม แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยห่างจากหลุมยุบที่เกิดขึ้นใหม่ บ้านทุ่งยั้งประมาณ 500 ม.

จากการศึกษาพื้นที่ดังกล่าวของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดหลุมยุบ หรือมีโอกาสเกิดหลุมยุบจากหินปูนระดับสูง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีโพรงหินปูนอยู่ในระดับลึก

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

 

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ปัจจัยของหลุมยุบในบริเวณดังกล่าว สันนิษฐานว่า น้ำใต้ดินที่อยู่ด้านล่างเกิดลดระดับลง จึงทำให้เศษหินปูนที่แตกหักอยู่ด้านบนเกิดการพังยุบลงมา ทำให้ดินที่อยู่ด้านบนเกิดการยุบตัวลงมาเกิดเป็นโพรง ขนาดเดียวกันพบว่าโพรงที่อยู่ด้านล่างเชื่อมกับธารน้ำที่อยู่ใต้ดินทำให้น้ำ ตรงนี้ก็จะไหลไปเรื่อย ๆ จึงทำให้เกิดการยุบตัวลงไป

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

 

นายสุวิทย์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะกั้นพื้นที่บริเวณโดยรอบไม่ให้ชาวบ้านเข้าใกล้เพื่อความปลอดภัยไว้ เพราะยังไม่ทราบว่าโพรงที่อยู่ด้านล่างมีขนาดใหม่แค่ไหน ต้องสำรวจทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ในรายละเอียดก่อน

ขณะที่ นักธรณีวิทยา จากกรมทรัพยากรธรณีจะเข้าไปตรวจสอบหาทางป้องกันเหตุในอนาคตต่อไป ใน 1-2 วันนี้

สำหรับข้อเสนอแนะกรมทรัพยากรธรณี ได้แนะนำให้หน่วยงานในพื้นที่และประชาชน เฝ้าระวังและสังเกตการขยายตัวของหลุมยุบ หากไม่พบการเปลี่ยนแปลง ให้ทำการฝังกลบตามหลักวิศวกรรม โดยเริ่มจากการถมก้อนหินที่มีขนาดใหญ่เท่าที่จะหาได้ในพื้นที่ลงไปก่อน แล้วถมดินลูกรังอัดตามลงไปจนเต็มหลุม พร้อมกดทับให้แน่น ในขณะที่ถมดินให้ฉีดน้ำทุกระยะ

ทั้งนี้ หากพบว่าหลุมยุบมีสิ่งผิดปกติในบริเวณใกล้เคียงให้แจ้งหน่วยงานในพื้นที่ทราบโดยเร็วต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง