โพลนักวิชาการชี้ คน Gen Z 53.2% เห็นควรยกเลิก “ห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันพระ”

สังคม
13 ธ.ค. 65
20:13
879
Logo Thai PBS
โพลนักวิชาการชี้ คน Gen Z 53.2% เห็นควรยกเลิก  “ห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันพระ”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการ ม.รังสิตชี้ Gen Z เห็นด้วยให้ยกเลิก “ห้ามขายเหล้าเบียร์วันพระ” เนื่องด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจความหลากหลายของศาสนา รวมถึงแจงที่มาของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยงานวิจัยส่วนบุคคลเกี่ยวกับทัศนคติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ด้วยข้อคำถามว่า “ท่านคิดว่า วันพระสำคัญของศาสนาพุทธ ควรยังต้องมี หรือ ควรยกเลิก ข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ของประชาชนทั้งประเทศ” ในกลุ่ม Gen Z ช่วงอายุ 18-25 ปี จำนวน 412 คน

ผลการวิจัยพบว่า

1. คน Gen Z เห็นว่าควรยกเลิกข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ร้อยละ 53.2 (219 คน) ควรยังต้องมีข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ร้อยละ 30.6 (126 คน) และไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 16.2 (67 คน)

2. ข้อมูลเชิงลึกที่คน Gen Z ที่เห็นว่าควรยกเลิกข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์เหตุผลคือ

ทำให้แม่ค้าร้านอาหารขาดรายได้, การขายเหล้าเบียร์ไม่ใช่เรื่องที่ผิด, การขายเหล้าเบียร์เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ, การขายเหล้าเบียร์เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน, การขายเหล้าเบียร์ไม่เกี่ยวพันกับศาสนา, การดื่มเหล้าเบียร์เป็นสิทธิส่วนบุคคลของเรา, จะดื่มวันไหนก็เหมือนกัน, คนซื้อไว้ก่อนแล้ว

ควรเน้นให้คนตระหนักถึงผลมากกว่ามาบังคับ, กฎหมายไม่ดีทำให้คนต้องทำผิดกฎหมาย, ถ้าอยากเน้นเรื่องศีลธรรมก็ชวนคนไปเข้าวัดดีกว่า, ถ้าจะรักษาศีล ก็ทำไป เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล, ประเทศไทยเป็นรัฐฆราวาส ไม่ใช่รัฐศาสนา,

สำหรับคำอธิบายที่ให้ซ้ำกันมากที่สุดคือ ประเทศไทยยังมีคนศาสนาอื่นๆ และมีคนที่ไม่ได้มีศาสนา

คน Gen Z ที่เห็นว่าควรยังต้องมีข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ให้เหตุผลว่า

ขัดกับหลักพุทธศาสนา, การดื่มเหล้าเบียร์ทำให้ผู้คนขาดสติกัน, หยุดกินเหล้าเบียร์ทุกวันพระอาจจะทำให้สุขภาพแข็งแรงไปได้นานๆ, หยุดกินเหล้าหนึ่งวัน อาจจะดูไม่มีประโยชน์อะไรมาก แต่มันดูถึงว่า เราให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาของเรา, ไม่เหมาะสมที่จะขายเหล้าเบียร์วันพระ, การเมาทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันได้, คงเป็นแนวคิดอยากให้คนไทยดื่มน้อยลง, เอาเวลาดื่มเหล้าเบียร์ไปออกกำลังกายดีกว่า

3. ประวัติศาสตร์ข้อห้ามเวลาขายเหล้าเบียร์ เริ่มต้นจากรัฐประหารปี 2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ข้าราชการกระทรวงต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดต่างอำเภอ กินอาหารกินเหล้าติดลมกันยาวไม่กลับไปทำงาน จึงมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 กำหนดเวลาซื้อขายเหล้าเบียร์ได้เวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. แต่เริ่มนำการบังคับเวลาซื้อขายนี้มาใช้อย่างจริงจังเมื่อสิบกว่าปีมานี้เมื่อมีร้านสะดวกซื้อแพร่ไปทั่วประเทศ และสอดรับกับการบังคับห้ามซื้อขายเหล้าเบียร์วันพระที่มีเพิ่มขึ้น

4. ประวัติศาสตร์การห้ามขายจ่ายแจกเหล้าเบียร์วันพระ เกิดจากการรัฐประหาร 2549 โดยรัฐบาลรัฐประหารได้ออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 13 ก.พ.2551 โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี (รัฐบาลเลือกตั้งชุดใหม่ได้มีการแต่งตั้งให้นายสมัคร สุนทรเวช เป็น นายกฯ เมื่อ 29 ม.ค.2551 และได้ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ววันที่ 6 ก.พ.2551 แต่ยังไม่ได้เข้าบริหารประเทศ)

ต่อมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2552 ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 3 ก.ค.2552 ระบุ “ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬบูชา และวันเข้าพรรษา” มีประกาศอีกฉบับในวันต่อมา วันที่ 4 ก.ค. เพิ่มคำว่า “ยกเว้นการขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม”

รัฐประหาร 2557 ทำให้มีการขยายวันห้ามการขายจ่ายแจกเหล้าเบียร์โดยเพิ่มวันออกพรรษาอีก 1 วัน และให้ยกเว้นการขายได้เฉพาะร้านปลอดอากรภายในสนามบินนานาชาติ (ประกาศ 18 ก.พ.2558 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

สรุป ประวัติศาสตร์การห้ามซื้อขายจ่ายแจกเหล้าเบียร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เกิดจากการรัฐประหารปี 2514, รัฐประหารปี 2549 และรัฐประหารปี 2557 แต่ยังคงขายเหล้าเบียร์ แอลกอฮอล์ ได้ในโรงแรมทั้งประเทศและร้านปลอดภาษีในสนามบินนานาชาติ

5. ควรมีการศึกษาทัศนคติประชาชนทั้งประเทศถึงข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ในวันพระว่าเห็นด้วยที่ยังต้องมีหรือควรต้องยกเลิก และศึกษาทัศนคติของผู้ค้าร้านอาหารประเภทต่างๆ และผลกระทบที่มีต่อการทำธุรกิจร้านอาหารในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของคน Gen Z ต่อ 5 ประเด็นคำถามเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 4-11 พ.ย.2565

โดยเก็บจากมหาวิทยาลัยใน กทม.
ภาคกลาง : ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี อยุธยา
ภาคเหนือ : พิษณุโลก เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ลำปาง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ เลย อุดรธานี
ภาคใต้ : นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎณ์ธานี ภูเก็ต ยะลา นราธิวาส ปัตตานี

รวม 24 จังหวัด 31 สถาบันอุดมศึกษา ทั้งหมด 412 คน

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 249 คน (60.4%) ชาย 122 คน (29.6%) เพศหลากหลาย 41 คน (10.0%)

โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจากเขตภูมิภาคใด : กรุงเทพฯ 91 คน (22.1%) ภาคกลาง 128 คน (31.1%) ภาคเหนือ 35 คน (8.5%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 คน (26.9%) ภาคใต้ 47 คน (11.4%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม อายุ 18 ปี 102 คน (24.8%) อายุ 19 ปี 129 คน (31.3%) อายุ 20 ปี 67 คน (16.3%) อายุ 21 ปี 50 คน (12.1%) อายุ 22 ปี 28 คน (6.8%) อายุ 23 ปี 15 คน (3.6%) อายุ 24 ปี 11 คน (2.7%) อายุ 25 ปี 10 คน (2.4%)


ที่มา : อาจารย์ธำรงศักดิ์โพล

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง