กรมแผนไทยฯ รับมอบตำรายาโบราณ 300 ปี "หมอพร-พระโอสถปราสาททอง"

สังคม
15 ธ.ค. 65
13:31
718
Logo Thai PBS
กรมแผนไทยฯ รับมอบตำรายาโบราณ 300 ปี "หมอพร-พระโอสถปราสาททอง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รับมอบตำรับตำรายาโบราณ 2 ตำรับ ได้แก่ ตำรายาหมอพร เล่ม 1 ว่าด้วย พระคัมภีร์อติสารวรรคโบราณะกรรมแลปัจจุบันนะกรรม และตำรายาโบราณ พระโอสถปราสาททอง จากมูลนิธิราชสกุลอาภากร ซึ่งสืบทอดมากว่า 300 ปี

วันนี้ (15 ธ.ค.2565) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หม่อมราชวงศ์ จิยากร อาภากร เสสะเวช ประธานกรรมการมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ดร.นันทศักดิ์ โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีบวงสรวงพระเจ้าปราสาททอง องค์เทพ เทพารักษ์ ที่ปราสาทนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ในพิธีการมอบ ตำรายาโบราณ พระโอสถปราสาททอง ซึ่งมีอายุกว่า 300 ปี และ ตำรายาหมอพร เล่ม 1 ว่าด้วย พระคัมภีร์อติสารวรรค โบราณะกรรมแลปัจจุบันนะกรรม โดยรับมอบ จากมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยหม่อมราชวงศ์จิยากร อาภากร เสสะเวช ประธานกรรมการมูลนิธิฯ

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวภายหลังบวงสรวงว่า วันนี้ทางมูลนิธิฯราชสกุลอาภากรฯ ได้ส่งมอบตำราตำรับยาแผนไทยไว้ให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกถึง 2 ตำรา ซึ่งทางกรมมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากตำรับตำรายาไทย โดยต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์คุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทางการสาธารณสุข และตระหนักในคุณค่าของตำรับตำราไทย

ที่ผ่านมานั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้รับมอบตำรับ ตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยจากหน่วยงานและประชาชนที่มอบให้เป็นภูมิปัญญาชาติ จำนวน 503 แผ่นศิลา 33 แผ่นใบลาน 612 ตำรา 48,159 ตำรับ หลังจากนั้นได้ดำเนินการเชิงประจักษ์ ในการพัฒนาสิ่งที่ได้รับมอบมาโดย จัดทำเป็นตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ 324 ตำรับ ครอบคลุมการรักษาโรค 15 กลุ่มโรค/อาการ ใช้ในโรงพยาบาล/คลินิก โดยแพทย์แผนไทย

ส่วนในครั้งนี้ ทางมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ มีการมอบตำราในความดูแลครอบครองของหมอพร 2 เล่ม คือ ตำราอติสารวรรค และ ตำราพระโอสถปราสาททอง ให้กรมฯ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจ หน้าที่โดยตรงในการดูแล พัฒนา ปรับปรุง และพิจารณา กลั่นกรองเสนอประกาศเป็นตำราของชาติ ตามเกณฑ์และลำดับขั้นตอน เมื่อรับมอบแล้ว ปี 2566 กรมฯ จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ราชบัณฑิต นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ ทางด้านภาษา เอกสาร และหนังสือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย นักกฎหมาย และมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อปริวรรต ถ่ายถอด ปรับปรุง พัฒนา และแปล ตำรา โอสถปราสาททอง ให้แล้วเสร็จ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ด้าน หม่อมราชวงศ์ จิยากร อาภากร เสสะเวช ประธานกรรมการมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯมีความประสงค์มอบตำรายาโบราณของหมอพรทรงรวบรวมไว้ จำนวน 2 รายการตำรา ได้แก่ ตำรายาหมอพร เล่ม 1 ว่าด้วย พระคัมภีร์อติสารวรรคโบราณะกรรมแลปัจจุบันนะกรรม 92 ตำรับ และตำรายาโบราณ พระโอสถปราสาททอง จำนวน 67 ตำรับ เป็นเอกสารโบราณประเภทสมุดไทยดำ ที่สืบทอดมากว่า 300 ปี สมัยสมเด็จพระนารายณ์และเป็นหนึ่งในจำนวนตำรา 15 เล่ม ประเภททสมุดไทย ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงรวบรวมและเรียบเรียงขึ้น เป็นตำรับยาแผนไท ใช้รักษาโรค ส่งมอบเพื่อให้กรมฯ บริหารจัดการปริวรรต ถ่ายถอด ปรับปรุง พัฒนา อันจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจประเทศชาติ

และในปี 2566 นี้ จะได้จัดพิมพ์ “ตำราพระโอสถปราสาททอง” เผยแพร่และมอบเป็นของที่ระลึก เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี แห่งวันสิ้นพระชนม์ ของพลเรือเอกพระเจ้า บรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งตรงกับวันที่ 19 พ.ค.2566 อีกด้วย

ส่วน ดร.นันทศักดิ์ โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทยกล่าวว่า บทบาทกองคุ้มครองฯ มีหน้าที่สำคัญมากเพราะเป็นหน่วยงานหนึ่งเดียวในการบริหารจัดการ รวบรวม ปริวรรต ถ่ายถอด สังคายนา ใช้ตำรับยาแผนไทยในอดีตมาใช้ในทางการแพทย์ การสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพ ต่อยอดทางเศรษฐกิจของสังคมและประชาชน และมีแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมในราชสกุล, ตระกูล, สมาคม, ชมรม, สถาบัน ที่มีตำรับตำราในครอบครองสามารถนำมามอบเป็นสมบัติของแผ่นดินได้ เมื่อทางกรมการแพทย์แผนไทย ในฐานะหน่วยงานรัฐจะได้นำไปพัฒนาเป็นฐานข้อมูลอ้างอิง ต่อยอดการวิจัยพัฒนายาใหม่ที่มีคุณค่าเกิดประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง