ผู้เชี่ยวชาญ คาดสถานการณ์ "ฝุ่น" ปีนี้ รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

สิ่งแวดล้อม
30 พ.ย. 65
11:46
2,743
Logo Thai PBS
ผู้เชี่ยวชาญ คาดสถานการณ์ "ฝุ่น" ปีนี้ รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รศ.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ประเมินว่าปีนี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เหตุฝนลดลงและมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นเพิ่มขึ้น ขณะที่การแก้ปัญหาของรัฐยังอยู่ในวงแคบ

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 บริเวณทุ่งวัดม่วง ต.หัวตะพาน อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เริ่มมองเห็นหลวงพ่อใหญ่ หรือพระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ค่อยชัดเจน เพราะมีหมอกปกคลุม จากการตรวจสอบปริมาณฝุ่นในแอปพลิเคชัน Air Visaul พบว่า จ.อ่างทอง มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน วัดได้ 64.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นายพรเทพ ฤทธิ์ฤดี รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง ออกมาเตือนประชาชน ให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การออกกำลังกาย โดยเฉพาะในช่วงเช้า และหากพบอาการผิดปกติ เช่น มีอาการแสบจมูก หายใจติดขัด วิงเวียนศีรษะ ขอให้ไปปรึกษาแพทย์ทันที

รศ.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ติดตามเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฝุ่น PM 2.5 ประเมินว่า ปีนี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 คาดว่าจะมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา จากปัจจัยสภาพอากาศ จำนวนแหล่งกำเนิดฝุ่นที่เพิ่มขึ้น และมาตรการป้องกันฝุ่นที่จำกัดกรอบในวงแคบ

สำหรับปัจจัยด้านสภาพอากาศ รศ.วิษณุ อธิบายว่า ปีที่ผ่านมาช่วงเดือน ธ.ค. ต่อเนื่องเดือน ม.ค. บริเวณพื้นที่ภาคกลางยังมีฝนตกอยู่ แต่ปีนี้มีแนวโน้มว่าสิ้นเดือน พ.ย.ฝนจะเริ่มลดลง ทำให้ไม่มีปัจจัยที่จะมาช่วยลดฝุ่นเหมือนปีที่ผ่านมา และสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้กิจกรรมที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นมีมากขึ้นตามไปด้วย เช่น การใช้รถยนต์ การเผาในภาคเกษตร และโรงงานที่กลับมาเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้มีการปล่อยฝุ่นมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

แม้รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาแก้ไขปัญหาและควบคุมฝุ่นมากขึ้น แต่ รศ.วิษณุ มองว่ายังไม่ยั่งยืนและจำกัดกรอบอยู่ในวงแคบ ไม่สามารถแก้ปัญหาผลกระทบในวงกว้างได้ เช่น รถไฟฟ้า EV แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับรถที่ใช้น้ำมันที่มีหลักล้านคัน ยังถือว่ารถไฟฟ้า EV ยังมีน้อย และการใช้มาตรฐานยูโร 5 ยังไม่ได้ดำเนินการในปีนี้ แต่จะเริ่มปี 2567

ส่วนมาตรการด้านเกษตร เช่น ควบคุมการเผา แม้จะมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น และส่งเสริมเรื่องการตัดอ้อยสด แต่เมื่อเทียบสัดส่วนอ้อยกับข้าวหรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังมีน้อย แค่ร้อยละ 7-8 ทำให้แม้จะลดการเผาอ้อยได้มาก แต่ก็ไม่สามารถช่วยบรรเทาการเผาในภาคเกษตรได้

ขณะที่มาตรการเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม อย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีโรงงานกว่า 30,000 แห่ง แต่มีการตรวจเข้มประมาณ 800 แห่ง และส่วนใหญ่มาตรการจะลงไปที่โรงงานขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานอยู่แล้ว แต่โรงงานขนาดกลาง และขนาดเล็ก ยังไม่สามารถเข้าไปสอดส่องดูแลได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง