บทวิเคราะห์ : ญี่ปุ่นยกระดับ "กองกำลังป้องกันตนเอง" สกัดอำนาจรัสเซีย-จีน

ต่างประเทศ
15 ธ.ค. 65
12:37
1,833
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ญี่ปุ่นยกระดับ "กองกำลังป้องกันตนเอง" สกัดอำนาจรัสเซีย-จีน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ญี่ปุ่นกำลังยกระดับขีดความสามารถทางการทหารของตัวเองเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากจีน ความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในครั้งนี้เป็นข่าวที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะถูกมองว่าเป็นการเสริมศักยภาพทางการทหารครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

มีการคาดการณ์ว่า คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ ฟูมิโอะ คิชิดะ น่าจะรับรองแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นี้อย่างเร็วที่สุดในวันพรุ่งนี้ (16 ธ.ค.2565) หลังจากมีการหารือกันมานานแล้วหลายเดือน และข่าวคืบหน้าในเรื่องนี้ก็ทยอยออกมาให้เห็นตามสื่อต่างๆ อยู่เป็นระยะ

ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยแพร่ภาพกองทัพรัสเซียส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด Tu-95 ที่สามารถทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ได้ บินลาดตระเวนเหนือน่านน้ำสากลบริเวณทะเลญี่ปุ่น การลาดตระเวนในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ญี่ปุ่นต้องส่งเครื่องบินรบขึ้นไปสกัดเครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซียและจีน ซึ่งร่วมทำภารกิจลาดตระเวนเหนือทะเลญี่ปุ่น ดังนั้นสถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น จึงเล็งเห็นถึงความเร่งด่วนของการยกระดับขีดความสามารถทางการทหาร

ญี่ปุ่นไม่ได้ตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจเท่านั้น แต่ยังเป็นคู่กรณีหลักในประเด็นพิพาทกับรัสเซียเรื่องหมู่เกาะคูริล และทะเลาะกับจีนเรื่องหมู่เกาะเซ็งกากุ หรือ เตียวหยู ในภาษาจีนอีกด้วย

ในขณะที่รัสเซียและจีนเป็นมหาอำนาจทางการทหารอันดับ 2 และ 3 ของโลก

แต่ญี่ปุ่นกลับไม่สามารถทำให้ตัวเองเป็นมหาอำนาจด้านนี้ได้ เพราะจะถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องใฝ่สันติและไม่สามารถมีกองทัพเป็นของตัวเองได้

แต่ยุทธศาสตร์กลาโหมฉบับใหม่นี้จะพลิกบทบาทกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ให้มีขีดความสามารถในการ "โจมตีกลับ" ซึ่งขีดความสามารถนี้จะเปิดทางให้ญี่ปุ่นสามารถยิงโจมตีฐานปล่อยขีปนาวุธที่อาจเป็นภัยคุกคามประเทศได้ หรือแม้กระทั่งการชิงโจมตีก่อน เมื่อคิดว่าตัวเองกำลังมีภัย

ประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงสำคัญมาตั้งแต่เริ่มมีการร่างยุทธศาสตร์แล้ว แต่ผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนชี้ว่า ชาวญี่ปุ่นมากกว่าร้อยละ 60 สนับสนุนแนวคิดนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเผชิญกับภัยคุกคามรอบด้าน ที่ยังไม่นับสงครามในยูเครน ที่ทำให้ทั่วโลกหันมาสั่งสมอาวุธกันมากขึ้น

ขณะที่ตลอดทั้งปีนี้ คาบสมุทรเกาหลีเต็มไปด้วยความตึงเครียด หลังจากเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธหลายระลอก รวมแล้วใกล้แตะ 100 ลูก ในจำนวนนี้หลายลูกลอยข้ามเกาะญี่ปุ่น จนทำให้ต้องมีการเปิดสัญญาณเตือนภัย

สถานการณ์เหล่านี้ยิ่งโหมกระพือความกังวลของญี่ปุ่นในประเด็นขีปนาวุธ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ โดยเฉพาะจีนและเกาหลีเหนือ ญี่ปุ่นถือว่าตามหลังอยู่มาก ทั้งในด้านจำนวนและศักยภาพของอาวุธที่มีอยู่ เนื่องจากปัจจุบันญี่ปุ่นครอบครองเพียงแค่ขีปนาวุธพิสัยใกล้ ที่มีระยะยิง 200-300 กิโลเมตร เท่านั้น

แต่ยุทธศาสตร์ฉบับใหม่จะทำให้ญี่ปุ่นสามารถเพิ่มศักยภาพในด้านนี้ได้ โดยรัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลมากกว่า 1,000 ลูก ซึ่งจะสามารถยิงไปได้ไกลถึงเกาหลีเหนือและพื้นที่ชายฝั่งของจีน รวมทั้งยังเตรียมพิจารณาจัดซื้อขีปนาวุธโทมาฮอว์ก ที่มีพิสัยยิงมากกว่า 1,200 กิโลเมตร จากสหรัฐฯ มากถึง 500 ลูกด้วย

เมื่อมีขีปนาวุธเพิ่มก็ต้องเพิ่มพื้นที่จัดเก็บ โดยญี่ปุ่นเตรียมสร้างคลังอาวุธ 130 แห่ง ภายในปี ค.ศ. 2035 หลังจากกังวลว่าประเทศอาจมีอาวุธในคลังแสงไม่เพียงพอต่อการทำสงครามในระยะยาว ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นระบุว่า มีขีปนาวุธเพียงแค่ร้อยละ 60 ของที่จำเป็นต้องใช้เพื่อสกัดขีปนาวุธของศัตรู

ขณะที่การเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม จากเดิมที่อยู่ราวๆร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 2 ของ GDP ตามเกณฑ์เดียวกับ NATO กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในเรื่องที่มาของเงินก้อนนี้ ว่าจะเก็บจากภาษี หรือตัดลดงบประมาณตัวอื่นๆ ของรัฐบาลลง

นอกจากทั้งหมดที่กล่าวมา ญี่ปุ่นยังเตรียมปรับรูปแบบการบัญชาการ โดยจะจัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วมแห่งแรก เพื่อให้ทั้ง 3 เหล่าทัพประสานงานกันได้ดีมากยิ่งขึ้น เพิ่มกำลังทหารและระบบสกัดขีปนาวุธ ไปจนถึงการตั้งกองกำลังโดรน ซึ่งกำลังกลายเป็นอาวุธสำคัญในเกมรบหลายสมรภูมิทั่วโลก

ขณะที่การยกระดับความร่วมมือทางการทหารกับชาติพันธมิตร เป็นอีกหนึ่งแผนยุทธศาสตร์สำคัญของญี่ปุ่น โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้น มีทั้งการจับมือพัฒนาอาวุธล้ำสมัยและซ้อมรบร่วมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ

การยกเครื่องยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ในรอบนี้ ชัดเจนว่าเป็นผลสะท้อนมาจากการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนและความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า โลกของเรากำลังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมากขึ้นเรื่อยๆ

วิเคราะห์โดย : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง