บทวิเคราะห์ : การเมือง ยุค 5 จี ไร้ความจีรัง

การเมือง
12 ธ.ค. 65
18:32
383
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : การเมือง ยุค 5 จี ไร้ความจีรัง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โลกการสื่อสารและเทคโนโลยีก้าวไปไกลและเร็วมาก จนคนบางเจน (gen) ตามไม่ทัน ปรับตัวไม่เข้ากับยุคสมัย บางส่วนจึงตกเทรนด์

การเมืองก็ไม่ต่างกัน ขณะที่บางคนยังเล่นการเมืองแบบเก่า วนอยู่กับยุค 2-3 จี แต่อีกส่วนหนึ่ง พยายามปรับตัวและก้าวล้ำไปไกลกว่าที่คิด จนบางครั้ง เสมือนการเอาตัวรอด ไม่สนใจวิธีการหรือเสียงวิพากษ์จากคนวงนอก

ยุคต่อรองสวมบทลิงกินกล้วยทำเอาคนส่ายหน้าเอือมระอาก็ดี กลุ่มคลื่นใต้น้ำหวังต่อรองเจรจาผลประโยชน์ข้อแลกเปลี่ยนก็ดี กำลังเป็นเรื่องเก่า ล้าหลัง การเมืองยุคใหม่ ช่องทางไหนที่ไปได้ หรือสะท้อนการยกระดับของตนเอง กำลังกลายเป็นความท้าทายใหม่

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท เงินเดือนคนจบปริญญาตรีเดือนละ 25,000 บาท จึงถูกจุดพลุชูเป็นจุดขายในยุคที่ประเทศเพิ่งจะผ่านพ้นความยากลำบากจากโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจโลก-วิกฤติน้ำมันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่เคยย้ำจุดยืนไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ หนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ สมัยเลือกตั้ง ปี 2562 กลับเปิดตัวกับพรรคพลังประชารัฐ ชูตัวเองเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

การรวมตัวของพรรคไทยสร้างไทย โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ กับพรรคสร้างอนาคตไทย ที่ชูนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นนายกรัฐมนตรี คว่ำไม่เป็นท่า เพราะเงื่อนไขพรรคแรกตั้งไว้เกินเลยกว่าที่พรรคหลังจะยอมรับและทำได้ โดยเฉพาะแคนดิเดตนายกฯในบัญชีของพรรค ที่เบอร์ 1 ต้องเป็นคุณหญิง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่เคยเปิดตัวเป็นรองหัวหน้าพรรค และหนึ่งในขุนพลภาคใต้ของพรรคสร้างอนาคตไทย ล่าสุดกลับเปิดตัวเป็นขุนพลภาคใต้ ให้กับพรรคพลังประชารัฐ ชนิดย้ายหักศอก

ยังไม่จบแค่นี้ ยังจะมีเปลี่ยนใจย้ายพรรคแบบพลิกความคาดหมายอีกหลายคน ด้วยเหตุผลเคมี-อุดมการณ์ตรงกันชนิดฟังแล้วชวนเคลิบเคลิ้ม

แม้นว่าความจริงแล้ว อาจเป็นเรื่องเหตุผลทางการเมืองของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม ที่อาจมีเป้าหมายสำคัญคือชนะเลือกตั้ง และประสานผลประโยชน์ลงตัว รองรับการเลือกตั้งใหม่ที่กูรูการเมืองฟันธงตรงกันว่า จะดุเดือดเข้มข้นกว่าครั้งใด ๆ

การเมืองยุค 5 จี อะไรๆ จึงเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

วิเคราะห์โดย : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง