"เยอรมนี" ทลาย กลุ่มขวาจัดล้มรัฐบาล

ต่างประเทศ
8 ธ.ค. 65
06:41
353
Logo Thai PBS
"เยอรมนี" ทลาย กลุ่มขวาจัดล้มรัฐบาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกช่วงคืนที่ผ่านมา เมื่อทางการเยอรมนีกระจายกำลังเจ้าหน้าที่ บุกจับกุมสมาชิกกลุ่มขวาจัดที่ต้องสงสัยว่ากำลังวางแผนโค่นล้มรัฐบาล นี่เป็นหนึ่งในสัญญาณสะท้อนความแพร่หลายของทฤษฎีสมคบคิดกับแนวคิดสุดโต่ง

ความเคลื่อนไหวนี้เป็นปฏิบัติการครั้งใหญ่ของทางการเยอรมนี ที่ใช้เจ้าหน้าที่หลายพันนายบุกจับผู้ต้องสงสัยพร้อมกันทีเดียวใน 11 รัฐ จากทั้งหมด 16 รัฐทั่วประเทศ

ได้ตัวผู้ต้องสงสัยมาทั้งสิ้น 25 คน

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2565 ตามเวลาท้องถิ่นประเทศเยอรมนี สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ตำรวจเยอรมนีควบคุมตัว "เจ้าชาย Heinrich ที่ 13 แห่ง Reuss" วัย 71 ปี ขึ้นรถตำรวจ จากบ้านพักในแฟรงก์เฟิร์ต เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำของกลุ่ม Reichsbürger ที่วางแผนใช้กำลังและอาวุธ โค่นล้มรัฐบาลเยอรมนี ด้วยการบุกจู่โจมอาคารรัฐสภาในกรุงเบอร์ลิน

ภาพ : เจ้าชาย Heinrich ที่ 13 แห่ง Reuss  (The New York Times)

ภาพ : เจ้าชาย Heinrich ที่ 13 แห่ง Reuss (The New York Times)

ภาพ : เจ้าชาย Heinrich ที่ 13 แห่ง Reuss (The New York Times)

หลังการจับกุมแกนนำของกลุ่ม ตำรวจเยอรมนีกระจายกำลังรอบปราสาท Bad Lobenstein ใน Thuringia ซึ่งเป็นที่พักสำหรับล่าสัตว์ ของ เจ้าชาย Heinrich ที่ 13 แห่ง Reuss ผู้ที่เป็นทายาทของตระกูลเก่าแก่อายุกว่า 700 ปี ที่เคยปกครองพื้นที่ทางตะวันออกของเยอรมนีในศตวรรษที่ 12 โดยปราสาทนี้เป็นสถานที่พบปะกันของสมาชิกของกลุ่ม

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากตำรวจหน่วยปราบปรามการก่อการร้ายของเยอรมนีเปิดปฏิบัติการบุกตรวจค้นบ้านพักและสถานที่ต่างๆ 130 แห่ง ใน 11 รัฐทั่วประเทศ และจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เป็นสมาชิกกลุ่มขวาจัดสุดโต่งซึ่งวางแผนโค่นล้มรัฐบาลได้ 25 คน

อัยการเยอรมนี เปิดเผยว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ ใช้เจ้าหน้าที่กว่า 3,000 นาย ซึ่งรัฐมนตรียุติธรรมเยอรมนี ระบุว่า การบุกค้นครั้งนี้ถือเป็นปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย เนื่องจากกลุ่มนี้วางแผนใช้กำลังบุกอาคารรัฐสภา เพื่อเข้ายึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ

ทางการเยอรมนีเชื่อว่ากลุ่มนี้มีสมาชิกประมาณ 50 คน ซึ่งนอกจากลูกหลานของตระกูลชนชั้นสูง 1 ในผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวยังเป็นผู้พิพากษาศาลในเบอร์ลิน ที่เป็นอดีต ส.ส. พรรคขวาจัด AfD แล้วนอกจากนี้ยังมีอดีตทหารถูกจับกุมด้วย

ในจำนวนผู้ที่ถูกจับกุม 25 คนนี้ มี 22 คน เป็นชาวเยอรมัน ที่ถูกคุมตัวในข้อหาต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย ในขณะที่อีก 3 คน มีหญิงชาวรัสเซียรวมอยู่ด้วย 1 คน ถูกคุมตัวในข้อหาต้องสงสัยว่าให้การสนับสนุนองค์กรดังกล่าว และนอกจากนี้ยังมีผู้ต้องสงสัยอื่นอีก 27 คน ที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังขบวนการวางแผนโค่นล้มรัฐบาลเยอรมนีนี้ เป็นสมาชิกกลุ่ม Reichsbürger หรือ Citizens of the Reich ประชาชนแห่งไรช์ ซึ่งหมายถึงจักรวรรดิเยอรมันในอดีต

โดยคนกลุ่มนี้ถูกหน่วยข่าวกรองเยอรมนีจับตามองมานาน ว่าอาจอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุโจมตี หรือเหตุที่เกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติและการต่อต้านชาวยิว ตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งหน่วยข่าวกรองเยอรมนีระบุว่าปัจจุบันกลุ่มนี้น่าจะมีสมาชิกประมาณ 21,000 คน โดยราวๆ 5% หรือ 1,150 คน น่าจะเป็นผู้ที่มีแนวคิดขวาจัดสุดโต่ง

รายงานประจำปี 2021 ของหน่วยข่าวกรอง ระบุว่า สมาชิก Reichsbürger ประมาณ 2,100 คน พร้อมจะใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมาย และเป้าหมายคือ คนกลุ่มนี้ปฏิเสธการยอมรับรัฐเยอรมันในปัจจุบัน หรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และต้องการตั้งรัฐในรูปแบบไรช์ที่ 2 หรือจักรวรรดิเยอรมันในอดีต ช่วง ค.ศ. 1871 หรือสมาชิกบางส่วนเชื่อในแนวคิดของนาซีเยอรมัน

กลุ่ม Reichsbürger นี้มีมานานตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด แต่แผนการโค่นล้มรัฐบาลนี้ ชี้ให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนไปสู่แนวทางที่สุดโต่งมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสะท้อนความเชื่อมั่นและทุ่มเทอย่างลึกซึ้งของสมาชิกและผู้ติดตามของกลุ่ม

บางคนมองว่าแนวคิดที่สุดโต่งมากขึ้นของกลุ่มนี้ เติบโตมาพร้อมกับการแพร่กระจายของข่าวปลอมในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยจะเห็นความเชื่อมโยงได้จากการวางแผนลักพาตัวรัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมนี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ย้อนไปช่วงปลายปี 2020 ที่สหรัฐฯ ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทฤษฎีสมคบคิด "คิวแอนอน" (QAnon) กลายเป็นที่รู้จักขึ้นมา จากแนวคิดขวาจัดที่ว่า โดนัลด์​ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ ในขณะนั้น กำลังต่อสู้ทำสงครามอย่างลับๆ กับ "Deep state" ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกเครือข่ายของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องการล้มล้างผู้นำสหรัฐฯ

จากที่เคยเป็นแนวคิดชายขอบและเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เท่านั้น ปัจจุบันทฤษฎีสมคบคิดนี้แพร่กระจายไปทั่วโลก

การศึกษาเมื่อปี 2020 ของนักวิจัยในแคนาดา ชี้ว่า แนวคิดนี้แพร่ไปในอย่างน้อย 71 ประเทศ และเยอรมนี เป็นประเทศที่สองรองจากสหรัฐฯ ที่มีผู้เข้าร่วมและติดตาม "คิวแอนอน" มากที่สุดในต่างประเทศ คนเหล่านี้ใช้แอปพลิเคชัน Telegram ส่งข้อความถึงกัน และมีสมาชิกกว่า 120,000 คน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง