“อิศรานุสรณ์” โรงเรียนที่สร้างหลักสูตร ให้เหมาะกับคนท้องถิ่นของ จ.กระบี่

สังคม
11 ธ.ค. 65
08:42
1,289
Logo Thai PBS
“อิศรานุสรณ์” โรงเรียนที่สร้างหลักสูตร ให้เหมาะกับคนท้องถิ่นของ จ.กระบี่
ระหว่างเกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบมากแห่งหนึ่ง เพราะมีนักเรียนหลายหมื่นคน ที่ได้เรียนบ้าง ไม่ได้เรียนบ้าง เรียนมาก เรียนน้อย

“โรงเรียนอิศรานุสรณ์” โรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ของ จ.กระบี่ เป็นอีกแห่งที่ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศ

แต่มี 2 สิ่งที่โรงเรียนแห่งนี้แตกต่างจากที่อื่น คือ ในห้วงเวลาไม่ปกติที่คนอื่นปิดการเรียนการสอน หรือเรียนออนไลน์ แต่ที่นี่เปิดเรียนแทบตลอดเวลา พร้อมกับการเฝ้าระวังโรค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครอง

ในภาวะปกติ โรงเรียนแห่งนี้ต้องปรับตัว เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้เหมาะกับท้องถิ่น ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว และเกษตรกรรม

ปิยเทพ เทพภิบาล ผู้จัดการโรงเรียนอิศรานุสรณ์ อ.เมือง จ.กระบี่ เล่าให้ฟังถึงที่มาของโรงเรียนเอกชนแห่งแรกในจังหวัดกระบี่ ที่ดำเนินกิจการมากว่า 50 ปี และเขาเป็นคนรุ่นที่ 4 และเป็นคนรุ่นใหม่ ที่กลับมาทำธุรกิจของครอบครัวหลังเรียนจบการศึกษาที่กรุงเทพฯ

ปิยะเทพเล่าว่า เขาเรียนจบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกลับมาเยี่ยมบ้านที่กระบี่ เขาได้ตอบรับคำชวนจากคุณพ่อ (คุณปณต เทพภิบาล ผู้อำนวยการโรงเรียนอิศรานุสรณ์) ว่า ให้มาช่วยทำงาน เพราะต้องการปรับเปลี่ยนหลักสูตรของโรงเรียนแห่งนี้ ให้ทันสมัยขึ้น

เนื่องจากมองว่า ระบบการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ อาจจะล้าหลังกว่าที่เคยเรียนกันมา จึงอยากจะปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาของโรงเรียนนี้ให้ทันสมัยกับยุคปัจจุบัน และเหมาะสมกับท้องถิ่น

โรงเรียนเอกชนไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจ แต่โรงเรียนเอกชนในทัศนคติของครอบครัวผม คือศักดิ์ศรี เกียรติยศและความภาคภูมิใจ ที่เราจะดำเนินธุรกิจนี้

ทำหลักสูตรที่ไม่ใช่ “เสื้อโหล”

ปิยเทพเล่าว่า กระบี่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นภาษาเป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อจึงกำหนดกรอบแนวคิดมาด้วย 2 อย่างด้วยกัน เราจะทำหลักสูตรที่เรียกว่า “เสื้อตัดไม่ใช่เสื้อโหล” หมายความว่า ทุกคนต้องมีความสามารถเฉพาะตัว ที่แตกต่างกัน

ตอนนั้นเรามีนักเรียนกว่า 3,000 คน มีบุคลากรกว่า 200 คน เราจะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้ตรงตามความต้องการของผู้ปกครองแต่ละคน แต่ละครอบครัว เพราะว่า ลูกของแต่ละคน เป็นความหวังเป็นความภาคภูมิใจของแต่ละครอบครัว เพราะฉะนั้นเราจะนำพาความสำเร็จ ความภาคภูมิใจเหล่านี้ ไปสู่แต่ละครอบครัวได้อย่างไร

เราจะเพาะเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ เป็นสิ่งมีค่าของ จ.กระบี่ ของภาคใต้ และระดับประเทศออกไปได้อย่างไร เราจะทำหลักสูตรที่ตรงตามความต้องการของ จ.กระบี่

เน้น 4 โปรแกรม ให้เหมาะสมกับตัวเด็ก

กระบี่เป็นจังหวัดที่มีรายได้อยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือ การทำสวนยางพารา สองเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องการท่องเที่ยว จำเป็นที่จะต้องมีความสามารถทางด้านการใช้ภาษาเราจึงกำหนดกรอบแนวคิด โปรแกรมของการเรียนของเราให้เป็น 4 ส่วน

โดยยังยึดถือปณิธานของคุณย่าผม ที่ให้โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนของชุมชน เป็นโรงเรียนเอกชนโรงเรียนแรก เป็นโรงเรียนอนุบาลโรงเรียนแรกของ จ.กระบี่ เราจึงจัดการศึกษาออกเป็น 4 โปรแกรม คือ โปรแกรมภาษาอังกฤษ โปรมแกรม Intensive English โปรแกรม Science and Match และภาคปกติสามัญทั่วไป

เราจะบอกผู้ปกครองเสมอว่า เราสร้างโอกาสให้ทุกคน ให้สามารถเรียนที่โรงเรียนสอนได้ สำหรับผู้ปกครองที่มีความพร้อมและนักเรียนที่มีความสามารถ ต้องการความเป็นเลิศในการใช้ภาษา ที่อยากจะเข้าถึง และอยากจะพัฒนาภาษา ให้ไปสู่ความสำเร็จ ให้มีความสามารถที่จะใช้ภาษาพูดภาษาอังกฤษได้

ตั้งเป้าทำโรงเรียนให้เหมาะกับท้องถิ่น

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ทำอย่างไรให้ที่นี่เป็นโรงเรียนที่เหมาะกับท้องถิ่น
ปิยเทพ : ถ้าเทียบกระบี่กับกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ก็มีคนกรุงเทพฯแท้ๆ ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือก็เป็นประชากรแฝง กระบี่ก็เหมือนกัน มีคนกระบี่แท้แท้จริงเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือมาจากจังหวัดอื่น ๆ เพราะกระบี่เป็นเมืองที่ทำธุรกิจง่าย และผู้คนเป็นคนน่ารัก รับแขก

ฉะนั้นเราจะทำการศึกษาอย่างไรให้เกิดเป็นรูปธรรมให้กับชุมชน เราต้องวิเคราะห์ความต้องการของผู้ปกครอง ว่าผู้ปกครองคืออะไร เช่น กระบี่มีรายได้สำคัญมาจากการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตามความต้องการของชุมชน ครอบครัว และสังคม

ปิยะเทพเล่าต่อว่า โรงเรียนอิศรานุสรณ์มีทั้งหมด 17 ไร่ เรามีสนามฟุตบอลหญ้าเทียมสนามเทนนิส สนามบาสเก็ตบอล สระว่ายน้ำ และพื้นที่การเกษตร ให้สำหรับนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง

ถามว่าทำไมเราถึงใส่ใจตรงนี้ อย่างที่ผมบอกเรื่องที่ทำวิจัย ภาคใต้ฝั่งอันดามัน อย่างภูเก็ต ที่เป็นSingle market พอไม่มี tourist ไม่มีการท่องเที่ยวที่เป็นหลักแล้ว จังหวัดก็เข้าสู่สภาวะถดถอย แต่คนกระบี่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว จากโรงแรม จากทะเล จากสปีดโบ๊ต จากธุรกิจใหญ่ๆ กลับไปสู่ภาคการเกษตร

เพราะฉะนั้นการได้ลงมือปฏิบัติ อย่างน้อยเจ้าของสวนปาล์ม เจ้าของสวนยาง มีที่ดินนับพันไร่แต่ลงมือปฏิบัติไม่เป็น ก็ไม่สามารถรักษาสมบัติของครอบครัวที่จะเกิดขึ้นได้ เราจึงต้องฝึกเด็กให้ทำได้ นั่นคืออัตลักษณ์ของโรงเรียนอิศรานุสรณ์

3 ปัจจัย ที่พ่อแม่เลือกโรงเรียนให้ลูก

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ขณะที่มีเด็กลดลง แต่โรงเรียนเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรให้พ่อแม่ตัดสินใจส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่
ปิยะเทพ : การตัดสินใจของผู้ปกครอง ที่จะเลือกโรงเรียนใดหรือโรงเรียนหนึ่งให้ลูก ผู้ปกครองเปรียบเสมือนดีไซเนอร์ ที่จะสร้างอนาคตให้กับลูกหลาน สิ่งหนึ่งคือสถานศึกษา ในกระบี่มี 2 ส่วน คือ โรงเรียนของรัฐบาล และโรงเรียนเอกชน

ผมเคยทำวิจัยเรื่องปัจจัยในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนฝั่งอันดามัน กระบี่ พังงา ภูเก็ต มาแล้ว ปรากฏว่าจะมีอยู่ 3 ปัจจัยด้วยกันคือ 1.การดูแลเอาใจใส่ 2.คุณภาพทางการศึกษา 3.สภาพสังคม ปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนเกิดขึ้นใน จ.กระบี่ กว่า 70 โรงเรียน เรามาถึงจุดที่เขาเรียกว่า Over Supply มีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ มีคนเกิดน้อยลง จากครอบครัวใหญ่ กลายเป็นครอบครัวเล็ก ครอบครัวเดี่ยว

สิ่งที่จะทำให้โรงเรียนของเราอยู่ได้ ปัจจัยแรกก็คือคุณภาพทางการศึกษา สองความปลอดภัยที่เราดูแลใจใส่นะครับ สามสภาพสังคมที่เราจะกำหนดว่า นักเรียนทุกคนต้องเก่งรู้ เก่งคิด เก่งใช้ชีวิต และเก่งแก้ปัญหา นั่นคือจุดหลักของเรา การจัดกระบวนการ เรียนการสอนที่เรียกว่า learning by Doing การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงเป็นสิ่งสำคัญของเรา

อยากให้กระบี่มี “มหาวิทยาลัย” บ้าง

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : อยากให้ระบบการศึกษาของกระบี่เป็นยังไง
ปิยเทพ : กระบี่ไม่มีสถาบันอุดมศึกษา ไม่มีมหาวิทยาลัย ผมอยากให้กระบี่มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มีเครดิต เพื่อมาพัฒนา มาส่งเสริมการศึกษาให้เกิดขึ้นให้กับชาวกระบี่

ถามว่าทำไมเราต้องส่งผลผลิตของเราออกไปนอกจังหวัด ไปภูเก็ต หรือไปเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือใครที่เรียนดีหน่อย มีโอกาสมากหน่อยก็จะไปกรุงเทพฯ เหมือนเราส่งทรัพยากรบุคคลของเรา ออกสู่นอกจังหวัดทั้งหมด

แต่ถ้าหากว่าเรามีสถาบันอุดมการณ์ศึกษาของเราเอง เราก็จะมีประชากรมากขึ้น หากโยงกับธุรกิจ เราก็จะมีผู้ที่มีกำลังซื้อมากขึ้น มีการใช้จ่ายมากขึ้น กลุ่มเหล่านี้เราควรเอาเข้ามาในจังหวัด และอีกอย่างการที่ลูกหลานของเราออกไปเรียนต่างจังหวัด ก็ไม่อบอุ่นเท่ากับเรียนที่บ้าน ซึ่งเราก็อยากให้มหาวิทยาลัยดี ๆ มาตั้งที่ จ.กระบี่ บ้าง

สร้างความเชื่อมั่น ไม่ต้องปิดเรียนช่วงโควิด

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ช่วงโควิดระบาดอย่างหนัก ทำอย่างไรที่ไม่ต้องปิดโรงเรียน
ปิยะเทพ : การสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ก่อนที่จะเปิดเราต้องไปนำเสนอแผนเผชิญเหตุที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งเราเป็นโรงเรียนเดียวที่ได้เปิดตั้งแต่โควิด รอบ 2 ระบาด เป็นต้นมา และไม่ปิดอีกเลย

ยกเว้นช่วงโอมิครอน เราตั้งหลักอยู่ 1 สัปดาห์ เพื่อศึกษาว่าการระบาดเป็นยังไง ถ้าระบาดแล้วเราจะทำยังไง แพลนเอต้องปิดห้องอบโอโซน แพลนบีปิดชั้นเรียนนะ แพลนซีปิดโรงเรียนนะ แล้วก็ทำมาตรการต่าง ๆ ให้ครอบคลุม

ปัจจัยที่ผู้ปกครองตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้กับลูกคือ หนึ่งคุณภาพการศึกษา สองความปลอดภัย สามสภาพสังคม แต่ในช่วงโควิด คงไม่มีใครมามองเรื่องสภาพสังคม หรืออาจจะมองเรื่องคุณภาพการศึกษาเป็นลำดับที่สอง แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องสร้างสำหรับโรงเรียนเอกชน ก็คือเรื่องของความปลอดภัย และความเชื่อใจ ว่าลูกเขาจะปลอดภัย

บริบทของโรงเรียน โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษา เราจำเป็นที่จะต้องเปิดโรงเรียน ทั้ง On Side และออนไลน์ควบคู่กัน ให้คนที่พร้อมที่จะมาเรียน On Side สามารถมาเรียนได้โดยปลอดภัย และคนที่เรียนออนไลน์ ก็ไม่มีความเหลื่อมล้ำกับคนที่มาเรียนที่โรงเรียน

ปิยเทพ : ในการระบาดของโควิดรอบแรก ยังไม่มีคำสั่งปิดของจังหวัด หรือของประเทศไหม เราก็เปิดการเรียนการสอนปกติ โดยที่มีแผนเฝ้าระวังอยู่แล้ว คือว่า 1 ผลวัดอุณหภูมิตอนเช้า โดยที่เรามี Application ของโรงเรียน สามารถเช็คอุณหภูมิของนักเรียนได้ตลอด ถ้าหากคนไหนมีอุณหภูมิ 37 องศาเซเซียสขึ้นไป ต้องให้ผู้ปกครองมารับกลับ

ประการที่ 2 ในระหว่างวัน เราจะมีการตรวจเช็คอุณหภูมิอีก 2 ครั้งก็คือ 1 ก่อนไปรับประทานอาหาร หลังรับประทานอาหาร และก่อนกลับบ้าน ถ้าหากช่วงใดช่วงหนึ่งที่มีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ก็จะติดต่อผู้ปกครองให้มารับ แล้วก็ให้ผู้ปกครองไปตรวจด้วย ถ้าหากมีผลเป็นบวก เราก็จะทำ Bubble Zone ให้

มีอยู่ครั้งหนึ่งวิกฤตที่สุด มีเหตุการณ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดขึ้น แต่สุดท้ายหลังการตรวจพบว่ามีผลเป็นลบ แต่ระหว่างนั้นยังมีการเปิดเรียน เราคิดไว้แล้วว่า ถ้าหากว่ามีอะไรที่เป็นอันตรายเกิดขึ้น เราก็มีกองทุนของเราที่จะ Support ให้กับนักเรียนจำนวนประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของโรงเรียนเอง

ปิยเทพ : การสร้างความปลอดภัยเป็นการสร้างความเชื่อมั่น เป็นจุดยึดหลัก ในการบริหารโรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะโรงเรียนเด็กเล็ก ก็จะเห็นได้ว่าบุคลากรของเรา การดูแลคุณเอาใจใส่นักเรียนเป็นสิ่งสำคัญ การสร้างความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ โรงเรียนก็ได้ปรับตัวอยู่ตลอด ไม่ว่าการทำแผนเผชิญเหตุ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บอะไรต่าง ๆ หรือการให้ข้อมูลกับนักเรียน

นอกจากโควิดแล้วยังมีโรค RSV หรือว่าไข้เลือดออกเนี่ย เราก็จะจัดตามความรู้ให้กับคุณครู และคุณครูจะเป็นผู้จัดการความรู้ให้กับนักเรียน ให้เกิดความรู้ ให้เกิดความตระหนัก และสุดท้ายเกิดการป้องกันขึ้น

“กระบี่” เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : ช่วงโควิดระบาดในกระบี่เปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง
ปิยะเทพ : ผมเสียดายทรัพยากรของ จ.กระบี่ มากครับ ที่คนเรียนเก่งๆ ของ จ.กระบี่ แล้วไม่ได้กลับมาอยู่บ้าน ช่วงโควิด เป็นช่วงที่ จ.กระบี่ มีความสุขที่สุด

เพื่อนๆ พี่ๆ ตั้งแต่อายุ 25 ปี หรือว่าลงไป 20 เลย 20-30 ปี กลับมาอยู่กระบี่มากขึ้น แม้ว่าเราจะไม่มีรายได้ก็จริง แต่เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ น้อง ๆ เพื่อนๆ เหล่านั้น ทำให้เกิด Community ขึ้นในจ.กระบี่

เราลองไปดูนะครับตั้งแต่ปี 2564 และ 2565 ที่ผ่านมา เจ้าของธุรกิจที่เกิดขึ้นจะเป็นนักเรียนนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ และจะเป็นคนรุ่นใหม่ หรือทายาทเจ้าของธุรกิจที่ย้ายกลับมาอยู่ในกระบี่มากขึ้น นั่นคือสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด

ไทยพีบีเอสออนไลน์ : แล้วเราได้อะไรจากการกลับมาของคนรุ่นใหม่
ปิยเทพ : กระบี่เปรียบเสมือนบ้าน เราทุกคนที่เป็นคนกระบี่ มาอยู่กระบี่แล้วมีครอบครัว มีความผูกพัน ได้รับการศึกษา ทุกคนคือคนกระบี่หมด แต่การที่คนกระบี่จริง ๆ กลับมาอยู่จังหวัดกระบี่ แน่นอนความหวงแหนในทรัพยากร ความคิดริเริ่มในการพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อก่อนเขาบอกว่า กระบี่เป็นจังหวัดปราบเซียนมาก ถ้าทำธุรกิจรอดใน 3 เดือน ก็จะสามารถดำรงธุรกิจต่อไปได้ แต่วันนี้เกิดการ Gift and Take กัน ยกตัวอย่าง บ้านเออุดหนุนบ้านบี บ้านบีเป็นเพื่อนกับบ้านซีก็หมุนกันอยู่ตรงนี้

เออุดหนุนบี บีอุดหนุนซี เกิดคอมมูนิตี้ทำธุรกิจเดียวกัน อาจจะไม่มองว่าเป็น competitor จะมองเป็นคู่ค้ากัน เกิดความอบอุ่นในสังคม และเกิดความร่วมมือกัน เกิดความริเริ่มต่าง ๆ ว่า จ.กระบี่ ควรพัฒนาไปในแนวทางไหน

การทำความเข้าใจกับสังคม เข้าใจทรัพยากรบุคคล หรือทรัพยากรมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญถ้าเรามีเป้าหมายเดียวกันแล้ว เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน คิดว่าคนกระบี่มีความหวงแหน และมีความต้องการ ที่จะให้ จ.กระบี่ พัฒนาอย่างยั่งยืน และจะเป็นผลที่เกิดจากการที่คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเขาเข้ามาร่วมมือกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง